
'ช่อง 7สี' นำละคร'สายโลหิต'คืนจออีกครั้ง (จอแก้ว เรื่องย่อ)
ช่อง 7 สี นำละครในดวงใจ 'สายโลหิต' กลับมาให้ชมอีกครั้ง!
ออกอากาศทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 20.20 น.
เริ่มออกอากาศตอนแรกในจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน
ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2538
สร้างโดย สุรางค์ เปรมปรีดิ์
บริษัท ดาราวิดีโอ
กำกับการแสดงโดย สยาม สังวริบุตร
บทโทรทัศน์โดย ศัลยา
นำแสดงโดย
ศรราม เทพพิทักษ์ รับบท ขุนไกร
สุวนันท์ คงยิ่ง รับบท ดาวเรือง
ศตวรรษ ดุลยวิจิตร รับบท หมื่นทิพเทศา / หมื่นทิพย์
นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชาติไทย
ปลายกรุงศรีอยุธยา ก่อนเสียกรุงแก่พม่าข้าศึกเรื่องนี้
เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์ไม่เตรียมพร้อมและประมาทของพลเมือง
ความขัดแย้งสืบเนื่องจากความไม่สามัคคี การทำลาย ฆ่าฟันกันเอง
อันเป็นผลให้คนดีมีฝีมือลดน้อยลงเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจเป็น
อุทาหรณ์สอนใจ ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง
แม้ว่าจะต่างวาระกันก็ตาม
-- เรื่องย่อ--
พ.ศ.๒๓๐๑ ดาวเรืองวัยสิบขวบ บุตรีพระสุวรรณราชาเป็นช่างทองหลวง คุณย่านิ่มเป็นผู้เลี้ยงดู ด้วยกำพร้ามารดาแต่ยังเด็ก ลำดวนผู้เป็นพี่สาวได้ออกเรือนกับหลวงเทพฤทธ์อริศัตรูพ่าย บุตรชายของพระยาพิริยะกับคุณหญิงศรีนวล ขุนไกร นายทหารกองทะลวงฟัน วัยยี่สิบปี เป็นน้องชายของหลวงเทพ ขุนไกรนั้นจะเอ็นดูดาวเรืองยิ่งนักด้วยเป็นเด็กช่างเจรจา ซักถาม ทั้งขุนไกรและหลวงเทพ นั้นเป็นข้าราชการเก่าในขุนหลวงหาวัด
พม่ายกทัพเข้ามาทางทวาย มะริด ตะนาวศรี ขุนไกร หลวงเทพ หลวงเสนาสุรภาค พี่ชายของดาวเรือง ล้วนออกไปทัพ ดาวเรืองชวนพี่เยื้อนพี่เลี้ยงไปดูขุนไกรตอนเคลื่อนทัพ ดาวเรืองให้พระคล้องคอของเธอกับขุนไกร
หมื่นทิพ ได้กลับมาแจ้งข่าวว่าทัพไทยพ่าย ขุนไกร หลวงเทพ หลวงเสนา ล้วนเสียชีวิต แต่แท้จริงแล้วเมื่อขุนไกรมาปรากฏตัวที่เรือนคุณย่า ที่แท้ที่ทัพไทยพ่ายครั้งนี้เพราะผู้เป็นแม่ทัพ และคนอย่างหมื่นทิพ ต่างขลาด รักตัวกลัวตาย ทิ้งทัพหนีกลับมา แล้วยังมากุข่าวสร้างความดีความชอบให้ตัวเอง หลวงเสนา และ พระยาพิริยะ ได้เสียชีวิตจากการต่อสู้กับข้าศึก ซึ่งเป็นไปตามที่คุณย่าได้ใช้ความรู้ด้านตำรามหาทักษาของท่านตรวจชะตาก่อนไปทัพ หมื่นทิพนั้นได้มาติดพันแม่เยื้อน น้องสาวขุนไกร แต่ขุนไกรพยายามขวางไว้ ด้วยหมื่นทิพนั้นยังเป็นชายเจ้าชู้ ฝักใฝ่แต่ในเรื่องสตรี
ต่อมาขุนไกรไปทัพสู้ศึกพม่าที่ลำน้ำจักราช และหมื่นทิพก็ไปทัพนี้เช่นกัน ที่บ้านคุณย่ามีบ่าวพบทหารมานอนบาดเจ็บอยู่ พันสิงห์เป็นทหารคนสนิทของขุนไกร กลับมาพร้อมดาบคู่กายของขุนไกร ซึ่งเป็นดาบบรรพบุรุษ และมีคู่กันกับหลวงเทพ ต่างมีสัจจะว่า เป็นตายจะรักษาดาบเท่าชีวิต
หลวงเทพออกตามหาจนพบขุนไกรบาดเจ็บสาหัส แต่แล้วข้าศึกบุกตีทางท้ายคูเมือง ครอบครัวพันสิงห์เสียชีวิตหมด ขุนไกรทั้งทีเจ็บไม่หายดี ทนไม่ไหว ขอออกอาสาสู้ศึกรักษาเชิงเทินกับพันสิงห์แต่แล้วทัพพม่ายกกลับ ด้วยมีข่าวพระเจ้าอลองพญาถูกสะเก็ดปืนใหญ่แตกเสียชีวิต
ส่วนขุนไกรเมื่อเกินจะทัดทานทั้งมารดาและแม่หญิงเยื้อนเรื่องหมื่นทิพ จึงขอออกไปอยู่พิษณุโลก พันสิงห์และเยื้อนตามไปอยู่ด้วย แม่หญิงเยื้อนหลังออกเรือนแล้วก็ได้แต่ตรอมใจ กับพฤติกรรมของหมื่นทิพ จนเสียชีวิตในที่สุด และคุณหญิงศรีนวลมื่อทราบข่าวก็ตกบันไดเสียชีวิตตามขุนไกรกลับมางานศพ ดาวเรืองรู้สึกดีใจที่จะได้เจอพี่ไกรอีก ยามพบกับครั้งนี้เด็กหญิงเล็กๆได้เป็นสาวน้อยแล้ว และความรู้สึกในใจของนายทหารหนุ่มที่มีต่อดาวเรืองก็แปรเปลี่ยน เช่นเดียวกับดาวเรือง
ขุนไกรได้เลื่อนเป็นหลวงไกรสรเดช ต่อมาพระเจ้ามังระประกาศสงครามกับกรุงศรีอยุธยา ขุนไกรกลับไปช่วยทัพด้านสุโขทัย เมื่อขุนไกรลงมาราชการด่วน ทราบเรื่องที่มีคนใจหยาบล่มเรือของดาวเรือง และยิ่งรู้ว่าเป็นฝีมือหมื่นทิพ จึงตัดสินใจสู่ขอดาวเรืองด้วยตัวเองกับพระสุวรรณราชา พิธีแต่งงานถูกจัดขึ้นตามมี่คุณย่าจับฤกษ์ยามให้
ขุนทิพซึ่งหมายมาดดาวเรืองไว้ แค้นยิ่งนัก หาทางแกล้งขุนไกร และก็มีหมายเรียกตัวให้ออกทัพในวันมงคลนั่นเอง
ข่าวทัพกรุงศรีฯพ่าย ถูกตีเข้าใกล้พระคร คุณย่าเสียชีวิต ขุนไกรกลับมาช่วยเฝ้าป้อมเชิงเทิน พ่อดาวเรืองถูกปืนข้าศึกเสียชีวิตที่กำแพงเมือง ไอ้มิ่ง คนรับใช้ขุนทิพ ลอบบอกหลวงไกรเรื่องขุนทิพและใครบางคนส่งเสบียงออกให้พม่า หลวงไกรพาไอ้มิ่งไปพบขุนทิพ และนายบ่าวแทงกันตายตกตามกัน
และก็ถึงวันสิ้นกรุงศรีอยุธยา หลวงเทพพาครอบครัวไปคุ้มกันสมเด็จพระมหาอุทุมพร ขุนไกรคิดจะพาลำดวน พันสิงห์ เยื้อน ไปสมทบกับพระยากำแพงเพชรที่ตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรี
แต่แล้วทางพวกขุนไกรที่ปลอมเป็นชาวบ้านถูกจับได้ กักเป็นเชลยอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ชาวบ้านที่ค่ายเล่าว่า ขุนหลวงหาวัดและข้าราชบริพารถูกต้อนไปกรุงอังวะ...
ในใจของขุนไกรยามนี้ให้หมองนัก พี่น้องคงจะไม่ได้พบกันเสียแล้ว พระนครถูกเผาทำลาย ...แต่ไทยต้องเป็นไท จะให้ทนเป็นเชลยไปตลอดหาได้ไม่ ขุนไกรคิดหาทางหนีจากค่าย ...ความตั้งใจที่จะกอบกู้บ้านเมืองนั้นแน่วแน่นัก แต่หนทางนั้นเล่าจะเป็นเช่นใด...