บันเทิง

มาทำความรู้จักวง 'ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่'

มาทำความรู้จักวง 'ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่'

03 พ.ย. 2559

งานพระราชพิธีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมศิลปากรได้รับมอบหมายนำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เข้าประโคมย่ำยาม

         การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ต้องทำเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี ควบคู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง ที่จะมี “วงสังข์แตร” มีเครื่องดนตรี แตรงอน สังข์ และแตรฝรั่ง จะเป็นสำหรับพระราชพิธีที่เป็นมงคล แต่ถ้าในพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพต่างๆ จะมีวง เรียกว่า “ปี่ไฉนกลองชนะ” ประกอบด้วย ปี่ไฉน เปิงมาง กลองชนะแดงลายทอง เข้ามาอีก 1 วง จะบรรเลงช่วงย่ำยาม

มาทำความรู้จักวง \'ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่\'

         ทั้งนี้ ในงาน พระราชพิธีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวัง จนครบ 100 วัน ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ในแต่ละวัน นอกจากมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม 8 ครั้งแล้ว ยังกำหนดให้มีการประโคมย่ำยามเวลา 06.00 น. พระพิธีธรรมรับพระราชทานฉันเช้า เวลา 07.00 น. วงปี่พาทย์พิธีบรรเลง “เพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเช้า”

มาทำความรู้จักวง \'ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่\'

         วงปี่พาทย์พิธีเครื่องใหญ่ จะประกอบด้วย เครื่องดนตรี ปี่ใน ระนาดเอก ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฉิ่ง ตะโพน และกลองทัด จากนั้นพระสงฆ์ถวายพรพระถวายอดิเรกเสร็จแล้ว วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงพระเจ้าลอยถาด และประโคมย่ำยามเวลา 09.00 น. 12.00 น. 15.00 น. 18.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว (ระหว่างลาดพระภูษาโยง) วงปี่พาทย์นางหงส์บรรเลงเพลงเร็วนางหงส์ เวลา 19.00 น. จากนั้น 21.00 น. ประโคมย่ำยาม

มาทำความรู้จักวง \'ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่\'

อาจารย์เอนก อาจมังกร

         อาจารย์เอนก อาจมังกร ดุริยางคศิลปินทักษะพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดุริยางค์ไทย รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กล่าวถึงการบรรเลงวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ในพระราชพิธี ว่า วงปี่พาทย์นางหงส์ ที่เล่นย่ำยาม จริงๆ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เคยพบว่ามีการบรรเลงปี่พาทย์อยู่แล้วในงานพระราชพิธี พระบรมศพต่างๆ เคยมีอยู่ มีเรื่อยมาจนต้นรัตนโกสินทร์ก็มีอยู่การประโคมย่ำยาม

         "ไม่แน่ใจว่าปี่พาทย์ยังมีอยู่หรือเปล่า แต่ว่า แตร สังข์ ก็ยังมีอยู่ ทีนี้มาตอนประมาณช่วงรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการนำปี่พาทย์เข้ามาอีกครั้งหนึ่ง มาบรรเลงในพระราชพิธีพระบรมศพ ที่ชัดเจนก็คือ ในช่วงรัชกาลที่ 8 มีทั้ง แตร สังข์ ปี่พายท์บรรเลง แล้วก็ทิ้งช่วงมา จนตอน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ตอนนั้นไม่มีปี่พาทย์บรรเลงประโคมย่ำยาม พอมาสมัยพระราชพิธีพระศพสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) นั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นเอาปี่พาทย์เข้ามาบรรเลงในการประโคมย่ำยามอีกทีหนึ่ง และทำต่อเนื่องมาเลย ตั้งแต่สมัยสมเด็จย่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) มาถึงเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ (สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี) ตอนนั้นใช้วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ ครั้งนี้เป็นพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดิน เลยเพิ่มจากวงเครื่องคู่ เป็น วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ จะประกอบไปด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลองทัด และฉิ่ง ประมาณนี้ วงปี่พาทย์นางหงส์มาจากวงปี่พาทย์ไทยธรรมดาผสมกับวงบัวลอย แต่เอาปี่ในในวงปี่พาทย์ออกไป และนำปี่ชวาในวงบัวลอยมาต่อแทน แล้วเอาตะโพนออกไป ใช้กองทัดตี วงบัวลอยเขาจะมี กองมลายู มีปี่ เอาเหม่งออก เอาปี่มาเป่าแทน แล้วใช้กองทัดตี ตะโพนไม่ต้องใช้ ก็เลยเป็นวงปี่พาทย์นางหงส์" อาจารย์เอนกกล่าว

มาทำความรู้จักวง \'ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่\'

         อาจารย์เอนกยังอธิบายคำว่า “นางหงส์” ว่า มาจากชื่อหน้าทับของกลองที่บรรเลงประกอบเพลงเรื่องนางหงส์ ก็คือหน้าทับชื่อนางหงส์ เพราะฉะนั้นวงปี่พาทย์วงนี้เลยเรียกว่า วงปี่พาทย์นางหงส์ ไปด้วย และเพลงที่บรรเลงประโคมเรียกว่า “เพลงเรื่องนางหงส์” เพลงเรื่องก็หมายถึง เพลงที่นำเพลงเล็กๆ หลายๆ เพลงมาบรรเลงติดต่อกัน

         สำหรับเพลงเรื่องนางหงส์ จะประกอบไปด้วย 5 เพลง “เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน” “เพลงสาวสอดแหวน” “เพลงกระบอกทอง” “เพลงคู่แมลงวันทอง” และ “เพลงแมลงวันทอง”

         “ถ้าในช่วงพิธีที่เรียกว่าประโคมย่ำยาม เขาใช้เพลงเรื่องนางหงส์อย่างเดียว แต่ทีนี้จะบรรเลงเพลงในพิธีอื่นอีก ก็คือพิธีช่วงเช้า ที่มีพระฉันเช้า เวลา 07.00 น. ประโคมย่ำยาม 3 ชั่วโมง ครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ครั้งแรกคือ 06.00 น. 09.00 น. 12.00 น. 15.00 น. 18.00 น. และ 21.00 น. จริงๆ ต้องมี 24.00 น. และ 03.00 น. อีก แต่ท่านโปรดให้งด 2 ยามนี้ออกไป ให้เหลือถึงแค่ 3 ทุ่ม ก็จบ ณ ตอนนี้ ในพระบรมศพก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้บรรเลงทุกยามเหมือนกัน มีให้งดอยู่เป็นบางยาม” อาจารย์เอนกกล่าว

มาทำความรู้จักวง \'ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่\'

         ย้อนกลับไปว่า ทำไม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเลือกวงปี่พาทย์นางหงส์กลับมาประโคมย่ำยามในพระราชพิธีอีกครั้ง อาจารย์เอนกกล่าวว่า เพราะว่าพระองค์ทรงเรียนดนตรีไทย ท่านสนพระราชหฤทัยดนตรีไทย ท่านทรงดนตรี ท่านทรงรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมของชาวไทยว่า ในงานศพจะมีเพลงที่เกี่ยวกับงาน ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่มี หลังๆ มาโปรดให้เอาพิธีของชาวบ้านมาบรรเลงในพระราชพิธีด้วย

         “ปัจจุบันนอกจากเพลงเรื่องนางหงส์ ก็ยังมีเพลงอย่างอื่นด้วย ฉันเช้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้นำ "เพลงฉิ่งพระฉันเช้า“ มาบรรเลง พอพระถวายพระพร ถวายอดิเรกเสร็จแล้ว ยังโปรดให้บรรเลง "เพลงพระเจ้าลอยถาด" เพลงพระเจ้าลอยถาดก็คล้ายๆ ว่าทำบุญเสร็จแล้วก็ให้ทานลอยไป และมีโปรดให้ช่วงการทำบุญ 7 วัน 15 วัน 50 วัน 100 วันต่างๆ จะมีเพิ่ม "เพลงฉิ่งพระฉันเพล" เข้ามาอีก ซึ่งจริงๆเมื่อก่อนงานพระราชพิธีจะไม่มีเพลงพวกนี้ จะมีแต่ประโคมย่ำยามอย่างเดียว คือท่านรู้เพลงไทย ท่านเลยโปรดว่าตรงนั้นเพิ่มได้ไหม ตรงนี้ได้ไหม ทีนี้เมื่อเป็นอย่างนี้ สำนักจดหมายเหตุก็จะบันทึกไว้ด้วยว่า เดี๋ยวนี้ปี่พาทย์เราทำอะไรบ้างในงานพระราชพิธี ปี่พาทย์จะมีบทบาทมากขึ้นก็ดี ทำให้นักดนตรีเราเห็นความสำคัญขึ้นมากกว่าแต่เก่า” อาจารย์เอนกกล่าว

มาทำความรู้จักวง \'ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่\'

         ถามถึงความรู้สึกที่วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่มีโอกาสถวายงานพระราชพิธีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รู้สึกอย่างไรบ้าง อาจารย์เอนกกล่าวว่า ทุกคนภูมิใจ ทุกคนเต็มใจทั้งหมด แม้แต่คนที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ทั้งนี้ได้ให้โอกาสหัวหน้าดุริยางค์ไทยถามไปว่าใครอยากจะเข้ามาถวายงานบ้าง เป็นกรณีพิเศษ ทุกคนก็ตอบรับเข้ามา ที่เกษียณไปแล้วก็มา

         “ใครๆ ก็อยากจะมีโอกาสที่จะบรรเลงตรงนี้ ทุกคนเต็มใจ เชื่อว่าทุกคนเต็มใจหมด ดูอย่างประชาชนที่มา ใครๆ ก็อยากมา ข้าราชการก็อยากจะถวายงาน เพราะว่าเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ทุกคนก็เต็มใจ และดีใจที่ได้มีโอกาส ส่วนจะต้องถวายงานบรรเลงทั้งหมดกี่วัน เท่าที่เรารับทราบคำสั่งก็คือ 100 วัน แล้วหลังจากนั้นจะมีคำสั่งอะไรเพิ่มเติมค่อยว่ากันอีกที” อาจารย์เอนกกล่าว

         อาจารย์เอนกกล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนพระราชหฤทัยด้านดนตรี อะไรที่เกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทยทรงให้การสนับสนุน ในเรื่องการอนุรักษ์ดนตรีไทยของกรมศิลปากรเป็นงานหลักอยู่แล้ว

         “เรื่องการอนุรักษ์ และเรื่องเพลง เรื่องอะไรต่างๆ การเผยแพร่ พัฒนาอะไรต่างๆ เป็นงานที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว รูปแบบที่ถูกต้อง ที่เป็นมาตรฐานเราต้องทำ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่คนข้างนอก อะไรที่เป็นมาตรฐานที่ครูโบราณท่านวางมาตรฐานไว้เป็นอย่างไร เราต้องทำตามนั้น เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีตรงนี้ไว้ ส่วนเรื่องนักดนตรีเราก็ให้การพัฒนา เพื่อที่จะมาทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมทางด้านดนตรีต่อไป ในความรู้สึก ก็จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่เยอะมากที่สนใจดนตรีไทย แต่ก็ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ ถึงมีน้อย แต่ว่าเล่นกันจริงๆ จังๆ ยังไงก็อยู่ได้ โดยเฉพาะ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ที่จะเป็นต้นแบบ หมายถึงว่า ท่านทรงมาเล่นเอง ช่วยทำให้คนที่ไม่ได้สนใจดนตรี พอเห็นพระองค์ท่านทรงเล่น ก็เล่นบ้างดีกว่า ทำให้ดนตรีไทยมีชีวิตชีวาขึ้นกว่าแต่เก่า เชื่อว่าถึงจะมีกลุ่มน้อยๆ ที่สนใจอยู่ แต่เชื่อว่าดนตรีไทยจะอยู่คู่ประเทศไทยได้อีกนาน ทั้งดนตรีไทย ทั้งนาฏศิลป์ไทย เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ที่มีการสืบทอดมายาวนาน เป็นศิลปวัฒนธรรม แสดงถึงความเป็นอารยธรรมของชาติเราที่มีมายาวนาน หวังว่าคนไทยจะร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเราไปให้อีกนานเท่านาน” อาจารย์เอนก กล่าว

เครดิตภาพ : สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม