บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ราชา-ราชินีลูกทุ่ง

คมเคียวคมปากกา - ราชา-ราชินีลูกทุ่ง

19 ส.ค. 2552

ปีนี้ครบรอบ 41 ปีแห่งการจากไปของ สุรพล สมบัติเจริญ มีกิจกรรมรำลึกถึงราชาเพลงลูกทุ่งอยู่หลายสถานที่ และรายการทีวีหลายช่องก็จัดรายการพิเศษ

 มีอยู่รายการหนึ่งได้เชิญศิษย์สุรพล และ "ผู้รู้" แวดวงเพลงลูกทุ่งมาล้อมวงคุยเรื่องชีวิตและผลงาน
 ในช่วงต้นของรายการ พิธีกรได้ยิงคำถามที่ผมคุ้นหูมาก เป็นคำถามทำนองว่า ทำไมไม่มีนักร้องลูกทุ่งรุ่นหลังยิ่งใหญ่เป็นราชาเพลงลูกทุ่งเหมือนสุรพล?

 หลายปีก่อน ผมเคยเขียนในคอลัมน์นี้ว่า การนำเอานักร้องรุ่นหลังไปเปรียบเทียบกับนักร้องที่เสียชีวิตในช่วงที่กำลังโด่งดังสุดขีด มันไม่เป็นธรรมกับนักร้องลูกทุ่งผู้ยังมีชีวิตอยู่มากนัก

 ผมไม่ปฏิเสธความเป็น "อัจฉริยะ" ด้านการร้องเพลงและแต่งเพลงของสุรพล แต่ไม่ชอบวิธีการอธิบายความของ "ผู้รู้" บางท่าน ที่พยายามบอกว่า "ราชาเพลงลูกทุ่ง" หรือ "ราชินีเพลงลูกทุ่ง" มีเพียงคนเดียว

 คนอื่นไม่มีทางเป็นราชา-ราชินีได้ หากไม่เสียชีวิตในวัยหนุ่มสาว ขณะที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดขีด!
 ผมว่าในแต่ละยุคสมัย บริบทของสังคมก็ต่างกัน ช่วงที่ สุรพล สมบัติเจริญ กำลังเป็นขวัญใจแฟนเพลงทั่วไทย ตลาดเพลงลูกทุ่งน่าจะเป็นยุคตั้งไข่ ร้านขายแผ่นเสียงมีอยู่แค่หลักร้อย สถานีวิทยุมีอยู่ไม่กี่สิบสถานี และไม่ต้องพูดถึงสถานีโทรทัศน์ ที่มีอยู่ 2 ช่อง (ขาว-ดำ)

 หากสุรพล ไม่เสียชีวิตในปีนั้น ก็คงได้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" เหมือนครูพยงค์ มุกดา และดำรงชีวิตแบบเดียวนักร้องรุ่นเก่าหลายคน ที่ได้รับเชิญไปร้องเพลงตามงานต่างๆ

 อย่างกรณีของ ผ่องศรี วรนุช ในระหว่างปี 2500-2520 ใครเล่าจะปฏิเสธความเป็นราชินีลูกทุ่งของเธอ?

 เหตุใดจึงต้องมีราชินีลูกทุ่ง แค่หนึ่งเดียวคือ พุ่มพวง ดวงจันทร์!
 บนถนนสายเพลงลูกทุ่ง แต่ละยุคย่อมมี "นักร้องขวัญใจมหาชน" ต่างกันออกไป ตามสภาพแวดล้อมทางสังคม

 สายัณห์ สัญญา และ ยอดรัก สลักใจ ก็เป็น "ราชาลูกทุ่ง" ในช่วงที่อุตสาหกรรมเพลงได้เปลี่ยนจาก "แผ่นเสียง" เป็น "เทปคาสเซ็ท" ในช่วงที่ธุรกิจดนตรีลูกทุ่งเฟื่องฟูสุดขีด และในช่วงยุคทองของวิทยุทรานซิสเตอร์หรือ "คลื่น เอ.เอ็ม."

 มาถึง พ.ศ.นี้ เป็นยุคอุตสาหกรรมเพลงสมัยใหม่ มีตลาด "ขายเพลง" หลายรูปแบบ และมีช่องทางเผยแพร่เพลงลูกทุ่งมากมาย

 ทีวีก็ไม่จำกัดแค่ "ฟรีทีวี" เพราะวันนี้มีเคเบิล ทีวีดาวเทียม และอินเทอร์เน็ตทีวี วิทยุมีทั้งคลื่น เอฟเอ็ม คลื่นชุมชน คลื่นดาวเทียม และคลื่นอินเทอร์เน็ต

 ผมจึงไม่แปลกใจในรสนิยมการฟังเพลงของแฟนเพลงลูกทุ่ง พ.ศ.ปัจจุบัน ที่มีความหลากหลายจริงๆ

 ฉะนั้นพวกเขาย่อมมี "ราชา-ราชินีลูกทุ่ง" อยู่ในดวงใจ และอาจคิดแตกต่างจาก "ผู้รู้" ทั้งหลาย
 จึงวิงวอนนักอนุรักษ์ลูกทุ่งทั้งหลาย ได้โปรดเข้าใจถึงหัวอกนักร้องรุ่นหลัง และแฟนเพลงยุคใหม่ ไม่ควรปิดปากหรือปิดกั้นรสนิยมของพวกเขา

 ด้วยข้อสรุปที่ว่า ราชา-ราชินีลูกทุ่ง คือนักร้องดังที่ตายแล้ว!

"บรรณวัชร"