บันเทิง

วิธีคิดหนังโป๊แนวใหม่
กับโรคโลลิต้า ซินโดรม

วิธีคิดหนังโป๊แนวใหม่ กับโรคโลลิต้า ซินโดรม

14 ส.ค. 2552

มีบทความหลายชิ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ที่พยายามจะบอกกับเราว่า ฝ่ายการตลาดและสินค้าทั้งหลายในหนัง พยายามจะยกมือเปิดช่องให้มีการเพิ่มฉากโป๊เข้มข้นเข้าไปในภาพยนตร์ต่างๆ (หากว่ามันสามารถจะทำได้)

  นักการตลาดคนหนึ่งมองว่า เพราะเมื่อสังคมมีโอกาสเห็นภาพโป๊จากที่ต่างๆ ง่ายขึ้น นั่นหมายความว่า สิ่งที่เห็นอยู่ก็กลายเป็นเรื่องเบาๆ และชินตาไปแล้วสำหรับสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเรื่องโป๊ๆ หาดูง่ายขึ้น คนที่เคยทำอยู่ก็ต้องเพิ่มดีกรีรุนแรงเข้าไปอีก

 แต่จริงๆ นี่ไม่ใช่วิธีคิดที่ใหม่ในการทำหนัง การทำให้หนังมีลักษณะโป๊มากขึ้นนั้น ก่อนหน้านี้เคยมีการใช้คำว่า sextreme หรือ sexplorer ในเชิงแดกดันเกี่ยวกับอะไรก็ตาม ที่พยายามจะขายเนื้อหนังมังสามากๆ

 แง่มุมที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ สินค้าอะไรก็ตามที่มีภาพของเด็กสาวใส่ชุดรัดรูปและทำท่ายั่วยวน มันมักจะสร้างยอดขายทันทีอย่างชัดเจน มันจึงเป็นมุกง่ายๆ ที่บรรดาโปรดักท์ต่างๆ พยายามจะใส่เข้าไป เอาเซ็กส์เข้าไปขายของนั้นๆ ผมชอบสิ่งที่ มาร์คัส เบนท์ นักวิจารณ์ของยุโรปพูดถึงแนวทางแบบนี้ว่า มันก็คือ...

 หนังโป๊แนวใหม่ เพียงแต่ไปปรากฏอยู่ในที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่หนัง อาจจะเป็นโฆษณามือถือ หรือบ้าน โฆษณารถหรือเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ฯลฯ

 การที่เซ็กส์ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขายสินค้ามาตลอดนั้น เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังคงรู้สึกตื่นเต้นเมื่อพูดถึง (อย่างน้อยก็น่าสนใจมากกว่าการเมือง หุ้น หรือ เศรษฐกิจ)

 และเมื่อพูดถึงการคิดมุขเพิ่มดีกรีความโป๊ลงไปในหนัง ผมก็นึกถึงต่อการตลาดที่สินค้าหลายตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ใช้การตลาดแบบที่เรียกว่า โลลิต้า ซินโดรม เล่นกับจิตใต้สำนึกของลูกค้ายุคใหม่

 ความหมายอย่างหนึ่งของคำว่า โลลิต้า ซินโดรม นั้น มีความหมายถึงการใช้ตัวแทน หรือพรีเซนเตอร์ที่มีเป็นเด็กมากๆ (เพราะเด็กสาวโลลิต้าในหนังสือนั้น อายุแค่ 12 ปี) และก็นำเสนอด้วยภาพลักษณ์ ท่าทาง หรือทีท่ายั่วยวนทางเพศ

 ก็เพราะต้องการตอบสนองลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ที่ต้องการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ด้วยการเชื่อมโยงตัวเองกับเด็กในภาพหรือในหนัง

 เดี๋ยวนี้ เซ็กส์เปิดกว้างขึ้นมาก เปิดกว้างถึงขนาดที่ว่า แม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเอง ยังออกมาด่าเพศหญิงด้วยกันว่า อย่าฟูมฟายนักเลยว่า ตัวเองถูกกดขี่ข่มเหง เพราะพวกเธอต่างรู้ดีว่า เซ็กส์บนเตียงที่ปรากฏนั้น มาจากความสมยอมกันเอง ไม่ได้มีใครบังคับ

 นิตยสารอังกฤษอย่าง GQ ยังเคยลงความเห็นว่า ผู้หญิงบางส่วนเองก็สนุกกับการเล่นเกมนี้ อย่างที่รู้ว่ามีการรวมตัวของผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า Feminism หรือ กลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี ลุกขึ้นเรียกร้องและปกป้องสิทธิที่พึงมีของผู้หญิง ในช่วงทศวรรษ 1980 กลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีนี้เอง เคยลุกขึ้นมาต่อต้าน “หนังโป๊”

 สำหรับพวกเธอหนังโป๊ก็คืออีกแขนงหนึ่งของการคุกคามทางเพศ เป็นเสมือนการแบ่งแยกว่า เพศชายคือผู้มีชัย และเพศหญิงคือเพศที่พ่ายแพ้ และถูกรังแกอยู่ร่ำไป MacKinnon กล่าวว่า หนังโป๊ถ่ายทอด “วัฒนธรรมของการขืนใจ” ซึ่งก็เป็น “สัญชาตญาณดิบของเพศชาย”

 นอกจากนี้ หนังโป๊ยังเปรียบเสมือนการค้าขายในเรือนร่างหญิงสาว มีคนสร้างหนังทำหน้าที่เป็น “คนขายเนื้อ” ที่ปฏิบัติต่อผู้หญิงเยี่ยงเนื้อที่ซื้อมาได้ คอยชำแหละ และแจกจ่ายไปยังลูกค้าคนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง

 ทว่า ตั้งแต่ปี 1990 การรับรู้เกี่ยวกับ “หนังลามก” ของผู้หญิงได้เปลี่ยนไป แบบแผนเริ่มไม่ชัดเจน เส้นแบ่งเขตความดีเลวถูก “ขีด” ขึ้นมาใหม่

 ด้วยเหตุนี้กลุ่มผู้หญิงที่มีความคิดแหวกแนวจึงได้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ดินแดงแห่งเสรีภาพนี้ได้มีการจัดตั้งรายวิชาการศึกษาเกี่ยวกับ “หนังโป๊” ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา Linda Williams อาจารย์ผู้สอนและผู้จัดตั้งรายวิชานี้ กล่าวว่า

 “ทำไมผู้หญิงถึงเข้าร้านเซ็กส์ช็อปและหยิบหนังโป๊ติดไม้ติดมือกลับบ้านไม่ได้เล่า? แม้ว่าผู้หญิงเราไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มผู้ชมหนังพรรค์นี้มาตั้งแต่ต้น แต่ทำไมผู้หญิงเราจะดูหนังโป๊ไม่ได้

 ในเมื่อหนังโป๊ไม่ว่าจะทั้งแนวนุ่มนวลและดิบเถื่อนมีให้เห็นได้ในชีวิตประจำวันของพวกเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะผ่านทางแคตตาล็อกของ Victoria’s Secret หรือ ทางช่องสัญญาณโทรทัศน์สำหรับผู้ใหญ่

 แม้แต่เซ็กส์ทอย ถ้าคุณยังไม่รู้ก็ควรจะรู้ไว้ซะว่า ผู้หญิงเรานี่แหละเป็นคนใช้ของเล่นอย่างว่ารายใหญ่เลยทีเดียว?”

 ถือว่าคุยกันหนุกๆ ไม่ต้องซีเรียส โลกเปลี่ยนทางและเทรนด์มาแบบนี้ เลยอยากเอามาเล่าให้ฟังกัน และอย่าไปเครียดกับมัน โลกนี้มีอะไรประหลาดๆ เยอะ

 บางประเทศ เด็กอายุ 18 ให้ออกไปเลือกตั้งได้ แต่กลับปิดหูปิดตาไม่ให้รับรู้อะไรอีก
 น่าสงสัยว่า อายุ 18 คงมีความหมายแค่เอามือหย่อนบัตรเลือกตั้ง - เท่านั้นเอง

"นันทขว้าง สิรสุนทร"
[email protected]