
มือปืนดาวพระเสาร์
07 เม.ย. 2559
มือปืนดาวพระเสาร์ : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ข่าวขันสีแดงที่เตรียมแจกในเทศกาลสงกรานต์ อาจจะทำให้บรรยากาศทางการเมืองไทยมีความเคลื่อนไหวขึ้นมาบ้างเล็กน้อย แม้ตอนนี้จะยังไม่มีข่าวยึดทำลายหรือห้ามแจก หรือตั้งความผิดฐานมีไว้ในครอบครอง แต่แค่เรื่องเล็กๆ ที่ไม่น่าเป็นเรื่องกลับแสดงออกถึงนัยทางการเมือง สั่นคลอนไปถึงระดับความมั่นคงเลยทีเดียว ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเราที่รอวันสมาน หรือรอวันกลับขั้วทวงคืนอำนาจ หรือรอวันล้างไพ่ หาคนใหม่ๆ มาเป็นความหวังนำทางบ้านเมืองพัฒนาไปข้างหน้า
แม้ไทยเป็นประเทศที่มีความผันผวนทางการเมืองสูง แต่กลับไม่ค่อยมีสื่อนำเสนอ หรือสอดแทรกเรื่องราวการเมืองให้ได้เห็นบ้าง (ยกเว้นสื่อที่ประเภทนำเสนอข่าวสารเป็นหลัก อย่างรายการข่าว หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์สำนักข่าว) ทว่าหนังหรือละคร กลับไม่ค่อยปรากฏ
กลับมาเมียงมองหนังไทย หาใช่ คงเดช จาตุรันต์รัศมี คนเดียวเท่านั้น ที่หนังของเขามีประเด็นทางการเมือง แทรกซ่อนอยู่ภายใต้ฝีมือการเขียนบทและกำกับอย่างแพรวพราว ยุทธเลิศ สิปปภาค ก็เป็นอีกหนึ่งคนทำหนัง ที่สะท้อนเรื่องราวการเมืองไทยลงไปในหนังทั้งอย่างจงใจจะเสียดเย้ย ล้อเลียน วิพากษ์ หรือเหน็บแนมชวนยั่ว ชวนหัว โดยมี “โกยเถอะเกย์” เป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่แทรกประเด็นทางการเมืองลงไป นัยว่าเพื่อนเป็นการยั่วล้อสนุกๆ ในฉากเล็กๆ ฉากหนึ่ง เมื่อมีรถบัสแล่นเข้ามาจอดที่ปั๊มน้ำมัน และคนทั้งรถในชุดกีฬาสีเหลือง-แดง ต่างพากันวิ่งกรูมาเข้าห้องน้ำ (มีเสียงตะโกนไล่หลังตามมาประมาณว่าเพิ่งกลับจากแข่งกีฬาสี) ในหนังดราม่าเรื่องถัดมา “รักสามเศร้า” ก็มีตัวละครหนุ่มนักการเมืองอนาคตไกลแอบรักหญิงสาวตัวเอกของเรื่อง แต่เพราะเธอไม่มีใจให้ เขาก็ใช้กำลังข่มขืน แต่หนังที่ดูมีน้ำเสียงและท่าทีจงใจวิพากษ์การเมืองไทยโดยไม่อ้อมค้อม เห็นจะเป็นเรื่อง “มือปืนดาวพระเสาร์”
ทั้งพล็อตและตัวละครของหนังเรื่องนี้เอ่ยอ้างถึงนักการเมือง แอบอิงสภาพการเมืองไทยในช่วงเวลาที่หนังถ่ายทำและเข้าฉาย รวมถึงบรรยากาศร่วมสมัยในขณะนั้นที่ปรากฏในหนังอย่างตั้งใจ เพียงแค่ฉากแรกๆ ยุทธเลิศก็ใส่ฉากพ่อ-ลูก ทะเลาะกันอย่างเอาตายเพียงเพราะต่างฝ่ายมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน รวมถึงสังกัดพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม แน่นอนว่าทัศนคติแบบแค่เห็นต่าง ก็กลายเป็นศัตรูก็ถูกถ่ายทอดลงในหนังอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ไม่เพียงเท่านั้น มือปืนดาวพระเสาร์ ยังฉายภาพของกรุงเทพฯ เป็นเสมือนภาพแทนของระบอบการปกครองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในฉากตี๋ ไรเฟิล วิ่งออกกำลังผ่านแลนด์มาร์กสำคัญๆ ของกรุงเทพมหานคร อันเป็นเหมือนภาพแทน ที่สามารถอธิบายองค์ประกอบของพลวัตทางการเมืองไทยในยุคหลังได้อย่างชัดเจน (เช่นวิ่งผ่านวัดพระแก้ว พระบรมหาราชวัง, กระทรวงกลาโหม. ศาลาว่าการ, เสาชิงช้า, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยันบังเกอร์ยางรถยนต์ที่มีรั้วแหลมป้องกัน บริเวณถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงโดยกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลช่วงเวลานั้น (พ.ศ. 2552-2553)
นอกจากนี้ภารกิจหลักของตัวละครสำคัญในหนังอย่างตี๋ไรเฟิลมือปืนรับจ้างคือการได้รับมอบหมายให้สังหารบรรดานักการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามรวมถึงตอนจบที่ตัวละครหญิงหันมาจับปืนและทำอย่างเดียวกันกับเขา โดยคำพูดระหว่างสนทนากับเพื่อนสาวหลังปฎิบัติภารกิจเสร็จตอนหนึ่งบอกประมาณว่า ‘ขอแสดงความยินดีกับเธอด้วยต่อไปนี้ประเทศไทยคงไม่มีนักการเมืองเหลือไว้ให้ใครได้เลือกอีกแล้วล่ะ’หรือตัวละครบางคนก็มีชื่อว่า ‘มาร์ค’
ยุทธเลิศจิกกัดแดกดันนักการเมืองผ่านพฤติกรรมตัวละครตี๋ไรเฟิลผู้หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นสไนเปอร์มือปืนรับจ้างฆ่าคนส่วนหนึ่งก็นำเงินมาหาวิธีรักษาปัญหาสมรรถภาพทางเพศของตนการที่ตี๋ หมกมุ่นกับการแก้ไขอาการนกเขาไม่ขันของเขาโดยไม่สนใจความตายของคนอื่น บางทีก็ไม่ต่างจากนักการเมืองที่หมกมุ่นกับการแสวงหาปกป้องถือครองให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ใส่ใจกับความเดือดร้อนของประชาชนเขาบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ผ่านกลวิธีแบบหนังตลกร้ายซึ่งอาจจะไม่เอะอะมะเทิ่งเหมือนผลงานก่อนหน้าที่ผ่านมาอย่างมือปืนโลกพระจัน, สายล่อฟ้าหรือกระทั่งบุปผาราตรีภาคแรกๆ ท่าทีของมือปืนโลกพระเสาร์หลายๆ ฉากเต็มไปด้วยความเนิบช้าลีลาอ้อยอิ่งเล่าเรื่องแต่ละองก์คำบรรยายถึงปัญหาสมรรถภาพทางเพศของตัวละครนัยว่าเป็นเหมือนการล้อเลียนสไตล์การเล่าเรื่องในหนังดัง Day of Being Wild ของผู้กำกับระดับโลกอย่างหว่องกาไวอยู่ในที (หนัง Day of Being Wild ใช้คำบรรยายแทนตัวละครหนุ่มขี้เหงาในเรื่องว่าเป็น นกไร้ขา ทว่ามือปืนดาวพระเสาร์ ตี๋ ไรเฟิล มือปืนหนุ่มขี้เหงา ก็ถูกใช้คำบรรยายแทนอย่าง นกเพลิงไม่ทันกินน้ำ นกเพลิงไม่ยอมขัน นกเพลิงผงาดฟ้าฯ)
ยุทธเลิศทำหนังชุดนี้โดยหวังจะให้เป็นไตรภาคของหนังชุดมือปืนเรื่องจากมือปืนดาวพระเสาร์ (Saturday Killer) ตามด้วย หมาแก่อันตราย (Friday Killer) และปิดท้ายด้วยมือปืนพระอาทิตย์ (Sunday Killer) แต่น่าเสียดายที่ไม่มีข่าวคราวการถ่ายทำหรือมีกำหนดฉายเมื่อไหร่ หลังจากสองตอนแรกไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้
น่าเสียดาย ที่หนังไทยสักเรื่องพอหยิบประเด็นการเมืองมาพูดถึงบ้าง แม้จะไม่ได้เคร่งเครียด จริงจัง สะท้อนความจริงในแง่มุมอย่างเจาะลึก กลับไม่ใคร่เป็นที่พูดถึงหรือได้รับความสนใจ แม้กระทั่งมีรายได้เป็นที่น่าพอใจ ทั้ๆที่วิธีการนำสารทางการเมืองมาเล่าผ่านหนังเหล่านั้นถือว่าทำได้อย่างมีชั้นเชิง น่าสนใจ และเต็มไปด้วยศิลปะการเล่าเรื่องทางภาพยนตร์ ไม่ว่าหน้าตา ลีลา ของหนังจะออกมาในรูปแบบใด หรือมีนักแสดงน่าสนใจแค่ไหน
ความสำคัญของหนังเหล่านี้ เกิดขึ้นในฐานะบทบันทึกประวัติศาสตร์บนหน้าสังคมไทยที่เราสามารถหยิบนำมาทบทวนศึกษาได้ตลอดเวลา แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแล้วก็ตาม