บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:'Touch of Evil'

เอกเขนกดูหนัง:'Touch of Evil'

31 มี.ค. 2559

'Touch of Evil' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
          เกือบ 60 ปีแล้ว ที่หนังเรื่องนี้ปรากฏบนบรรณพิภพ แต่ความยอดเยี่ยมเหนือกาลเวลาทำให้ Touch of Evil กลายเป็นหนังคลาสสิกที่ถูกนำมาฉายใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า คอหนังหยิบมาดูซ้ำแล้วซ้ำอีก อีกทั้งยังส่งอิทธิพลมายังคนทำหนังรุ่นหลังมากมาย หนังหลายต่อหลายเรื่องอ้างอิงหรือนำฉากใน Touch of Evil มาปรากฏในหนังเพื่อแสดงความคารวะในฐานะการบูชางานชั้นครู เหตุใดหนังเรื่องนี้จึงเป็นที่ยกย่องกล่าวขานมาเนิ่นนานนัก
 
          อันดับแรก เพียงแค่ฉากเปิดเรื่อง หนังก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าแรกๆ ของการถ่ายทำแบบลองเทก (Long Take) ได้อย่างยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบโดยเฉพาะการคิดค้นเทคนิคการเล่าเรื่องใหม่ๆ มารับใช้เนื้อหา หาได้แค่โชว์ชั้นเชิงการกำกับของออร์สัน เวลส์ แต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพราะฉากเปิดเรื่องในหนัง คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ชักนำตัวละครมาประสบพบกัน ก่อนจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมเลวร้ายในท้ายเรื่อง
 
          ซีเควนซ์เปิดเรื่องของ Touch of Evil ไม่เพียงได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในฉากลองเทกที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่านั้น หากยังแสดงถึงความเป็นอัจฉริยะในเกริ่นนำ ปูพื้นเพื่อการเล่าเรื่องในลำดับต่อไปได้อย่างน่าสนใจ เมื่อเปิดฉากด้วยภาพระยะใกล้ (Close Up) ของมือระเบิดที่ยัดระเบิดเวลาเอาไว้ท้ายรถเปิดประทุนคันงามแล้ววิ่งหนีไป ก่อนหนุ่มใหญ่เจ้าของรถจะเดินออกมาพร้อมสาวสวยและขับรถไปตามถนน ผ่านตัวละครเอก กล้องไม่เคลื่อนตาม หากแต่หยุดเพื่อแนะนำคู่สามีภรรยาให้คนดูรู้จักในเบื้องต้นว่าเขาและเธอเป็นใคร กำลังอยู่ที่ไหน มาทำอะไร ก่อนจะมีประกายไฟพร้อมเสียงดังสนั่นจากการทำงานของระเบิด หนังก็ตัดภาพเป็นครั้งแรกไปยังรถที่ไฟลุกท่วมตลอดเวลากว่า 3 นาที แม้หนังจะไม่ปรากฏให้เห็นโฉมหน้าของฆาตกรมือระเบิด แต่การดำเนินเรื่องราวในเวลาต่อมากลับทำให้เราแทบลืมไปเลยว่าใครเป็นคนฆ่า ใครเป็นผู้จ้างวานสั่งฆ่า ทำไม? ทั้งนี้เพราะหนังวางโครงเรื่องรอง (Sub Plot) ได้อย่างเข้มแข็งน่าสนใจไม่แพ้พล็อตหลัก (Main Plot) อันว่าด้วยการฮันนีมูนของคู่รักหมาดๆ ที่ฝ่ายหญิงติดตามฝ่ายชายมาทำงานราชการในเม็กซิโก ทว่ากลับถูกขัดขวาง ก่อกวนโดยแก๊งมาเฟียใหญ่
 
          บทที่เต็มไปด้วยชั้นเชิงของการวางเงื่อนปม ตัวละครที่มนกลม มีมิติอันเกิดจากการสร้างปูมหลัง วางสถานะและการสร้างแรงจูงใจ เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนความสมเหตุสมผล ทำให้หนังแอ็กชั่นสืบสวนสอบสวนในสไตล์ฟิล์มนัวร์ ที่เต็มไปด้วยตัวละครหม่นมัว ไม่ดีสุดขั้ว ไม่ชั่วสุดขีด ท่ามกลางบรรยากาศร้อนแล้ง ร้างไร้ไม่น่าไว้วางใจของเมืองที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมของเม็กซิโก เต็มไปด้วยความสนุก ชวนติดตาม สร้างปมให้แก่ตัวละครให้คนดูทั้งรู้สึกชิงชังและเอาใจช่วยไปด้วยในเวลาเดียวกัน
 
          ผู้กำกับเขียนบท ออร์สัน เวลส์ ได้ชื่อว่าเป็นคนทำสื่ออัจฉริยะคนหนึ่งในโลก ก่อนหน้า Touch of Evil เขาก็ทำหนังที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลกในเวลาต่อมาอย่าง Citizen Ken ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเคยสร้างความตระหนกตกใจให้คนอเมริกันว่ามีมนุษย์ต่างบุกโลกจากละครวิทยุเรื่อง The War of the Worlds ก่อนจะก้าวมาทำหนังด้วยซ้ำ เวลส์ยังเคยทำละครเวที รายการโทรทัศน์ เป็นนักแสดง และเป็นคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย สร้างงานดีๆ ประดับโลกไว้มากมายโดยเฉพาะศิลปะภาพยนตร์ ที่งานดีๆ ไม่ได้มีแค่สองเรื่องที่กล่าวมาเท่านั้น และด้วยความยอดเยี่ยมของ Touch of Evil หนังจึงถูกนำออกฉายใหม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละฉบับที่ไม่เหมือนกัน และออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1958 ในอีก 18 ปีต่อมา 1976 หนังถูกนำออกฉายอีกครั้งในเวอร์ชั่นที่ยาวกว่าเดิม ในปี 1998 มีการบูรณะฟิล์มหนังขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่เพียงปรับปรุงคุณภาพความคมชัด หากแต่ยังมีการตัดต่ออีกครั้งตามเจตจำนงเดิมของออร์สัน เวลส์ ที่เขาอยากให้หนังเป็นอย่างที่ต้องการ หากแต่ถูกสตูดิโอปรุงแต่งเสียใหม่ในการฉายครั้งแรก (ซึ่งกว่าหนังจะออกมาอย่างที่เวลส์ ก็กินเวลาเนิ่นนานถึง 40 ปี) และสุดท้ายก็ดูเหมือนว่าจะเป็น Touch of Evil ฉบับหลังสุด จะสมบูรณ์ลงตัวที่สุด ทั้งในแง่เนื้อหาและเทคนิค
 
          แม้เวลส์จะเลือก ชาร์ลตัน เฮสตัน มารับบทนำ แต่บทนายตำรวจมือปราบร่างอ้วนฉุอย่าง แฮงค์ กินลัน ที่เวลส์ แสดงเอง เขาก็ลงทุนแปลงโฉม เพื่อรับบทนายตำรวจที่พยายามดึงตัวเองออกจากความหลังอันปวดร้าว ละเลิกเหล้ายาที่เคยดื่มอย่างเมาหยำเป เพื่อให้ตัวเองครองสติในการปกป้องเมืองจากแก๊งอาชญากร แต่ก็ดูเหมือนนายตำรวจร่างอ้วนฉุนายนี้ จะติดกับดักของตัวเองอย่างยากจะถอนตัว ในขณะที่เจ้าหน้าปราบยาเสพติดสัญชาติเม็กซิโก กลับพยายามหาความชอบธรรมให้คนอเมริกันซะเอง
           
          เวลาที่ผ่านมาร่วม 58 ปี Touch of Evil ก็ยังมีความร่วมสมัยไม่เก่าเชยแต่อย่างใด ทั้งพล็อตเรื่อง เนื้อหา เทคนิคการถ่ายทำ ไปจนถึงงานกำกับศิลป์การออกแบบงานสร้างที่เล่นกับรูปทรงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมอันผุพังในเมืองเสื่อมโทรมเพื่อสะท้อนความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ (โดยเฉพาะในฉากจบ) รวมถึงการสร้างตัวละครและการแสดงของพวกเขาทุกคน
 
          หากศิลปะยั่งยืน งดงามได้เพียงใด หนังที่สร้างขึ้นด้วยมุมมองทางศิลปะก็มีอายุอานามยืนยาวและได้รับการยกย่องไม่ต่างกัน หนังเรื่องนี้คือเครื่องพิสูจน์