บันเทิง

ความเห็นกรรมการ‘คมชัดลึกอวอร์ด’เพลงดีแต่สัมผัสผิดต้องถูกตัด

ความเห็นกรรมการ‘คมชัดลึกอวอร์ด’เพลงดีแต่สัมผัสผิดต้องถูกตัด

30 มี.ค. 2559

ความเห็นกรรมการ"คมชัดลึกอวอร์ด”“เพลงดี แต่สัมผัสผิด ต้องถูกตัดออกไป”

 
          การประกาศรางวัล เพลงไทยลูกทุ่ง "คม ชัด ลึก อวอร์ด” ผ่านไปอย่างเรียบร้อยแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการแต่ละท่านเป็นอย่างไรนั้น หน้าลูกทุ่ง คม ชัด ลึก ขอสรุปสั้นๆ มาให้ทราบกัน 
 
          มนัส อาจสกุล หนึ่งในกรรมการ ที่คร่ำหวอดในวงการเพลงมานาน ในฐานะคนเบื้องหลัง กล่าวว่า
 
          “ในปีนี้ผมดีใจที่มีนักร้องในสาขาดาวดวงใหม่หญิงล้วนเสียงดีมีคุณภาพทุกคน เรียกว่าดีกว่าทุกๆ ปีทั้งที่เข้ามาและไม่ได้เข้ารอบด้วยซ้ำ แต่เมื่อต้องตัดสินให้เหลือผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว ก็จำเป็นต้องทำให้ได้ด้วยการตัดสินแบบขอคะแนนเสียงจากคณะกรรมการ แม้คะแนนจะแตกต่างกันบ้างก็ต้องยึดเอาคะแนนเสียงข้างมาก บอกตรงๆ ว่าอยากให้รางวัลทั้งหมดแต่ทำไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ”
 
          ตุ๋ย มหาชัย กรรมการฝ่ายหญิง กล่าวถึง รางวัลในส่วนของคำร้องยอดเยี่ยมว่า
 
          “เพลงที่เนื้อหาดีในรอบ 5 เพลงสุดท้าย ต่างดีคนละแบบยกตัวอย่างเพลง “เศษสตางค์บนหลังตู้เย็น” (ขับร้องโดย นุจรี ศรีราชา) ด้วยการวางเนื้อหาที่แปลกใหม่ ให้แง่คิดสะกิดใจ ให้เห็นคุณค่าของการออม จากเศษสตางค์ที่เป็นเงินเพียงเล็กน้อย จนบางคนไม่เห็นคุณค่า สะท้อนสังคมปัจจุบันที่ขาดการจูงใจให้คนเห็นประโยชน์ในเรื่องของการออมทรัพย์ที่เริ่มจากน้อยไปหามาก ถึงแม้จะใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่ก็เป็นเพลงดีที่น่าฟังอีกเพลงหนึ่ง เพลงนี้ถ้าเนื้อหาลึกจะดีมาก”
 
          ส่วนในสาขาเรียบเรียงเสียงประสานนั้น เพลง “ทางฝันสาวบ้านนอก” ขับร้องโดย ฝน ลัดดาวัลย์ อ.กิตติ ศรีเปารยะ กรรมการผู้คร่ำหวอดในเชิงดนตรีวิชาการ กล่าวสรุปว่า
 
          “ผู้เรียบเรียงใช้เสียง "โหวด” บรรเลงแบบโรยจังหวะ (Rubato) ตอนส่วนนำเพลง (Intro.) ให้อารมณ์โหยหาและเดียวดาย ต่อด้วยเสียงซอ (พื้นบ้านอีสาน) ร่วมกับกลุ่มเครื่องจังหวะและคอร์ด (Rhythm Section :กลองชุด เบสไฟฟ้า และเครื่องคีย์บอร์ด) สร้างความกระฉับกระเฉงด้วยลีลาจังหวะที่บ้านเราเรียกกันว่าลโลว์โซล (Slow Soul) เสียงโหวดเข้าร่วมบรรเลงในขณะที่เสียงแคนเล่นเป็นตัวล้อรับต่อด้วยซอก่อนส่งให้นักร้องเริ่มขับขาน
 
          ทำนองเพลงอยู่ในรูปแบบ 4 ท่อน (Song Form หรือ AABA) ท่อนแรกเป็นการขับร้องร้องคลอด้วยเสียงคีย์บอร์ดเบาๆ ผสานไปกับเสียงแคนสอดรับ ปิดท่อนนี้ด้วยเสียงโหวดและนำเข้าสู่ท่อนที่ 2 ของเพลงร่วมกับกลุ่มเครื่องจังหวะเดินในอัตราประมาณจังหวะสโลว์ทั่วไป ในท่อนแยก (ท่อน 3) แนวทำนองมีช่วงเสียงกว้างขึ้นสร้างความชัดเจนในเนื้อหาคำร้องบ่งบอกความมุ่งมั่นที่จะทำการให้ลุล่วง (สิไขว่คว้าฝันไปเป็นรางวัลให้แม่ภูมิใจ หากยังเอาดีไม่ได้สิบ่กลับไปให้อายใครเขา) ท่อนที่ 4 ใช้แนวทำนองเดียวกับท่อนที่ 2 ผู้เรียบเรียงลดอารมณ์เพลงลงเล็กน้อยใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวข้างต้นบรรเลงคลอและล้อเสียงไปจนจบท่อนร่วมกับกลุ่มเครื่องจังหวะ
 
          ช่วงดนตรีรับผู้เรียบเรียงใช้โหวดบรรเลงนำ ล้อตามโดยเสียงซอความยาวประมาณครึ่งท่อน (ประมาณ 4 ห้องเพลง) ส่งให้นักร้องร้องซ้ำท่อนที่ 4 ไปถึง 2 วรรคสุดท้ายของท่อนนี้และร้องซ้ำอีก 2 วรรค (กราบพระขอพรทุกคราว ให้ฝันของสาวบ้านนอกเป็นจริง) โดยใช้ทำนองเดิม ฝ่ายดนตรียังใช้เสียงโหวดไปจนจบเพลงในขณะที่เสียงซอกับแคนทำหน้าที่สอดรับและโอบอุ้มด้วยกลุ่มเครื่องจังหวะและคอร์ด
 
          ผู้เรียบเรียงรังสรรค์งานชิ้นนี้ได้อย่างลงตัวและน่าฟัง โชว์สำเนียงเพลงพื้นบ้านอีสานได้อย่างโดดเด่นร่วมไปกับเครื่องสากลอันเป็นหลักของทางดนตรีตะวันตกคอยหนุนหลัง แนวทางคอร์ด (Chord Progressions) วางได้ถูกต้องตามหลักการดนตรีสากล สร้างแนวลูกขัดลูกส่งและลูกสอดรับต่างๆ (Counter Melodies) ได้อย่างเหมาะสมไม่ไปบดบังเสียงนักร้องต่อย่างใด ทำให้บทเพลงไพเราะกลมกลืนน่าฟัง”
 
          ส่วนภาพรวมของการตัดสินนั้น ครูสุรินทร์ ภาคสิริ ประธานการตัดสิน ซึ่งเป็นครูเพลงในวงการให้การยอมรับนับถือ กล่าวว่า
 
          “ภาพรวมของเพลงลูกทุ่งคุณภาพลดลงมากเนื้อหาวกวนมีแต่เรื่องหนุ่มสาวจีบกันเรื่องผัวเมีย เพลงลูกทุ่งแนวสะท้อนวิถีชีวิตคนไทยไม่มีเลย ทำนองเพลงก็ซ้ำซาก คนทำเพลงไม่ค่อยคิดค้นทำนองใหม่ๆ เอาแต่แรงบันดาลใจตามเพลงที่ดัง ร้อยเนื้อทำนองเดียว มีหลายบทเพลงที่มีความน่าสนใจ แต่เมื่อลงลึกดูก็น่าเสียดาย โดยเฉพาะการสัมผัสกันของคำที่ไม่ค่อยเน้นกัน ซึ่งจุดนี้นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่ง ทำให้ต้องถูกคัดออกไปเหลือเท่าที่เห็น
 
          ฉะนั้นเพลงที่เข้ามาสู่รอบสุดท้ายนี้น่าจะภาคภูมิใจได้ว่าเป็นเพลงลูกทุ่งที่ดีที่สุดในปี 58”