
ชัยชนะติงเครื่องเล่นพกพานำเพลงไปบรรจุไม่ขออนุญาต
08 ม.ค. 2559
ชัยชนะติงเครื่องเล่นพกพานำเพลงไปบรรจุ ไม่ขออนุญาต
ชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติ ร้องเรียนผ่านสื่อถูกผู้ผลิตเครื่องเล่นพกพาอุปกรณ์ฟังเพลงชนิดใหม่ นำเพลงไปรวมในอุปกรณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต วอนเห็นใจคนแต่งด้วย
กลายเป็นกรณีร้อนรับต้นปี เมื่อสื่อบันทึกชนิดใหม่ที่เรียกกันว่า Music Box ที่กำลังมาแทนแผ่นซีดี เอ็มพี 3 โดยมีลักษณะคล้ายเครื่องรับวิทยุที่มีหน่วยความจำในตัว บรรจุเพลงเอ็มพี 3 ได้นับพันเพลงในเครื่องเดียวและกำลังจะเป็นสื่อที่มาแรง ซึ่งก่อนหน้านี้ ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซีดีเอ็มพี 3 โดยการทำแผ่นปลอม หรือทำซ้ำ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายวงการเพลงไทย แต่มาถึงวันนี้ เครื่องเล่นพกพาอาจจะกำลังมีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นเดียวกัน
ชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2541 ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวบันเทิง "คม ชัด ลึก” ด้วยความคับข้องใจถึงอุปกรณ์เครื่องเล่นเพลงพกพาที่กำลังเป็นที่นิยมทำกันของบริษัทเครื่องไฟฟ้าและค่ายเพลงตอนนี้ว่า
"สมัยก่อนที่ผมแต่งเพลง ผมไม่ได้เอาไปขายเอง พอแต่งเสร็จก็ให้ นิยม มารยาท ไปบ้าง ให้ พิพัฒน์ บริบูรณ์ ไปบ้าง ให้ พี่สำเนียง ม่วงทอง ไปบ้าง ให้ อ.พยงค์ มุกดา ไปบ้าง อะไรแบบเนี่ย เพราะสมัยก่อนมันยังไม่มีลิขสิทธิ์ ฉะนั้นหลายคนเอาไปขายให้บริษัทอะไรผมก็ไม่รู้ อย่างเพลง “หนุ่มบ้านนา” ให้ นิยม มารยาท ไป เขาไปขายให้บริษัทอะไรผมก็ไม่รู้เลย เพลง “กรรมกรแท็กซี่” พี่สำเนียง ขายให้ใคร อันนี้ผมก็ไม่รู้ เพลง “เมื่อฉันขาดเธอ” ที่ เพชร พนมรุ้ง ร้องไว้ ให้ ครูพยงค์ ไป เพลง “ดอกฟ้าแดนอุดร” “นาแล้ง“ “สามปีที่ไร้นาง” เพลงเหล่านี้ สมัยนี้เขาเอามาลงในเครื่องเล่นพกพา เขาบอกว่าไปซื้อมาจากคนเหล่านี้ แต่เขาก็ไม่ได้บอกผมว่าขายเพลงให้ไป”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เพลงที่กล่าวมาทั้งหมดสมัยนั้นมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ศิลปินแห่งชาติวัย 74 บอกว่า
“เมื่อก่อนใครเอาเพลงไปขายก็อาจจะเป็นชื่อคนนั้น อย่างครูสำเนียงแกแต่งเพลงเยอะ แต่ตอนนั้นยังไม่มีวง แกก็ให้สุรพลซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน ก็เลยกลายเป็นชื่อสุรพลหมด เมื่อก่อนเป็นแผ่นครั่ง เพลงของผมที่ถูกนำไปใส่ในเครื่องเล่นพกพาตอนนี้มีเยอะเลย เพลง “พระเจ้าเงินตรา” เพลง “ชีวิตช่างตัดผม” “ทุ่งร้างนางลืม” เพลงนี้แต่งให้ ชินกร ไกรลาศ ร้องเป็นเพลงแรก ผมลงทุนเองด้วย อัดเสียงที่ห้องอัด กมลสุโกศล บริษัทที่เขาทำเครื่องพกพาก็เอาไป ผมไม่ทราบว่าเขาไปซื้อจากใคร”
เมื่อถามว่าแล้วจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่นำเพลงไปโดยไม่ขออนุญาตหรือไม่ และจะไปจดทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ชัยชนะบอกด้วยความซื่อภาษาคนลูกทุ่งว่า
“เราก็อยากจะบอกว่า เราเป็นคนแต่ง เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สมัยก่อนแผ่นครั่ง แล้วมาเป็นเทปก็ไม่เคยได้เงิน ทั้งที่เป็นเสียงเรา มันผิดวัตถุประสงค์เราที่ตกลงกันไว้ว่าทำแผ่นครั่ง เคยถามบริษัทแผ่นเสียงเก่า เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้ทำใหม่ ใช้ของเก่า แต่มันทำซ้ำกันเห็นๆ เอาแผ่นครั่งมาทำ ผมไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เขาบอกว่าให้เราอัดเสียงร้องดนตรีมาให้เขาลงทะเบียนไว้ ถ้ามีเรื่องมีราวเขาก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ต้องให้เราไปจัดการกันเอง อย่างนั้นผมจะเอาไปให้กรมทรัพย์ฯ จดทำไมล่ะ ถ้าเกิดเขาเอาเพลงผมไปขายอีก เพราะมันมีพร้อมเนื้อร้องดนตรี ทำนองเพลงซิ ผมเลยไม่จดเลย ผมก็อยากจะให้บริษัทเพลงต่างๆ ได้เหลียวมามองเราบ้าง เมื่อก่อนเราทำเพลงกันมันไม่ได้มีสัญญาอะไรมาก ยุคนั้นอยากได้เงินก็ให้กันไป เขียนกันไป พอมายุคใหม่นักกฎหมายเขาบอกให้ใช้คำว่า อนุญาต ผมอยากเรียกร้องสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของเพลง คุณเอาเพลงเราไปทำซ้ำก็ไม่เคยให้เรา เราไม่เคยฟ้องร้องเลย อยากให้ท่านมีความเมตตาแบ่งมาให้เราบ้างก็ยังดี เราน่าจะได้ส่วนแบ่งบ้าง ผมก็ไม่รู้กฎหมายหรอก บางคนมาขอเราว่าจะทำเอง จู่ๆ กลายเป็นของบริษัทไปเฉยเลย มาดูรายชื่อ 50 เพลง ผมก็งง เราไปขายให้ตอนไหน ผมจะขายทีเดียว 50 เพลงเลยเหรอ ผมไม่ได้แต่งได้มากขนาดนั้น แต่ละเพลงมันใช้เวลาห่างกัน พวกนี้เทคนิควิธีการเขามาก โดยเฉพาะเรื่องโสตทัศน์วัสดุมันไปหลายแบบ ขอความเมตตาช่วยเหลือกัน เราไม่มีทุนไปฟ้องร้องต่อสู้เขา ก็อยากให้พวกเราคิดกันดูนะ”