
มองวัยรุ่นผ่านละครสะท้อนสังคมแต่ละยุค
มองวัยรุ่นผ่านละครสะท้อนสังคมแต่ละยุค
วัยรุ่นเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย “เพื่อน” ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิตช่วงนี้ แต่ละยุคสมัยความเป็นไป ของวัยรุ่น ย่อมแตกต่างกัน สถานการณ์ที่เจอเปลี่ยนไปตามลักษณะและสภาพแวดล้อมของสังคม ความรุนแรงที่คนยุคหนึ่ง เคยเห็นว่า “น่ากลัว” หวั่นใจหากลูกหลานต้องไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์เหล่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี สถานการณ์สุ่มเสี่ยงในยุคหนึ่ง อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนอีกยุคสมัยหนึ่งก็เป็นได้ เพราะช่องว่างของกาลเวลา สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
มองย้อนกลับไปดูภาพสะท้อนชีวิตวัยรุ่นในแต่ละยุค ผ่านละครในวงการบันเทิงที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ “กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้” ซึ่งเคยทำเป็นภาพยนตร์ฉายในปี 2534 กำกับภาพยนตร์โดย “คิง” สมจริง ศรีสุภาพ นำแสดงโดย “มอส” ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ และ “แท่ง” ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง เป็นชีวิตของเด็ก ม.6 ก่อนนำกลับมามาทำเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 7 ในปี 2545 นำแสดงโดย “หนุ่ม” สุวินิต ปัญจมะวัต “แต๊ง” พงศกร มหาเปารยะ “เบ็น” ธีรวีร์ อัศวศิริชัยกุล “เจสซี่” ดนัย ตันธนะศิริวงศ์ ฯลฯ ก่อนจะผลัดเปลี่ยนนักแสดงอีกหลายรุ่น และสร้างสื่อเสียงเอาไว้ไม่แพ้กัน ซึ่งวัยรุ่นในยุคนั้น ใครไม่ได้ดูแก๊ง “หินกลิ้ง” ถือว่าเชยมาก เพราะเนื้อหาดี และนักแสดงหลายคนก็แจ้งเกิดจากเรื่องนี้
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “ม.6/16 ร้ายบริสุทธิ์” ทางช่อง 3 รุ่นแรกที่นำแสดงคือ เขตต์ ฐานทัพ “อ้น” สราวุธ มาตรทอง ราโมน่า ซาโนลารี่ ตั้งแต่ปี 2539 ถัดมาเปลี่ยนชื่อชื่อเป็น “น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์” ได้นักแสดงนำเป็น “แอม” สุธีร์ เสียงหวาน “บุ๊คกี้” พิมพลอย ปัจชัยโย ซึ่งถือว่าละครเรื่อง น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ผ่านมาหลายยุค และเปลี่ยนนักแสดงไปหลายชุดจนถึงปัจจุบันนี้นำแสดงโดย “บีม” มานะศักดิ์ ฤกษ์เฉลิมพจน์ “เจสซี่” เมฆ เมฆวัฒนา “เกมส์” ทิชากร คุปตวาณิชย์ “โมสต์” วิศรุต หิมรัตน์ “จิมมี่” ศศินทร์ เชาว์ “นารา” นารา เทพนุภา และ “มายด์” วิรพร จิรเวชสุนทรกุล เรียกว่าผ่านมาตั้งแต่ช่วงที่ “พีคสุด” จนถึงอยู่ตัว แต่ค่าย “บรอดคาซท์” ยังคงทำต่อมาเรื่อยๆ โดยไม่เปลี่ยนแนวทางในการสร้างละครเพื่อวัยรุ่นไทยมายาวนาน
สังเกตได้ว่าละครเพื่อวัยรุ่นสองเรื่องข้างต้น มีภาพของนักเรียนและนักศึกษาในแต่ละยุคต่างกัน พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาก็ต่างกัน เริ่มตั้งแต่ยุคที่โซเชียลมีเดียยังเข้าไม่เข้าถึง ใช้แค่โทรศัพท์บ้าน จนมาเป็นโทรศัพท์มือถือจอขาวดำ มาเป็นจอสี ปัญหาแก๊งนักเรียนยกพวกตีกัน เล่นพนัน ไม่มีเงินเรียน วัยรุ่นสมัยก่อนต้องมุมานะบากบั่น ปัญหาระหว่างกลุ่มเพื่อน ครู อาจารย์ รักในวัยเรียน ก็มีให้เห็น ต่างกันแค่รูปแบบในการนำเสนอ หรือแม้แต่แฟชั่นชุดนักเรียนรุ่นก่อน ต้องเสื้อตัวใหญ่ๆ ดึงออกกางเกงเยอะๆ และอีกมากมาย เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
มาจนถึงปัจจุบันกับละครซีรีส์ “วันรุ่นยุคโซเชียลมีเดีย” นับตั้งแต่ “ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น" จุดกระแสซีรีส์วัยรุ่นจนฮิตติดตลาด ตอบโจทย์คนดูและสังคม ในฐานะซีรีส์ที่สะท้อน “ด้านมืด” ไม่ใช่แนว “โลกสวย” หรือออกแนวตั้งใจจรรโลงสังคม ใช้วิธีการเล่าด้วยสถานการณ์ของตัวละครที่ต้องเผชิญ เป็นซีรีส์ในลักษณะปลายเปิด คือคนดูสามารถนำไปคิดต่อยอดได้ ตัวซีรีส์ไม่ได้ชี้นำด้วยซ้ำว่า การกระทำของตัวละคร ผิดหรือถูก แต่คนดูสามารถเรียนรู้ และเลือกที่จะเชื่อ หรือคิดตามการกระทำของตัวละครแต่ละตัว ตามประสบการณ์ตรง และทัศนคติส่วนบุคคลได้ สุดท้ายคนดูจะเข้าใจไปโดยปริยายว่า สิ่งที่ซีรีส์ต้องการจะบอกในแต่ละตอนคืออะไร
มากไปกว่านั้น “ฮอร์โมน” ยังทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นกับคนทุกกลุ่มในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ผู้ปกครองในฐานะ “พ่อและแม่” หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเองก็ตาม เรียกว่าเป็นซีรีส์วัยรุ่น “ตีโจทย์แตก” มากที่สุดในยุคนี้
จนทำให้เกิดซีรีส์วัยรุ่นตามมาอีกหลายเรื่องทั้ง “Love sick” ที่มีมาแล้ว 2 ซีซั่น และนักแสดงวัยรุ่นถือว่าสร้างชื่อเอาไว้ ตัวซีรีส์เป็นความสัมพันธ์ที่เน้นเรื่องของรักในวัยเรียน มีคู่จิ้น “ชายรักชาย” เรียกกระแสและสร้าง กลุ่มตลาดเป้าหมายได้ตรงจุด สำหรับวันรุ่นที่ชอบจิ้นคู่วาย (ชายรักชาย) ถือว่าประสบคงวามสำเร็จในระดับหนึ่ง
ซีรีส์วัยรุ่นอีกหนึ่งเรื่องอย่าง “มาลี เพื่อนรัก..พลังพิสดาร” กับชีวิตของเด็กในโรงเรียนนานาชาติ ไม่ใช่นักเรียนวัยรุ่นในโรงเรียนไทย เนื้อหาเริ่มต้นด้วยการแก้ปม “ความอ่อนด้อย” ในเรื่อง “ภาษาอังกฤษ” ของ “เมษา” รวมถึงยังมีสอดแทรก และสอนเรื่องของการปรับตัว และการเรียนรู้ที่จะยอมรับผู้อื่น มิตรภาพระหว่างเพื่อน ถือว่าเป็นซีรีส์อีกหนึ่งเรื่องที่กระแสตอบรับดี
ความฮอตของละครซีรีส์วัยรุ่นในแต่ละยุค ยังสามารถเป็นตัวชี้วัดความเป็นไปบางอย่างของ “สังคม” ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี