
เอกเขนกดูหนัง:'แม่เบี้ย'
17 ก.ย. 2558
'แม่เบี้ย' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
สิทธิ์ของคนทำหนังอย่างหนึ่งก็คือ เขาสามารถแทรกสอดประเด็นความคิดอ่านลงไปในเนื้องานของตัวเองได้เสมอ และถึงแม้หนังเรื่องนั้นจะสร้างจากเรื่องจริงหรือดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องใดก็ตาม คนทำหนังก็มีสิทธิ์ตีความเรื่องราวนั้นๆ ได้ใหม่ในมุมมองของตนได้เช่นกัน และสำหรับแม่เบี้ย ปีพุทธศักราช 2558 แม้จะถูกสร้างเป็นครั้งหนังที่สามแล้ว แต่นวนิยายเชิงสัญลักษณ์เรื่องนี้ก็ถูกตีความใหม่โดย ‘หม่อมน้อย’ ม.ล.พันธ์เทวนพ เทวกุล อีกอยู่ดี
งูเห่าเฝ้าบ้านเรือนไทยริมน้ำ ในบทประพันธ์ที่ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2530 ถูกสร้างเป็นหนังครั้งแรกปี 2532 (ไม่นับรวมละครเวทีและละครโทรทัศน์) และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 สิ่งที่ปรากฏเห็นเด่นชัดในหนังทั้งสองเวอร์ชั่น นอกจากฐานะอสรพิษร้ายแล้ว ‘คุณ’ ยังเป็นสัญลักษณ์ของตัณหาราคะ ความผิดบาปอันเลวร้ายจากกามกามาทำนองคลองธรรม ที่ปรากฏกายให้เห็นทั้งในรูปแบบการเตือน การคุกคาม และการปกป้องไม่ว่าจะเกิดเหตุขึ้นกับเมขลาเจ้าของเรือนไทยผู้ได้รับมรดกตกทอดมา หรือกระทั่งเด็กหญิงที่กำลังจะถูกกระทำมิดีมิร้ายโดยชายโฉดชั่ว ความลึกลับคลุมเครือของงูพิษร้ายอย่าง ‘คุณ’ ดูจะเป็นคล้ายปริศนาธรรมให้ผู้อ่านและคนดูขบคิด ตีความตามความเข้าใจของตนอย่างเปิดกว้าง แต่พอมาถึง “แม่เบี้ย” ปี’58 ‘คุณ’ ของหม่อมน้อย กลับถูกแทนที่ด้วยการเป็นตัวละครคล้ายสมมุติเทพ มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง ‘นายหญิง’ และบางขณะก็เหมือนสัตว์เลี้ยงเชื่องๆ ที่ยินยอมทำตามคำสั่งโดยง่าย (แม้จะฝ่าฝืนไม่เต็มใจยินยอมก็เป็นแค่บางครั้งคราวเท่านั้น)
ความพยายามที่จะฉายภาพให้ชัด เคลียร์สถานะตัวละครงูให้กระจ่าง เพื่อฉายภาพความวิบัติฉิบหายจากกามราคะของชายหนุ่มหญิงสาว อันเป็นประเด็นในการตีความแม่เบี้ยฉบับหม่อมน้อย ทำให้มีการขยับขยายต่อเติมปูมหลังตัวละคร ‘ชนะชล’ ขณะเดียวกันก็ตัดทอนบางฉากบางตอนที่เน้นย้ำการปรากฏตัวของงูในสถานะขององครักษ์ผู้พิทักษ์ความบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยฉกกัดชายที่พยายามข่มขืนเด็กสาวในบ้าน (แน่นอนว่า ตัวละครนี้ก็ไม่มีอยู่ในแม่เบี้ยเวอร์ชั่นหม่อมน้อย หากถูกเปลี่ยนเป็นภาพลวงตาของวิญญาณโกสุม) การเล่าเรื่องให้กระจ่าง ขับเน้นประเด็นผลกรรมจากการกระทำละเมิดศิลธรรม หมกมุ่นกับตัณหาราคะจนผลาญพร่าชีวิต อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เสน่ห์แห่งความคลุมเครือของ “แม่เบี้ย” ทั้งในฉบับนวนิยาย หนังปี 2532 ที่นำแสดงโดย ลิขิต เอกมงคล และ ภัสสร บุญยะเกียรติ รวมถึงแม่เบี้ยปี 2544 ที่ "มะหมี่" นภคประภา นาคประสิทธิ์ สวมบทเมขลา และ อัครา อมาตยกุล กับบทชนะชล หดหายไปสิ้น ความคลุมเครือที่สามารถสร้างจินตนาการและตั้งคำถามกับความคิดอ่านของคนอ่านหนังสือและคนดูหนังได้อย่างสนุก กลับถูกโน้มน้าวชักจูงด้วยการแก้ไขดัดแปลงแต่งเติมเรื่องราวเดิมแทบจะบิดเพี้ยน รวมทั้งการออกแบบภาพลักษณ์ในหนังที่ดูประดักประเดิดคัดง้างกับสังคมร่วมสมัย (ที่ขัดตามากคือฉากแต่งชุดไทยของเมขลาในบ้านเรือนไทย แม้แขกเหรื่อลูกทัวร์ของเธอจะกลับไปแล้ว แต่เธอและเหล่าบรรดาสาวใช้ยังนุ่งผ้าแถบห่มสไบ เพียงหุงหาอาหารบริการชนะชลในบ้านเพียงคนเดียว แลดูคล้ายเหล่าปีศาจสาวปลอมแปลงจำแลงกายมาเพื่อมอมเมาชายหนุ่ม) แน่นอนว่า รวมทั้ง ‘คุณ’ ที่ฉบับปี 58 ได้กลายเป็นงูยักษ์ที่บางครั้งดูน่าขบขันมากกว่าน่ากลัวยำเกรงไม่นับรวมบทอัศจรรย์ฉากเสพสังวาสที่ใส่เข้ามาแบบเกือบโจ๋งครึ่ม หลายๆ ฉากก็แทบจะไม่ได้มีผลอะไรกับตัวเรื่องโดยเฉพาะฉากร่วมรักหลายๆ ฉากของตัวละครภาคภูมิและการสร้างเรื่องราวเพื่อคลี่คลายปริศนาคาใจของชนะชลในภาคนี้ ไม่เพียงเสน่ห์แห่งความคลุมเครือของตัวละครที่หนังสือและหนังสองเวอร์ชั่นก่อนหน้าที่ได้ถูกทำลายลงไปแล้ว แม่เบี้ยในภาคนี้จึงไม่ต่างจากนิทานสอนใจให้คติข้อคิด เตือนใจ ภายใต้เนื้อหาที่บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาปราศจากชั้นเชิงศิลปะการเล่าเรื่องเช่นที่เคยเป็นมาในงานก่อนหน้าของหม่อมน้อย ในช่วงแรกๆ จนถึงชั่วฟ้าดินสลาย
ความดีงามเพียงหนึ่งเดียวของแม่เบี้ยพ.ศ.นี้ เห็นจะเห็นการคัดเลือกเอา กานต์พิสชา เกตุมณี อดีตรองมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี2552 มารับบทเมขลา วงหน้าคมเข้ม ดวงตากลมโตสวยงามแบบไทยๆ ทำให้เธอดูงดงามและมีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด เป็นเมขลาที่แสนเย้ายวนชวนค้นหามากกว่าในทุกๆ เวอร์ชั่นที่ผ่านมา
นับจาก ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นต้นมา ดูเหมือนหนังของหม่อมน้อยแต่ละเรื่อง แทบจะไม่มีเรื่องไหนที่เข้มข้น จริงจัง เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์อีกเลย ความเฉียบคมในการเล่าเรื่องตลอดสารัตถะของการวิพากษ์สังคมของยุคสมัยดูจะอ่อนล้าโรยแรงไปทุกขณะ มีเพียงความลุ่มหลงในภาพวิจิตรกามาทั้งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเรื่องราวโดยตรงอย่างจันดารา หรือหาเหตุใส่เข้ามาเพื่อเป็นตัวแปรการตัดสินของตัวละครโดยไม่จำเป็นเช่นที่เกิดขึ้นในแผลเก่า กระทั่งดัดแปลงเติมต่อจนแทบจะทำลายหัวใจสำคัญของบทประพันธ์เดิมไปเช่นที่เกิดกับแม่เบี้ย ทั้งที่เมื่อไม่กี่สิบปีก่อน หม่อมน้อยได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้ามากที่สุดคนหนึ่งในวงการหนังไทยเลยก็ว่าได้
.......................................
(หมายเหตุ 'แม่เบี้ย' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)