
'เบตง-ยะลา'สวรรค์กลางหุบเขาใต้สุดแดนสยาม
07 ก.ย. 2558
เบตง-ยะลา สวรรค์กลางหุบเขา ใต้สุดแดนสยาม : คอลัมน์ กฤษนะทัวร์ยกล้อ โดย... กฤษนะ ละไล
เบตงตรงต่างต้อง ตรึงใจ
ตั้งอยู่กลางหุบเขาใน หว่างเวิ้ง
หมอกสวยใส่สีใส สร่างโศก
สู่ใต้สุดแดนสยามเยื้อง ย่านเหย้า มลายู
เมื่อได้มาเยือนเมืองเบตง ใต้สุดแดนสยามที่ จ.ยะลา เป็นครั้งแรกในชีวิต ก็เกิดแรงบันดาลใจให้ต้องหยิบปากกาขึ้นมาเขียนโคลงกลอนบันทึกเอาไว้ถึงความสงบเงียบเรียบง่ายและคลาสสิกสวยงามของเมืองในหมอกที่ตั้งอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขาสันกาลาคีรี ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนชาวเบตงที่ได้รับสมญาว่า “เมืองสามวัฒนธรรม” ทั้งไทย จีน และมลายู ที่อยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบมาเป็นเวลายาวนานกว่าร้อยปี
ต้องบอกตรงๆ ว่าที่ผมได้ไปเยือนเบตงในครั้งนี้ก็ด้วยเหตุบังเอิญโดยแท้เชียว เริ่มจากตอนแรก ท่านรองเอก-พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ฝ่ายกฎหมาย ได้ชวนผมลงพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อไปถ่ายทำการทำงานของพี่น้องตำรวจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและติดตามความคืบหน้าในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา เสร็จจากช่วงเวลางาน รองเอกก็พาผมไปติดตามดูอีกบทบาทหนึ่งของตำรวจ คือ “ตรวจร้าน(อาหาร)อร่อย” ซึ่งเข้าทางผมเลย 55
มื้อเที่ยงวันอาทิตย์ที่เมืองสงขลา รองเอกพาผมไปชิม เอ้ย..ไปตรวจร้านอร่อยกันที่ร้านอาหารสไตล์ไทยแต้จิ๋วที่เปิดขายกันมาเก่าแก่เกือบ 80 ปี ชื่อร้าน “แต้เฮี้ยงอิ๊ว” อยู่ย่านถนนนางงาม เมืองสงขลา ร้านนี้ทั้งคนในถิ่นและคนต่างถิ่นรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไปสงขลาต่างก็ติดอกติดใจในฝีมือการทำอาหารของร้านนี้ โดยมีเมนูเด็ดตัวชูโรง คือ ยำมะม่วงเบา ต้มยำแห้งท้องปลากะพง เนื้อปูผัดพริก ผัดผักบุ้งไทย ฯลฯ และที่ผมรู้สึกฟินมากอีกเมนูหนึ่งคือ “ปลากระบอกไข่ระเบิดทอด” โอ้ว..หร่อยจังฮู้
แต่เดิมตั้งใจกันไว้ว่าพอกินมื้อเที่ยงเสร็จก็จะเดินทางไป กราบนมัสการหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ที่วัดช้างให้ จ.ปัตตานี จากนั้นค่อยกลับมานอนค้างคืนที่สงขลา แต่ระหว่างที่กำลังนั่งรับประทานอาหารที่ ร้านแต้เฮี้ยงอิ๊วกัน อยู่นั้น รองเอกก็ถามผมว่า เคยไปเมืองเบตง จ.ยะลา บ้างหรือยัง ผมตอบท่านไปว่ายังไม่เคยไปเลยครับ ท่านก็เลยชวนผมว่าสนใจอยากไปเบตงมั้ย แล้วคราวหน้ามีโอกาสค่อยไปปัตตานี เพราะเบตงไปยากกว่า ไม่ใช่จะไปกันได้ง่ายๆ เนื่องจากระยะทางที่คดเคี้ยวยาวไกล แต่ตอนนี้เรามาถึงสงขลาแล้ว นั่งรถต่อไปเบตงก็อีกไม่ไกลเท่าไหร่ ผมก็เลยใจง่ายตอบตกลงท่านรองเอกไปทันทีว่าท่านไปผมก็ไปครับ
การเดินทางไป อ.เบตงในปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้เส้นทางรถยนต์จากเมืองสงขลา ไปผ่านด่านพรมแดนไทย-มาเลเซียที่ อ.สะเดา เข้าสู่เขตแดนของมาเลเซียที่รัฐเกดะห์ ผ่านรัฐเประ ก่อนจะวกเข้าสู่ดินแดนใต้สุดเมืองสยามที่ อ.เบตง ก็ต้องใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 3 ชั่วโมง
คณะเราเดินทางไปถึงเมืองเบตง ในเวลาใกล้ 6 โมงเย็น บรรยากาศกำลังโพล้เพล้ อากาศกำลังเย็นสบาย อุณหภูมิน่าจะสักประมาณ 27 องศา ผมทอดสายตาออกไปในยามสายัณห์รัญจวน มองเห็นหมอกสีขาวหยอกล้อกับขุนเขาที่อยู่รายล้อม ช่างสวยงามเพลินตาเพลินใจ ก่อนจะเดินเข้าไปพักผ่อนล้างหน้าล้างตาในโรงแรมแกรนด์แมนดารินสักพัก รองเอกก็พาผมและทีมงานออกเดินสำรวจตรวจเบตงยามราตรี
แม้ว่าผมออกจะเสียวๆ อยู่บ้าง เพราะเคยอ่านข่าวสถานการณ์ความไม่สงบในเขต 3 จังหวัดใต้สุด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส อยู่บ่อยๆ เดี๋ยวก็ตู้มที่นั่น ที่นี่ แต่เมื่อได้มาสัมผัสเบตงเข้าจริงๆ ได้เห็นรอยยิ้ม ความเป็นมิตร และเป็นกันเองจากคนในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียที่เข้ามาเที่ยวเบตง รวมทั้งการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่แล้วก็ยิ่งทำให้ผมอบอุ่นมั่นใจ เดินฝ่าแสงไฟยามราตรีไปสำรวจไนท์ไลฟ์ของชาวเบตงกับรองเอกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
เข็นกันไปคุยกันไป ทักทายชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวในเมืองเบตงไปเพลินสองเพลิน ก็เดินมาถึงหอนาฬิกาสัญลักษณ์เมืองเบตง มีฝูงนกนางแอ่นที่บินหนีหนาวมาจากไซบีเรียนับหมื่นตัวกระจายรายล้อมอยู่บนสายไฟรอบๆ หอนาฬิกาแห่งนี้ ช่วยแต่งแต้มสีสันบรรยากาศให้เบตงทรงเสน่ห์ยิ่งขึ้นไปอีก
ข้างๆ หอนาฬิกา ยังมีตู้ไปรษณีย์ยักษ์อายุเกือบร้อยปี มีการจารึกเอาไว้ว่าเป็น ตู้ ปณ.ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวเบตงสมัยก่อนนิยมติดต่อสื่อสารกับญาติมิตรและโลกภายนอกด้วยการเขียนจดหมายส่งถึงกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ตู้ไปรษณีย์ที่เบตงมีขนาดใหญ่กว่าทุกแห่งในโลก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีสื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่ แต่ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ที่เบตงก็ยังเปิดให้บริการรับส่งจดหมายตามปกติ
น่าเสียดายที่ผมนอนค้างเบตงเพียงแค่คืนเดียวและมีกำหนดการไปเยี่ยมชมจุดต่างๆ หลายแห่ง ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้ไ ปกราบนมัสการพระมหาธาตุเจดีย์ และรูปปั้นหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ที่วัดพุทธาธิวาส ในเมืองยะลา ซึ่งท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา ผู้สร้างพระรูปหล่อหลวงปู่ทวด รุ่นเบตง เลขใต้ฐาน ปี 2505 อันโด่งดัง ท่านเคยบอกผมเสมอว่าถ้ามีโอกาสไปเบตงต้องอย่าลืมแวะไปกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพุทธาธิวาสนี้ด้วย ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ในทันทีว่าเห็นทีจะต้องหาโอกาสกลับไปเยือนเบตงอีกซะแล้ว
........................................
(หมายเหตุ “เบตง-ยะลา” สวรรค์กลางหุบเขา ใต้สุดแดนสยาม : คอลัมน์ กฤษนะทัวร์ยกล้อ โดย... กฤษนะ ละไล)