บันเทิง

'ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ'

'ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ'

03 ก.ย. 2558

'ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
          ในวันนี้ที่ค่ายหนังจีทีเอช กลายเป็นแบรนด์ที่ได้การยอมรับจากคนดูหนังและมีรอยัลตี้หรือความภักดีจากแฟนๆ ที่ติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่น และนับจากนี้ไปไม่ว่าจีทีเอชจะทำหนังอะไรออกมา แฟนหนังก็จะพร้อมใจกันตีตั๋วเข้าโรงไปดูโดยไม่ต้องเสียเวลาตัดสินใจหรือพิจารณาองค์ประกอบใดใด ในการเข้าไปดูหนังจากค่ายนี้
 
          ด้วยความยาวร่วมสองชั่วโมง (ซึ่งอาจจะยาวกว่ามาตรฐานหนังค่ายจีทีเอช) เป็นงานของผู้กำกับอิสระที่ทำหนังนอกกระแส สื่อสารกับคนดูเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก (แต่ก็เคยมีผลงานร่วมเขียนบทในหนังจีทีเอชมาหลายเรื่อง) การร่วมงานกันระหว่างค่ายหนังที่เก่งกาจด้านการตลาดเน้นทำหนังในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก กับผู้กำกับที่ทำงานเพื่อสื่อสารความคิดตัวเองมากกว่าจะทำงานเอาใจตลาดหรือคนดูในวงกว้าง และสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนหนังหรือผู้ชมของเขาผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อกระแสหลัก พาหนังตัวเองไปหาคนดูเฉพาะกลุ่มในพื้นที่จำกัด จึงกลายเป็นคำถามที่ตามมาว่า ความประนีประนอมทางธุรกิจและมุมมองทางศิลปะระหว่างนายทุนและคนทำหนังจะเกิดขึ้นได้แค่ไหน แบ่งน้ำหนักอย่างไร หรือมีสัดส่วนโน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง สำหรับผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือการพยายามรักษาตัวตนคนทำหนังโดยให้คุณค่าทางศิลปะมากกว่ารายได้เชิงพาณิชย์
 
          ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ คือส่วนผสมที่งดงามที่สุดของการเป็นหนังพาณิชย์ศิลป์เรื่องหนึ่ง (อาจจะต้องรอดูกันต่อไปว่ารายได้ของหนังจะแตะเพดานร้อยล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขเบรกอีเวนท์ของค่ายนี้หรือไม่) ประเด็นของหนังไม่ได้ใหญ่โตหรือมองโลกในแง่งามตามสายตาสังคมในอุดมคติ หากแต่พูดถึงเรื่องง่ายๆ อย่างการมองเห็นคุณค่าของชีวิตผ่านความรักในโลกแห่งความเป็นจริงที่ตัวละครเผชิญอยู่ และงานสร้างของหนังเองก็ไม่ได้ประดิดประดอยถักร้อยให้สวยงามราวกับถอดมาจากมิวสิกวิดีโอหรือภาพถ่ายสวยๆ ในแกลเลอรี่มาแบบฉากต่อฉาก หากแต่จัดวางตามความเป็นจริงในมุมที่เรามองเห็นหรือในสังคมแวดล้อมที่ตัวละครดำรงอยู่ (ที่ชัดมากๆ คือฉากในโรงพยาบาลและบ้านของยุ่น ตัวละครเอกที่ปรากฏอยู่ในหนังทุกฉากเลยก็ว่าได้)
 
          ‘เต๋อ’ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ใช้ไวยากรณ์ทางภาพยนตร์ในการเล่าเรื่องและสื่อความหมายในหนังได้อย่างเอกอุ ทั้งการถ่ายภาพ ตัดต่อ และเสียง(ทั้งเสียงดนตรีและเสียงบรรยากาศรายล้อม)ไปจนถึงองค์ประกอบศิลป์อื่นๆ เมื่อตัวละคร‘ยุ่น’กราฟฟิกดีไซน์หนุ่มรับจ้างอิสระคือศูนย์กลางของหนัง เขาก็ไม่ลังเลที่จะใช้งานกำกับภาพติดตามตัวละครนี้ไปจนจบ หนังตัดภาพแต่น้อย แม้ในฉากสนทนาเขาก็ใช้การแพนกล้องไปมาระหว่างตัวละครมากกว่าที่จะตัดภาพรับหน้าคู่สนทนาเป็นคัทๆ ไป และที่ทำได้ดีที่สุดคือฉากสนทนาระหว่าง ‘ยุ่น’ และ ‘เจ๋’ เพื่อนร่วมงานสาว เมื่อคราวที่ต้องรับงานตบแต่งภาพครั้งสำคัญของเธอ และการตัดต่อที่ถือว่าใช้ภาษาภพยนตร์ได้โดดเด่นมากๆ คือการจังหวะการตัดต่อในทุกฉากที่ ‘ยุ่น’ เจอกับหมอ‘อิม’ :7j’เต็มไปด้วยชั้นเชิงทางศิลปะที่นักเรียนหนังน่าจะหาโอกาสมาดู ฉากแรกที่พวกเขาเจอกัน หนังแช่ภาพไว้ที่ยุ่นเป็นส่วนใหญ่ฉากต่อๆ มาหนังตัดให้เห็นหน้าหมออิมมากขึ้นแต่ท้ายคัทภาพจะไปจบที่ยุ่นเสมอ จนกระทั่งในฉากสุดท้าย จังหวะการตัดต่อก็เปลี่ยนไป…
 
          เรื่องของดนตรีประกอบก็เช่นกัน นี่คือหนังที่ใช้ดนตรีประเภททำน้อยได้มาก หมายถึงการใช้ดนตรีประกอบแต่น้อย หากแต่ส่งผลทางอารมณ์อย่างมากมายมหาศาล โดยมีอิทธิพลจากงานเก่าๆ ของ ‘เต๋อ’ อยู่ทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดนตรีอะคูสติกจากเครื่องสายเพียงไม่กี่ชิ้นในตอนต้นเหมือนใน “36” หนังยาวเรื่องแรกของเขา หรือการใช้เพียงบีทของเสียงกลองเช่นเดียวกับ “แมรี่ อีส แฮปปี้ แมรี่ อีส แฮปปี้” (นักดูหนังหลายคนอาจจะนึกถึงหนังรางวัลออสการ์เรื่อง “เบิร์ด แมน” แต่รับรองว่า “แมรี่ อีส แฮปปี้” เอามาใช้ก่อน) แต่พอท้ายเรื่องดนตรีประกอบก็บรรเลงกันมาเต็มแบบครบเครื่อง อีกทั้งยังเล่นกับโซเชียลมีเดียร่วมสมัย ที่นำเอาทั้งเฟซบุ๊ก, ไลน์, เฟสไทม์ มาใช้ในหนังได้อย่างไม่ขัดเขิน
 
          ถึงแม้ตัวละครจะมีอาชีพกราฟฟิคดีไซน์อิสระ แต่องค์ประกอบฉากหลักก็ไม่ได้ตกแต่งอย่างเลิศหรูงดงามด้วยรสนิยมแบบคนทำงานศิลปะ หากแต่จัดวางอย่างธรรมดาเรียบง่าย เพราะจริงๆแล้ว‘ยุ่น’ก็เป็นแค่มือรีทัชภาพผ่านโปรแกรมโฟโต้ชอป ไม่ได้เป็นผู้กำกับศิลป์ที่เปี่ยมด้วยมุมมองทางศิลปะแต่อย่างใด และโดยเฉพาะฉากในสถาบันโรคผิวหนัง ที่จำลองมาได้อย่างเหมือนจริง(หรืออาจเข้าไปถ่ายทำในสถานที่จริง) ที่ผู้คนแออัด พลุกพล่าน ภายใต้สถานที่คับแคบอับทึบเหมือนสถานพยาบาลของรัฐทั่วไป(โดยเฉพาะห้องตรวจของหมอที่เป็นแค่คอกแคบๆ)
 
          แต่โดดเด่นและทำให้หนังเรื่องนี้มีเสน่ห์อย่างร้ายกาจก็คือการคัดเลือกนักแสดงในบทสำคัญทั้ง ‘ยุ่น’ (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ‘เจ๋’ (วิโอเล็ต วอเทียร์) ‘หมออิม’ (“ใหม่” ดาวิกา โฮร์เน่) กับการแสดงอันแสนจะธรรมชาติมีความเป็นมนุษย์มนาที่เข้าถึงและจับต้องได้อันสุดจะยอดเยี่ยมของพวกเขา ส่วนหนึ่งมาจากบทสนทนาที่เขียนมาให้เหมาะกับตัวละครหรือไม่ก็ปรับใช้มาจากตัวตนจริงๆของแต่ละคน หรือไม่ก็รีเสิร์ชมาจากคนในอาชีพนั้นจริง (โดยเฉพาะบทหมออิม) ไม่แปลกใจหากปีหน้าจะมีชื่อของคนทั้งสามปรากฎในฐานะผู้เข้าชิงรางวัลทางการแสดงสาขาใดสาขาหนึ่งจากเวทีประกาศผลต่างๆ แน่นอนว่ารวมถึงสาขาผู้กำกับที่มีชื่อของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ รวมอยู่ด้วย
 
.......................................
(หมายเหตุ'ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)