บันเทิง

เวที‘วิกแสงจันทร์’จุดสุดท้ายหยุดลมหายใจ‘สุรพล สมบัติเจริญ’

เวที‘วิกแสงจันทร์’จุดสุดท้ายหยุดลมหายใจ‘สุรพล สมบัติเจริญ’

17 ส.ค. 2558

เวที "วิกแสงจันทร์” จุดสุดท้ายหยุดลมหายใจ "สุรพล สมบัติเจริญ"

 
          ตีหนึ่ง ของวันที่ 16 สิงหาคม 2511 ย่างเข้าสู่วันที่ 17 สิงหาคม ย้อนหลังไป 47 ปีที่แล้ว ข่าวที่สร้างความตกใจและเสียใจให้แก่แฟนเพลงลูกทุ่งทั้งประเทศ คือ ราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต หลังทำการแสดงที่วิกแสงจันทร์เสร็จ ที่ถนนมาลัยแมน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เหตุการณ์นั้นยังอยู่ในความทรงจำของศิษย์สุรพลและแฟนเพลงไม่ลืม
 
          ทีมข่าวบันเทิง "คม ชัด ลึก” กลับไปดูสภาพ "วิกแสงจันทร์” ในปัจจุบันและเรื่องราวคืนที่สูญเสียครูไปอย่างไม่มีวันกลับ จากปากคำของ พนมไพร ลูกเพชร และแฟนเพลงชาวนครปฐมที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์
 
          “วันที่ครูสุรพลเสียชีวิต วันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่ท่านไปแสดงที่วิกแสงจันทร์ ซึ่งเป็นวิกกลางแจ้ง อยู่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ตรงข้ามกับวัดหนองปลาไหล ตอน 9 โมงกว่าวันนั้น ครูขับรถประจำตัวจากบ้านที่วงเวียนใหญ่ จะไปเยี่ยมคุณพ่อของครูด้วย เพราะกลางคืนเล่นดนตรีอยู่กำแพงแสน สมัยนั้นเส้นทางจากพระปิ่นเกล้าไปยังสุพรรณฯ ไม่มี ต้องวิ่งไปเส้นมาลัยแมน นครปฐมถึงจะไปสุพรรณบุรี ครูไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมพ่อเพราะงานจะเยอะมาก พอไปเล่นใกล้ๆ ท่านเลยถือโอกาสไปเยี่ยมพ่อด้วย
 
          ตอนนั้นครูมีลูกบุญธรรมคือ ละอองดาว-สกาวเดือน (โสธรบุญ- นักร้องฝาแฝด) นั่งไปด้วย ครูไปแวะตลาดที่สุพรรณฯ ก่อนเข้าบ้านเพื่อไปซื้อเสื้อผ้าอาหารฝากพ่อครู ไปถึงบ้านก็ 11 โมงเศษ หลังกินข้าวกับพ่อแล้วก็ให้น้องๆ เอาเสื่อมาปูกลางบ้านเลย บ้านครูเป็นบ้านทรงไทยหลังใหญ่ แล้วก็ให้ละอองดาวตัดเล็บให้ ท่านก็คุยกับพ่อว่า ผมพูดเล่นๆ กับแฟนเพลงหน้าเวทีว่าจะสมัครผู้แทนฯ ถ้าแฟนเพลงเห็นด้วยปรบมือหน่อย แฟนๆ ก็ปรบมือกันสนั่น พ่อของครูก็ถามว่าแล้วเราจะสมัครจริงหรือเปล่า อย่าพูดเล่นไปเดี๋ยวคนที่เขาสมัครจะส่งคนมาเก็บเอา พอเวลาประมาณ 4-5 โมงเย็นครูก็ลาพ่อเพื่อที่จะมาที่วิกแสงจันทร์ ขากลับจากสุพรรณฯ ต้องผ่าน อ.สวนแตง ซึ่งแฟนเพลงท่านเยอะมากที่นี่ ครูเลยแวะเยี่ยมแฟนเพลง แฟนเพลงพอรู้ว่าครูไป ก็ทำกับข้าวมาต้อนรับกันเต็มไปหมด พอทุ่มเศษๆ ท่านก็ลาแฟนเพลงซึ่งครั้งนั้นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่แฟนเพลงชาวสวนแตงได้เจอและกินข้าวกับครู”
 
          พนมไพร ลูกเพชร เจ้าของเสียงเพลง “เพราะน้องพี่จึงร้องไห้” “ไม่ลืมท่ายาง” และ “น้ำอ้อยหยดสุดท้าย" นักร้องศิษย์สุรพล กล่าวย้อนถึงความหลังได้อย่างแม่นยำต่อว่า
 
          “ครูมาถึงที่วงประมาณ 2 ทุ่มเศษๆ แฟนเพลงเยอะมากๆ แน่นไปหมดเลย เก้าอี้หมดก็ยืนดูกัน เด็ก 5 บาทผู้ใหญ่ 10 บาท วิกแสงจันทร์จะเป็นรั้วไม้ลวก รถบัสของวงจอดติดหลังเวที แต่รถของครูมาทีหลังแล้วแฟนเพลงเต็มไปหมด ครูก็เกรงใจแฟนเพลงไม่เอารถมาจอดหลังเวทีเหมือนทุกครั้ง ท่านเลยเอาไปจอดตรงข้ามกับวิกแสงจันทร์ ท่านก็เดินมาที่วงระยะประมาณ 300 เมตรได้
 
          ปกติทุกงานที่ไปท่านจะร้องเพลงเวลา 4 ทุ่มตรง แต่วันนี้ครูมาถึงวง 2 ทุ่มเศษ ท่านก็ให้ละอองดาวเอาชุดสูทมาท่านจะแต่งตัว พวกเราก็สงสัย ทำไมวันนี้ครูจะร้องเร็ว พวกผมก็ต้องเตรียมตัวเพราะครูจะร้องเพลง "สุรพลมาแล้ว” เป็นเพลงแรก ผมเป็นลูกคู่ด้วย พอครูแต่งตัวเสร็จ ท่านก็เดินออกทางซ้ายมือหลังเวที เดินอ้อมหลังแฟนเพลงจนสุดเลยนะแล้วมาเข้าทางขวามือ จริงๆ ครูไม่เคยทำแบบนี้นะ พอมาถึงท่านก็ลากเก้าอี้มานั่งและก็หลับ ปกติท่านไม่เคยนั่งหลับนะ จน 3 ทุ่มครึ่ง ครูทองใบ  (รุ่งเรือง) ก็มาปลุกก็ล้างหน้าล้างตาหวีผมใหม่ พอโฆษกประกาศว่า ต่อไปนี้แฟนเพลงจะได้พบกับราชาเพลงลูกทุ่งที่แฟนเพลงขนานนามให้ตั้งแต่ที่ชนะเลิศประชันวงที่วัดสนามไชย  พอท่านออกมาหน้าเวทีแฟนเพลงปรบมือ มีคุณพ่อเล็กจากกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ซึ่งครูสุรพลเรียกพ่อ มาคล้องมาลัยเป็นพวงแรก เป็นริบบิ้นสีธงชาติ มีพวงมาลัยมะลิสดและก็แบงก์ร้อยข้างละใบ แฟนเพลงก็คล้องจนมองไม่เห็นหน้า ต้องขออนุญาตแฟนเพลงเพื่อถอดมาลัยออก ทุกเวทีท่านจะต้องร้องเพลง “สุรพลมาแล้ว” เป็นเพลงแรก แต่คืนนั้นท่านบอกว่าท่านจะร้องเพลง "16 ปีแห่งความหลัง” เป็นเพลงแรก เพลงนี้ผมรักมากและจะร้องจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ท่านพูดหน้าเวที จากนั้นก็ร้องเพลง “สุรพลมาแล้ว”  “คนหัวล้าน” “สาวสวนแตง” ทั้งหมด 8 เพลง เพลงสุดท้ายธรรมดาท่านจะร้องเพลงรำวงจนจบแล้วก็ปล่อยนักร้องในวง แต่คืนนั้นแฟนเพลงของเพลง "แฟนจ๋า” มา ท่านก็ร้องเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้าย จากนั้นก็ให้พวกละอองดาว สกาวเดือน กังวาลไพร ศรีไพร คือนักร้องที่มีชื่อเสียงท่านจะปล่อยเอง พอเตี้ย บางเตย ร้องเพลง “คนเตี้ยก็มีหัวใจ” เป็นอันรู้กันว่าคอนเสิร์ตจบแล้ว”
 
          นักร้องจากเมืองราชบุรีวัย 72 ปี เล่าทิ้งท้ายว่า
          "ตัวผมอยู่บนเวทีเพราะต้องช่วยกันเก็บเครื่องดนตรี ครูก็เดินออกไปพร้อมกับแฟนเพลง ครูทองใบ รุ่งเรือง ปราณบุรมย์ นักธุรการหลานท่าน รถครูจอดอยู่ตรงข้ามกับวิกแสงจันทร์ ตอนนั้นหลังจากเก็บเครื่องดนตรีขึ้นรถเสร็จ นักดนตรี นักร้องก็ขึ้นไปบนรถหมดแล้ว สมัยก่อนใช้ไฟ 10 แรงเทียน มันก็มืด ผมกับ ศักดิ์ชาย วันชัย  ศรีไพร ลูกราชบุรี ยืนปัสสาวะกันอยู่ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมา 4 นัด ผมก็พูดกับศรีไพรว่าที่นี่ดุจัง คนเยอะแยะทำไมต้องยิงกันด้วย ไม่รู้ว่าเขายิงครู สักพักมีแม่ค้าที่ขายกล้วยแขกวิ่งมาบอกที่รถบัสว่า เร็วครูสุรพลถูกยิงเท่านั้นล่ะโกลาหลเลย ผมก็วิ่งไปที่รถครู พอไปถึงผมใจหายวูบเลย รถครูประตูยังไม่ปิด ครูนั่งตรงที่คนขับเท้าขวาอยู่บนพื้นดิน ศีรษะท่านเอียงจากเบาะมาทิ่มลงที่ดิน ผมนั่งคุกเข่ายกศีรษะครูมาวางบนเข่าผมว่าทำไมมันอุ่นๆ เลือดครูเต็มกางเกงผม พี่ชายครูก็มาอุ้ม ตอนนั้นเสียงระงมไปหมด ลูกศิษย์ แฟนเพลงร้องไห้สาปแช่งคนยิง แฟนเพลงเขาแค้นกันมาก พอเจ้าหน้าที่ชันสูตรก็เอาศพท่านไป รพ.ประจำจังหวัดนครปฐม ครูทองใบก็ขับรถครูไปบอกพี่ศรีนวล (ภรรยาครู) ที่กรุงเทพฯ แล้วก็เอาศพครูมาไว้ที่วัดปากน้ำ”
 
          ลุงสุวรรณ โตลิ่ม วัย 60 เศษ แฟนเพลงที่ดูคอนเสิร์ตสุรพลเล่าว่า
          “พอร้องเพลงเสร็จสุรพลเขาก็เดินออกไป ตอนนั้นผมอายุ19 ค่าดู 8 บาท ดูเสร็จก็เดินจะกลับบ้านอยู่หน้าวิกดนตรีพอดี ได้ยินเสียงปืนก็วิ่งเข้าไปดู สุรพลเขาตายแล้ว นอนพิงเบาะ คนยิงก็หนีเข้าซอยไปเลย”
             
          สุนี กุลสืบ เล่าวันเกิดเหตุว่า “ตอนนั้นฉันอายุ 20 กว่าๆ ช่วยพ่อแม่จัดร้าน บ้านติดกับรั้ววิกแสงจันทร์  ที่เรียกวิกแสงจันทร์เพราะคนเช่าเขาชื่อแสงจันทร์ เขาปิดวิก มีหนัง มีดนตรี เขาก็จ้างแม่ฉันหุงข้าวให้นักดนตรีกินประจำเวลาเขามาเล่นที่นี่ คืนนั้น พอเขาแสดงเสร็จเขาก็เดินออกมาข้างนอก คนเยอะมาก ร้านค้าก็เยอะ สุรพลก็เดินข้ามไปฝั่งตรงข้าม เขาจอดรถไว้ตรงนั้น ตอนนั้นฉันเก็บร้านอยู่ คนก็บอกกันว่าสุรพลโดนยิง มันมืดมากตอนนั้นก็ตีหนึ่งแล้ว จุดที่โดนยิงเขาจะขุดเป็นหลุมกลมๆ พอพวกเล่นดนตรีเขาผ่านมาแถวนี้เขาก็จะเอาข้าวไปให้ ทำกันอยู่นาน วงไหนผ่านมาก็ทำ พอมีสร้างถนนก็ถูกกลบไปแต่ก็รู้กันว่าตรงไหนที่สุรพลถูกยิง”