
เอกเขนกดูหนัง:'มนต์เลิฟสิบหมื่น'
23 ก.ค. 2558
'มนต์เลิฟสิบหมื่น' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ท่ามกลางความอ้างว้างร้างไร้หนังไทยดีๆ หรือแม้แต่หนังที่พอจะหาความสนุกเบิกบานสำราญใจได้สักเรื่องก็ยังลำบาก เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน การปรากฏตัวของหนังตัวอย่าง “มนต์เลิฟสิบหมื่น” ความหวังเล็กๆก็พลันบันเกิด เมื่อฉากตลกขบขันหลายฉากถูกตัดมาเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปิดท้ายด้วยฉากร้อง-เต้น ประกอบเพลงคลาสสิคอย่าง “สิบหมื่น” แฟนหนังไทยก็ยิ่งตั้งความหวังว่า มนต์เลิฟสิบหมื่น น่าจะกลับมากอบกู้สถานการณ์หนังไทยที่กำลังซบเซาเงียบเหงาให้ฟื้นกลับคืนมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้บ้าง และเมื่อถึงกำหนดฉาย...ความหวังที่ว่าก็พอจะเห็นแสงเรืองรอง แต่ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปในสุดสัปดาห์นี้ว่า มนต์เลิฟสิบหมื่น จะสามารถกวักมือเรียกผู้ชมให้กลับมาดูหนังไทยได้อย่างคึกคักอีกครั้งหรือไม่
จะว่าไป “มนต์เลิฟสิบหมื่น” ไม่เลวทีเดียวสำหรับการรีเมคหนังเพลงคลาสสิคอย่างมนต์รักลูกทุ่ง ไม่เพียงคนทำจะตีความหรือทดลองเล่าเรื่องในแนวทางที่ต่างจากของเดิมออกไปบ้าง โดยเฉพาะความพยายามขยายขอบเขตปริมณฑลสถานะของหนังเพลง-ตลกแบบมนต์รักลูกทุ่งออกไปให้สุดทาง
แม้นชื่อเสียงเรียงนามตัวละคร จะถอดแบบมาจากมนต์รักลูกทุ่งทุกกะบิ ตั้งแต่พระ-นาง ไอ้คล้าว ทองกวาว ตัวละครลูกไล่ อย่างไอ้แว่น บุปผา หมู่น้อย กำนันทองก้อน ไอ้เจิด ไอ้หมึก ฯ มีโครงเรื่องบางๆที่คล้ายคลึงกันอันว่าด้วยความรักหนุ่มสาวที่ฐานะชนชั้นมาเป็นเครื่องกีดกัน และถึง “มนต์เลิฟสิบหมื่น” จะบอกกลายๆว่าเป็นหนังย้อนยุค ผ่านอุปกรณ์ประกอบฉาก ฉากหลังของท้องทุ่ง บ้านช่องเรือนชานในจังหวัด เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆของชาวหมู่บ้านหนองตับเต่า ช่วงเวลาในหนังก็ไม่ได้ถอยหลังย้อนไปไกลในช่วงปี พ.ศ. 2513 ที่มนต์รักลูกทุ่งออกฉาย หากแต่ขยับมาใกล้ขึ้นโดยระบุวันเวลาไว้ราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2520 ในฉากเวทีแสดงดนตรีของไอ้แว่นและพรรคพวกในงานบวชก่อนจะเกิดเหตุตะลุมบอนกับไอ้เจิดและลูกน้องตามมา
ใช่ว่า มนต์เลิฟสิบหมื่น จะดำรงสถานะหนังย้อนยุคโดยคำนึงถึงความถูกต้องของยุคสมัยตามวันเวลาที่เกิดขึ้นในเรื่องไม่ เพราะบริบทรอบด้านล้วนเต็มไปด้วยความร่วมสมัยในปัจจุบัน ทั้งเสื้อผ้าของตัวละครบางคน (โดยเฉพาะจิ๊กโก๋ ผอมแห้งร่างบอบบาง ตัวละครไร้นาม ไร้ที่มา มักโผล่มาสร้างสีสันขโมยซีนในท่าเต้นที่ทั้งยั่วยวนและยียวนเรียกเสียงฮาในฉากเต้นรำทุกครั้งไป) ภาษาพูด และเสียงประกอบที่นำมาจากโซเชียลมีเดีย ที่สำคัญคือเพลงที่ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ในจังหวะเทคโนแดนซ์สนุกๆ มีการออกแบบลีลาท่วงท่าของการเต้นรำสมัยใหม่ ซึ่งเห็นได้ชัดคือฉาก ร้องเพลง “สิบหมื่น”กลางตลาด ของไอ้คล้าวและพลพรรค รวมถึงฉากสุดท้ายของรถสองแถว ที่นำเอาบริบทปัจจุบันมาใช้ในหนังได้อย่างสนุกสนานโดยไม่รู้สึกขัดหูขัดตาสักเท่าใดนัก รวมถึงฉากไอ้แว่นกลับมาจากเมืองกรุง มุ่งหน้าไปหาคนรักครวญเพลงให้เธอฟัง ฉากเหล่านี้มองอย่างผิวเผิน อาจจะเป็นจับแพะ ชนแกะ แค่มุกตลกสนุกๆในหนัง หากแต่มองอย่างจริงจัง มันเป็นทั้งการทดลองเล่นกับองค์ประกอบร่วมสมัย และขยายขอบเขตของหนังเพลงออกไป ทั้งเรื่องของสไตล์และเทคนิค(ชัดมาก คือการจัดท่าเต้นแบบมิวสิคัลของสิบหมื่นและเทคนิคการตัดต่อ)
แม้จะมองว่า “มนต์เลิฟสิบหมื่น”คือการยำใหญ่“มนต์รักลูกทุ่ง” บางคนอาจรู้สึกว่าเป็นการลบหลู่ด้วยซ้ำ แต่นี่คือการแสดงความคาราวะงานชั้นครูต่างหาก ไม่เพียงแคปชั่นท้ายเรื่องในเอนด์เครดิตที่ปรากฎข้อความชัดแจ้งแล้ว หากทำความรู้จักปูมหลังของผู้กำกับ ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ หรือ‘โต๊ะ พันธมิตร’ นักพากษ์ที่ลองมาจับงานกำกับหนังไทยเป็นเรื่องที่สองเข้าไปแล้ว(เรื่องแรก รักสุดทีน) จะพบว่าเขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการอนุรักษ์ฟิล์มต้นฉบับ “มนต์รักลูกทุ่ง” ของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ มาโดยตลอด อีกทั้งพยายามเก็บสำเนาเพื่อรักษาหนังต้นฉบับให้สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด และยังเป็นนักสะสมข้าวของเกี่ยวกับหนังตัวยง ทั้งโปสเตอร์ สื่อบันทึกเสียงของนักพากษ์เมื่อครั้งอดีตมากมาย ขนาดที่สามารถจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ได้เลยทีเดียว
ด้วยความที่งานพากษ์หนังคือชีวิต ใน “มนต์เลิฟสิบหมื่น” เราจึงได้เห็นตัวละครมีบทบาทกับงานพากษ์หนัง ทั้งไอ้แว่นที่พยายามเอาดีกับการเป็นนักพากษ์ หรือบรรยากาศของการดูหนังกางแปลงสมัยก่อน การทำเสียงประกอบระหว่างพากษ์หนังเมื่อครั้งอดีต ผ่านฉากไอ้คล้าว ไอ้หมึก ที่จับพลัดจับผลูมาพากษ์หนังกับเขาด้วย ที่สำคัญคือการนำนักพากษ์เจ้าของเสียงที่เราคุ้นเคยมารับบทบาทในเรื่อง ตั้งแต่ ‘น้าติ่ง’ สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล เจ้าของเสียงพากษ์แหลมเล็ก คาแรคเตอร์ตัวตลกในหนังจีน ฝรั่ง มากมายหลายเรื่อง มารับบทกำนันติ่ง หรือกระทั่ง ‘อาเกรียง’ เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง (ท่านนี้ อาจจะคุ้นเคย เพราะปรากฏตัวในหนังและละครมาแล้ว
หลายเรื่อง) กับเสียงพากษ์อันเป็นเอกลักษณ์ ผู้ให้เสียงพากษ์ ‘อู๋ม่งต๊ะ’ ในหนังจีนทุกเรื่องที่แม้จะผ่านมานานหลายปีคอหนังจีนยังจดจำกันได้จนทุกวันนี้ ก็มาในบทไอ้หมึกลูกน้องกำนันทองก้อน รวมถึง ‘พี่พา’สุรพร ใจรัก เจ้าของเสียงพากษ์บทนางเอก และเสียงเด็กมากมาย ก็มารับบทคุณนายทับทิม เมียกำนันทองก้อน
ไม่เพียงแค่เพลงลูกทุ่งคลาสสิคที่คุ้นเคย น้ำเสียงจากตัวละครที่เราเคยเห็นบนจอ มุกตลกอีกมากมาย ทั้งเล่นมุกอักษรย่อ มุกท่าเต้น ฯลฯ องค์ประกอบครบเครื่องความสนุกขนาดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มนต์เลิฟสิบหมื่น น่าจะเป็นหนังไทยที่รายได้ให้เป็นที่น่าชื่นใจบ้างในปีนี้
.......................................
(หมายเหตุ 'มนต์เลิฟสิบหมื่น' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)