
'เรตติ้งละคร น13+กลับคืนจอ'
15 ก.ค. 2558
'เรตติ้งละคร น13+กลับคืนจอ' : คอลัมน์ มายาวิชั่น โดย... เทพิตา
การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ไทย หรือเรียกสั้นๆ ว่า การจัดเรตติ้ง นั้น ปกติสำหรับแวดวงละคร ที่มีให้เห็น ถ้าไม่เป็นเรต ท ทุกวัย ใช้สำหรับรายการทั่วไป ที่สามารถรับชมได้ทุกวัย คือไม่มีเนื้อหาที่แสดงถึงความรุนแรง หรือเนื้อหาที่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม ก็จะเป็นเรต น13+ ใช้สำหรับรายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป เป็นรายการที่อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหา ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ ไม่ควรรับชมรายการประเภทนี้ตามลำพัง ซึ่งมีอัตราส่วนไม่แตกต่างกันมาก และทั้ง 2 เรตสามารถออกอากาศช่วงหลัง 20.30 น. เป็นต้นไปได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลักของการออกอากาศละครอยู่แล้ว
ส่วนเรต น18+ ที่ ใช้สำหรับรายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นรายการที่อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหา ที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรม ความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษา ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ จึงไม่ควรรับชมรายการประเภทนี้ตามลำพัง นั้นนานๆ จะโผล่มาเห็นสักเรื่อง เนื่องด้วยถ้าเป็นเรตติ้งนี้จะต้องออกอากาศหลัง 22.00 น. เป็นต้นไป
ถ้าสังเกตดีๆ ตั้งแต่ระบบทีวีเปลี่ยนผ่านจาก อนาล็อก เป็น ทีวีดิจิทัล เรตผู้ชมละครหลังข่าวส่วนใหญ่ถูกปรับให้เป็น เรต ท ทุกวัย แทบทุกเรื่อง ซึ่งถ้าพูดในความเป็นการจะทำให้ละครเป็นเรต ท ทุกวัย นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องมีความคลีนเพื่อเหมาะสมกับผู้ชมทุกกลุ่มทุกวัย แต่ละครอย่างไรแล้วก็ต้องมีรสชาติความเป็นละคร ซึ่งถ้าดูกันละเอียดจริงๆ ในละครหลายเรื่องที่เป็น ท ทุกวัย นั้นก็ไม่ใช่ เหมือนสอดไส้เนื้อหาที่ล่อแหลม มีความรุนแรงทั้งพฤติกรรมตัวละครและคำพูดที่ด่าทอกันรุนแรง ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน แต่ต้องยอมรับว่าการตรวจตรานั้นยังไม่เข้มงวดและสม่ำเสมอ บ้างกวดขันถ้วนถี่ บ้างก็ปล่อยผ่าน...
แต่ละครล็อตใหม่ของ ช่อง 7 ที่ประเดิมออกอากาศถึง 2 เรื่อง 2 รส คือ เจ้านาง และ เลื่อมสลับลาย ถูกปรับให้เป็น เรต น13+ เข้าใจได้ว่าน่าจะมีผลมาจากกรณีที่ละคร ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท ถูกทาง กสทช. เรียกไปชี้แจงและตักเตือน
การจัดเรตติ้งผู้ชมเป็นเรื่องความถูกต้องที่สมควรต้องทำให้ละครแต่ละเรื่องเข้าเกณฑ์กับเรต ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีมากๆ ในแง่ ถ้ามีเรตผู้ชมคนดูชัดเจน อย่างกรณีถ้าละครเรื่องหนึ่งเป็น น13+ ผู้ปกครองก็สามารถชี้แนะบุตรหลานตัวเองที่มีอายุต่ำว่า 13 ได้ เพราะถ้าจะห้ามให้ดูละครเลยก็เป็นเรื่องยากอยู่ อีกอย่างถ้ามองกลับกัน ถ้าละครสักเรื่องได้เรต ท ทุกวัย ผู้ปกครองบางคนอาจมองว่าไม่มีอะไรน่าห่วงให้ต้องแนะนำ แต่ละครบางเรื่องกลับซ่อนภัยบางอย่างหรือสิ่งไม่เหมาะสมไว้ในละคร
ส่วนแง่ที่สถานีกำหนดเรตละครให้ชัดเจนไปเลย ก็เป็นเรื่องดีสำหรับผู้จัดละครด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตที่ทำละครที่อาจมีเนื้อหาผู้ใหญ่ มีความรุนแรงทั้งเนื้อหาและคำพูดที่อาจต้องด่าทอแบบถึงพริกถึงขิง ในเมื่อรู้ว่าต้องทำละครให้เป็นเรตไหน จะได้ไปให้สุดในแนวทางนั้น จะมีหลายครั้งที่เห็นว่า ละครบางเรื่องที่เนื้อหาควรเป็น น13+ แต่เมื่อถูกปรับให้เป็นเรต ท ทั่วไป ก็ต้องถูกตัดทอนหลายๆ ฉากในเรื่องเพื่อให้เข้าเกณฑ์ เลยกลับกลายเป็นว่าความเข้มข้นที่ควรเป็นจะถูกตัดทอนไป
เชื่อว่าหลังจาก เจ้านาง และ เลื่อมสลับลาย นำร่องไปก่อนแล้ว น่าจะมีละครอีกหลายเรื่องจากสถานีอื่นๆ ที่อาจต้องถูกปรับเรตติ้งผู้ชมให้เขากับเนื้อหาและความเหมาะสม เพราะหลายเรื่องๆ มองยังไงก็ใช่ ท ทั่วไป นอกจากสถานีและผู้ผลิตควรต้องมีสามัญสำนึก อีกส่วนคือ ผู้มีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบตรงนี้ ควรเข้มงวดอย่างเข้มข้น ด้วยการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด อย่าให้เข้าตำรา “ผักชีโรยหน้า” และอย่าให้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปในสายลม...
.......................................
(หมายเหตุ 'เรตติ้งละคร น13+กลับคืนจอ' : คอลัมน์ มายาวิชั่น โดย... เทพิตา)