บันเทิง

ชายตามองแบรนด์อาดิดาสเรื่องโรแมนติกกับแมนยู

ชายตามองแบรนด์อาดิดาสเรื่องโรแมนติกกับแมนยู

30 มิ.ย. 2558

ชายตามองแบรนด์อาดิดาสเรื่องโรแมนติกกับแมนยู : คอลัมน์ Eat play life โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร

 
 
          ระหว่างที่ถ้อยคำแรกของบทความนี้ กำลังถูกเขียน...เข้าใจว่าเสื้อแมนยูแบรนด์อาดิดาสกำลังถูกส่งไปยังทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่ต้นฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ เข้าใจว่า แฟนๆ แมนยู เกือบ 350
 
          ล้านคนหลายแผ่นดินนี้ คงใจจดใจจ่อที่จะเห็นของจริงสำหรับชุดนักรบของผีแดงครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เบิกเงินมารอซื้อแล้วแบบทุกชุดและแบบ limited box set แถมยังอดตื่นเต้นที่ “หวนคิด” ไปถึง “คืนวันอันแสนหวาน” ระหว่างแมนยูกับอาดิดาสไม่ได้
 
          เสื้อทุกรุ่น ทุกสีที่แมนยูทำกับอาดิดาส ผมมีเก็บไว้ครบ และอย่างดีจนอดคิดไม่ได้ว่า มันจะสวยเพียงใดหากเราได้จับ ยล และมองเสื้อจริงๆ ของฤดูกาลปี 2016 ที่จะมาถึงในบรรดาเสื้อ 1,400 ตัวนั้น เป็นของอาดิดาส 70% รองลงมาคือ Umbro ของสองพี่น้อง (เหมือนอาดิดาสเลย) อันดับ 3 คือของไนกี้ และที่ 4 คือแบรนด์ที่ชอบมากกว่าไนกี้คือ Admiral นี่คือเสื้ออาดิดาสส่วนหนึ่ง ที่ผมรื้อมาดู “ความหลัง” ครั้งวันวาน
 
          "1983-1985" แมนยูในช่วง 3 ปีนี้ มีเสื้อสวยๆ ตำนานออกมา 2 รุ่น ปี 1983 แมนยูยังคงใช้อาดิดาสที่มีตรา sharp กลางหน้าอก แต่ปี 1984 แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิก เลยติดคำว่า electronic แปะใต้ชื่อแบรนด์ รุ่นนี้ได้แชมป์ FA cup 1983 เหมือนอีกรุ่นที่น่าจะคลาสสิกสุดตัวหนึ่งของอาดิดาสคือ เสื้อ 1985 ที่ตราอาดิดาสไปอยู่ตรงขอบแขนสองข้าง และตราของสโมสรแปะกลางหน้าอก โดดเด่นมาก การเคลื่อนตำแหน่งของอาดิดาสไปอยู่ที่แขนนั้น ถือว่าเป็นการเปิดปรากฏการณ์ดีไซน์ใหม่ๆ ให้เสื้อบอลยุค 80’s รุ่นนี้ใครๆ ก็อยากได้ เพราะ นอร์แมน ไวท์ไซด์ ปั่นโค้งด้วยอีซ้าย เสียบโคนเสาสอง สอยเอฟเวอร์ตันฝันสลาย ไม่ได้ 3 แชมป์ในปี 1985 (ปี 1977แมนยูก็ทำแบบนั้นกับลิเวอร์พูล เหมือนกัน) อาดิดาสปี 1983-1985 ใครมีเก็บไว้ เหมือนมีทองอยู่ในบ้าน
 
          “1986-1988” ถ้าจะแนะนำเสื้อแมนยูฯ รุ่นนี้ว่าเป็นแค่ "เสื้อแข่ง" ในการเป็นผู้จัดการทีม "ปีแรก" ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน นั้น มันอาจจะดูเรียบง่ายเกินไป เพราะภายใต้ความเป็นเสื้อ standard ที่เราเห็นนี้ อาดิดาสพยายามจะใส่ความเป็นแฟชั่นลวดลายเข้าไป เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุค 80's ที่เป็นช่วงเวลาของการทำเสื้อบอล ให้เป็นเสื้อ "ใส่เล่น" ไปด้วยในชีวิตประจำวัน (กล่าวคือไม่ใช่ใส่แค่การไปดูบอลที่สนาม เหมือนที่เคยเป็นมา) การวางลายพาดเฉียงลงบนตัวเสื้อนั้น จอห์น เดฟลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเสื้อบอกว่าเป็นการทำให้คนดูเห็นมิติในการเคลื่อนไหวเมื่อนักเตะวิ่งไล่ล่าลูกหนัง เมื่อเทียบกับเสื้อรุ่นก่อนๆ ที่เคยมีมา เสื้อแข่งแมนยูฯ รุ่นนี้ มีผ้าที่หนากว่า และมีความหนักแน่นมั่นคงมากกว่า และไม่ว่าจะพยายามจะปรับเปลี่ยนทิศทางของเสื้อให้มีอะไรมากกว่าการเป็นแค่ football shirt ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยังคงยึดถือปฏิบัติสำหรับอาภรณ์ของ "ชาวผีแดง" มาตลอด ก็คือ การส่ง message ผ่านลงไปเป็นรูปตัว V อันมาจากคำว่า victory ซึ่งรุ่นนี้ก็อยู่ที่คอเสื้อรูปตัวว V นั่นเอง
 
          ถ้าถามว่า มีแมทช์ไหนที่น่าจดจำสำหรับเสื้อรุ่นนี้ นอกจากการเสมออย่างดุเดือด 3-3 กับสเปอร์สใน "โรงละครแห่งความฝัน" แล้ว หลายคนคงไม่ลืมการต้อนรับแดงเดือดปีแรกของ "ท่านเฟอร์กี้" ด้วยชัยชนะเชือดหงส์แดง ลิเวอร์พูล 1-0 ในปีนั้น ซูเปอร์สตาร์ที่ควรจดจำของเสื้อ : วิฟ แอนเดอร์สัน เหตุผล : เขาคือนักบอล "ผิวสีคนแรก" ที่ "เฟอร์กี้" เซ็นสัญญาเข้ามา แม้จะไม่โดดเด่นในการเล่นรวมทั้งไม่ประสบความสำเร็จกับแมนยูก็ตาม
 
          "1988-1990" ความแตกต่างประการแรกของเสื้อแมนยูรุ่นนี้ ที่นักเล่นเสื้อมองเห็นก็คือ การพยายามจะใส่เทคนิคใยผ้าเพื่อทำให้แถบสามเส้นบนไหล่ มีความสว่างมากขึ้น หรือมีประกายเมื่อถูกแสงแดดในสนาม ความสว่างไสวนี้ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นอีกเมื่อฤดูกาลนี้ (1988-89) ยังเป็นการรีเทิร์นของ มาร์ค ฮิวส์ หัวหอกร่างตัน ซึ่งไปได้ไม่ดีกับบาเยิร์น มิวนิค โดยโครงสร้างของเสื้อ เราจะเห็นว่าความเป็น tradition ยังอยู่ครบ ทั้งทรงและสไตล์ที่ใช้กันมาในทศวรรษที่ 80 แต่ทีมนักออกแบบเสื้อรุ่นนี้ของอาดิดาสมองว่า เสื้อแข่งรุ่นนี้ยังขาดความทะมัดทะแมง และลูกเล่นลวดลายที่สะท้อนออกมาจากเนื้อหา ข้อสงสัยนี้ถูกตอบสนองทันทีการดีไซน์มันลงในเสื้อรุ่น 2 ของเฟอร์กี้
 
          อย่างไรก็ตาม จุดที่เด่นขึ้นมาของเสื้อ กลับไม่ใช่แสงสว่างในเนื้อผ้า ทว่า เป็นการเพิ่มขลิบสีตรงคอเสื้อให้เด่นชัดขึ้น รวมทั้งใส่เส้นตัดสีขาวระหว่างไหล่-อก เพื่อให้เห็นถึงความดุดันมากขึ้น เสื้อรุ่นนี้ใช้เวลาออกแบบอยู่นาน แต่มันไม่ใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะมันมีโอกาสได้เฉลิมฉลอง "โทรฟีแรก" ให้เซอร์อเล็กซ์ ด้วยแชมป์ FA cup 1990 ด้วยลูกโทนใส่ "คริสตัล พาเลซ" นัดรีเพลย์ ซูเปอร์สตาร์ที่ควรจดจำของเสื้อ : ไบรอัน ร็อบสัน เหตุผล : นอกจากจะเป็นเสื้อแชมป์แรกในยุค "เฟอร์กี้" แล้ว นี่คือเสื้อที่ ร็อบสัน ใส่ในฐานะกัปตันทีมคนแรกในอังกฤษที่ได้ชูถ้วย FA cup 3 สมัย(1983,1985,1990)
 
          “1990-1992” แบรนด์อย่างอาดิดาส เกือบจะสมหวังกับแมนยูด้วยการเป็นแชมป์ลีกอยู่รอมร่อ แต่ด้วยแมทช์แข่งชุกชุม 4 นัดในท้ายฤดูกาล ทำให้ ลีดส์ ยูไนเต็ด ปาดหน้าไปครอง ดูเหมือนว่าสัญญาใจระหว่างแบรนด์เสื้อจากเยอรมัน กับแบรนด์เนมฟุตบอลจากอังกฤษ น่าจะจบลงอย่างว่างเปล่า ทว่า แมนยูฯ กลับตอบแทนด้วยการก้าวขึ้นไปครองแชมป์คัพวินเนอร์คัพ ทีมที่เป็นแชมป์ FA cup แต่ละประเทศจะได้แข่งถ้วยนี้ นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า เสื้อรุ่นก่อนแม้จะดูสวยดี แต่มันไม่ให้ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว (movement) เมื่ออยู่ในสนามกับนักเตะ ทางอาดิดาสพยายามจะคิดค้นลูกเล่นบางอย่าง ที่จะ "ดิ้น" ออกไปจากโครงสร้างหลักของเสื้อ (ทั้งสไตล์ที่ไม่ได้เปลี่ยนทรงไปมากและแบบลายทางที่ขึงเอาไว้) คำตอบนี้มาออกที่การเล่นกับลวดลายในผ้ามากขึ้น และให้แสงที่ดูแวววาว จนบางคนบอกว่ามันคือเสื้อที่มีความเป็น abstract มากที่สุดของแมนยูตัวหนึ่ง 
 
          นอกจากจะได้แชมป์ยุโรปแรกแล้ว ในปีต่อมา แมนยูยังคว้าแชมป์ถ้วยลีกคัพด้วยประตูโทนของ ไบรอัน แม็คแคลร์ ในเสื้อรุ่นเยือนสีฟ้า และเสื้อรุ่นนี้ยังเป็นการต้อนรับนักบอลผอมลีบหัวหยิกหยอง ซึ่งอีก 20 ปีต่อมา เขาคือนักบอลแมนยูที่ได้แชมป์มากเหรียญที่สุดในประวัติศาสตร์และในโลก นักบอลคนนั้น ตัวเล็ก และมีชื่อสั้นๆ ว่า "ไรอัน กิ๊กส์" ซูเปอร์สตาร์ที่ควรจดจำของเสื้อ : มาร์ค ฮิวส์ เหตุผล : หัวหอกร่างตันของเวลส์เป็นกำลังหลักสำคัญในการพาทีมไปสู่โทรฟีแห่งยุโรป และมีฟอร์มที่ยอดเยี่ยมหลายแมทช์ โดยเฉพาะการยิง 2 ประตูเหนือบาร์เซโลนาในรอบชิง และเชือดลีดส์ ยูไนเต็ด ถึงบ้านในบอลถ้วย
 
.......................................
(หมายเหตุ ชายตามองแบรนด์อาดิดาสเรื่องโรแมนติกกับแมนยู : คอลัมน์ Eat play life โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)