บันเทิง

'เสียงในสายฝนของ ซิลเวีย แพลต (ตอนที่ 2)'

'เสียงในสายฝนของ ซิลเวีย แพลต (ตอนที่ 2)'

11 มิ.ย. 2558

'เสียงในสายฝนของ ซิลเวีย แพลต (ตอนที่ 2)' : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... วิภว์ บูรพาเดชะ

 
 
 
          หลังการที่กวีสาว ซิลเวีย แพลต ฆ่าตัวตาย เท็ด ฮิวจ์ส สามีของเธอเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์นี้มาก เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนว่า “นั่นคือจุดจบของชีวิตผม สิ่งที่อยู่หลังจากนั้นคือชีวิตหลังความตายเท่านั้น” 
 
          อย่างไรก็ตาม เท็ดกลายเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์งานเขียนทั้งหมดของเธอโดยปริยาย เขาตัดสินใจรวบรวมบทกวีของซิลเวียแล้วตีพิมพ์มันออกมาในชื่อ Ariel ในปี 1965 และบทกวีอันดำดิ่ง ท่วมท้น หลอกหลอน แต่ก็งดงามในหนังสือเล่มนี้เองที่ทำให้ชื่อของ ซิลเวีย แพลต กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยความรัก ความเศร้า ความตาย และความปรารถนาที่จะจากลา ด้วยสัญลักษณ์ที่ดูหลอกหลอนอย่าง เลือด หัวกะโหลก ทารกในครรภ์ ดวงจันทร์ หรือ โรงพยาบาล ทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในชีวิตของเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วในที่สุด มันก็ย้อนกลับมาทำร้าย เท็ด ฮิวจ์ส ในฐานะที่เขาเป็นผู้ทรยศต่อชีวิตคู่ด้วยการนอกใจเธอ และเป็นต้นเหตุให้เธอฆ่าตัวตาย
 
          เท็ดเริ่มโดนสังคมโจมตี นักคิดสายเฟมินิสต์ประณามเท็ดอย่างรุนแรง ผู้อ่านบางคนเขียนจดหมายไปด่าทอเขา กระทั่งหลุมศพของซิลเวียยังมีคนบุกไปทำความเสียหายเพราะไม่ชอบใจที่เท็ดเป็นคนเขียนคำไว้อาลัยบนแผ่นจารึกหน้าหลุมฝังศพ
 
          แม้จะเป็นนักเขียน กวี และนักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 คนหนึ่ง แต่ เท็ด ฮิวจ์ส ก็ต้องพบกับความ ‘ดราม่า’ แทบตลอดชีวิตหลังจากนั้น ชีวิตคู่ของเขากับภรรยาใหม่-แอสเซีย ดูจะตกอยู่ในความหมองหม่นแบบ ‘ซิลเวีย แพลต’ เช่นกัน แอสเซียจมอยู่กับความสำนึกผิดและพยายามดูแลลูกๆ ของซิลเวียไปพร้อมกับลูกของเธอ แต่ในที่สุด 6 ปีหลังจากซิลเวียจากไป แอสเซียก็ฆ่าตัวตายโดยใช้แก๊สจากเตาอบ เป็นการปลิดชีพตัวเองพร้อมกับลูกสาวอายุ 4 ขวบของเธอ และเป็นอัตวินิบาตกรรมที่ตั้งใจให้เหมือนกับ ซิลเวีย แพลท โดยเจตนา
 
          ปี 1981 เท็ดคัดสรรบทกวีชั่วชีวิตของ ซิลเวีย แพลต แล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มโดยใช้ชื่อว่า The Collected Poems เมื่อถึงตอนนี้เรื่องราวและผลงานของซิลเวียก็เป็นที่รู้จักและเป็นที่ประจักษ์กับสาธารณชนไปแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับจากแวดวงวรรณกรรมอย่างมาก ถึงขนาดที่ทำให้ ซิลเวีย แพลท ได้รับรางวัล พูลิตเซอร์ ไพรซ์ ในปีถัดมา เป็นรางวัลสูงส่งทางวรรณกรรมที่กวีหลายคนได้แต่ใฝ่ฝันหา ซิลเวีย แพลต ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะแห่งกวีหญิง
 
          เรื่องราวของเธอกลายเป็นหนังสือ กลายเป็นบทเพลง และกลายเป็นภาพยนตร์ กระทั่งคำว่า Sylvia Plath effect ก็กลายเป็นคำศัพท์ในแวดวงจิตวิทยาที่หมายถึงอาการป่วยทางจิตของพวกนักเขียนหรือกวี
 
          แล้วชื่อของ ซิลเวีย แพลท กับความซึมเศร้าหลอกหลอนอันแสนงดงามของเธอก็กลายเป็นอมตะมาจนถึงวันนี้
 
          “I wish I had a Sylvia Plath 
          Busted tooth and a smile 
          And cigarette ashes in her drink 
          The kind that goes out and then sleeps for a week”
 
          บทเพลงชื่อ Sylvia Plath ของนักร้อง-นักแต่งเพลงหนุ่มชาวอเมริกัน ไรอัน อดัมส์ (Ryan Adams) อยู่ในอัลบั้ม Gold (2001) ที่เป็นงานดังของเขา ในอัลบั้มนี้มีเพลงฮิตและเพลงที่คนอื่นเอาไปขับร้องต่อหลายเพลง แต่เพลง Sylvia Plath ไม่ใช่เพลงฮิต มันวางอยู่ลำดับที่ 9 ของอัลบั้ม และเป็นเพลงช้าๆ เหงาๆ ที่ฟังดูเศร้าสร้อยอย่างยิ่ง 
 
          เนื้อเพลงไม่ได้เล่าถึงประวัติชีวิตหรือกระทั่งผลงานของ ซิลเวีย แพลท แต่อย่างใด หากแต่เป็นการรำพึงรำพันของชายหนุ่มคนหนึ่ง ว่าอยากมี ‘ซิลเวีย แพลท’ อยู่ข้างกาย ในเพลงมีประโยคที่ดูล่อแหลมแต่ก็เศร้าสร้อย อย่างการให้ยานอนหลับ ดื่มเครื่องดื่มที่อาจทำให้เราหลับไปเป็นอาทิตย์ หรือการร่วมกันเมามายไร้สติในแมนชั่นสุดหรู
 
          ในท่อนหลังของบทเพลง สัญลักษณ์ที่ ไรอัน อดัมส์ เลือกมาใช้ดูจะเปิดแสงสว่างรำไรในความรู้สึก เมื่อ ‘ซิลเวีย แพลท’ ในบทเพลงนี้ชวนให้เขาไปหลับใหลในเรือลำน้อย ก่อนจะลงเปลือยกายว่ายน้ำในทะเลที่สายฝนกำลังถาโถม เธอว่ายน้ำห่างออกไป หันมากระพริบตาให้เขาหนึ่งที บอกเขาว่า ‘แล้วทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี’ ก่อนที่ชายหนุ่มในบทเพลงจะตัดสินใจว่ายน้ำกลับไปที่เรือ
 
          “How I wish I had a Sylvia Plath 
          And she and I would sleep on a boat 
          And swim in the sea without clothes 
          With rain falling fast on the sea 
          While she was swimming away, she'd be winking at me 
          Telling me it would all be okay 
          Out on the horizon and fading away 
          And I'd swim to the boat and I'd laugh”
 
          นี่เป็นภาพฝันล้วนๆ ของชายหนุ่มคนหนึ่งที่อาจจะกำลังอยู่ในห้วงอารมณ์มืดหม่น แต่ภาพฝันนี้ก็ทำให้เราเข้าใจ ‘ภาพจำ’ ที่กวีสาว ซิลเวีย แพลท บันทึกไว้ในงานของเธอให้คนรุ่นหลังจดจำตลอดมา นั่นก็คือความงดงามของการดำดิ่งลงไปในความเศร้า
 
          ในภาพยนตร์เรื่อง Sylvia ในซีนที่ซิลเวียพบกับแอสเซียเป็นครั้งแรก แอสเซียซึ่งเป็นแฟนหนังสือคนหนึ่งของซิลเวียด้วย พูดถึงบทกวีของซิลเวียว่ามันช่าง “สวยงาม น่ากลัว และหลอกหลอน”
 
          ซิลเวียหัวเราะเบาๆ แล้วบอกว่านั่นเป็นคำวิจารณ์ที่ดีที่สุดที่เธอเคยได้รับ
 
          ไรอัน อดัมส์ เองก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศิลปิน’ อัจฉริยะ เขาแต่งเพลงอเมริกันร็อกชั้นเยี่ยมหลายเพลงตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ท่ามกลางเพลงฮิตที่เป็นเพลงสนุกๆ เขาก็ยังเคยทำบทเพลงที่ ‘สวยงาม น่ากลัว และหลอกหลอน’ อยู่บ้าง ไรอันเคยทำอัลบั้มที่ชื่อว่า The Suicide Handbook แต่ต้นสังกัดไม่ยอมให้ออกวางขาย ด้วยเหตุผลที่ว่ามัน ‘เศร้าเกินไป’ แต่หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากอัลบั้ม Gold แล้ว ไรอันก็ดูจะไม่ค่อยแคร์ตลาดเท่าไหร่ อัลบั้มชุดหลังๆ ของเขามีเพลงเศร้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ บางปีเขาออกอัลบั้มติดๆ กัน 2 ชุด ในช่วงปี 2003-2004 ไรอันปล่อยอัลบั้มคู่ที่ชื่อว่า Love Is Hell อันแสนไพเราะออกมา เป็นอัลบั้มคู่ที่สื่อด้านมืดของความรักได้อย่างสวยงาม อย่างไรก็ตาม ในอัลบั้มนี้ก็ไม่ได้มีแต่เพลงช้าหนืดเนือยไปเสียทั้งหมด
 
          ความเศร้าเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับชีวิต บางคนจมดิ่งอยู่กับมัน บางคนปกปิดมันเอาไว้ บางคนก็ใช้มันเป็นพลังสร้างสรรค์งานศิลปะอันน่าตื่นตะลึง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราอยู่กับความเศร้ามานานเกินพอ เราอาจจะเหมือนกับตัวละครในบทเพลงของ ไรอัน อดัมส์ ที่เห็น ซิลเวีย แพลท กำลังว่ายน้ำห่างออกไป ห่างออกไป ท่ามกลางสายฝนที่กำลังกระหน่ำลงมา
 
          เมื่อเธอหันมากะพริบตาให้หนึ่งที แล้วบอกอะไรกับเขาบางอย่าง
 
          ความจริงแล้ว ในสายฝนและในท้องทะเลอย่างนั้น เราไม่น่าจะได้ยินเสียงของกวีสาวได้ชัดเจนสักเท่าไหร่หรอก ใช่ไหม? 
 
          สิ่งที่ได้ยินจะเป็นเสียงที่อยู่ในหัวใจของตัวเราเองมากกว่า
 
          ...ว่า ‘แล้วทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี’ หรือ ‘ว่ายน้ำตามฉันมาสิ’ หัวใจของเราเท่านั้นที่จะกระซิบให้เราได้ยินชัดเจนท่ามกลางเสียงคลื่นและเสียงสายฝนตรงนั้น
 
.......................................
(หมายเหตุ  'เสียงในสายฝนของ ซิลเวีย แพลต (ตอนที่ 2)' : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... วิภว์ บูรพาเดชะ)