
เอกเขนกดูหนัง:'Tomorrowland'
29 พ.ค. 2558
'Tomorrowland' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
มุมมองชีวิตแบบคิดบวก หรือการมองโลกในแง่งามด้านดี เป็นทัศนคติที่ค่ายหนังดิสนีย์มักจะแฝงฝังลงไปในหนังของพวกเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นหนังแอนิเมชั่นหรือไลฟ์แอ็กชั่นก็ตาม ทุกเรื่องราวการผจญภัย ทุกการต่อสู้ ทุกๆ ตัวละครทั้งดีและร้าย ทุกเรื่องราวของดิสนีย์มักจะมีคติธรรมสอนใจแทรกซ่อนหรือตั้งใจบอกกล่าวสอนสั่งคนดูอยู่เสมอ เปรียบได้กับหนังของดิสนีย์ที่มีรสชาติของลูกกวาดรสหวาน แม้บางครั้งรูปร่างหน้าตาภายนอกอาจดูเหมือนเม็ดยาที่น่าจะมีรสขมปร่าซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมดิสนีย์จึงมีแฟนหนังทุกเพศทุกวัย และเช่นกันที่หนังไซไฟของดิสนีย์หลายเรื่อง แม้ภาพลักษณ์ภายนอกคล้ายจะบอกเล่าเรื่องราวในโลกหม่นมืด ผ่านตัวละครที่มีชีวิตหม่นมัว แต่สุดท้ายหนังเหล่านั้นก็พาคนดูออกไปหาแสงสว่างท่ามกลางทัศนคติแบบโลกสวย และเทศนาสอนสั่งให้เรายังมีความหวังกับชีวิตต่อไป
Tomorrowland คือผลิตผลจากเบ้าหลอมของโรงเงานดิสนีย์ที่แทบไม่มีส่วนใดผิดแผกแตกต่างไปจากคุณสมบัติที่ว่ามาเหล่านั้น ดินแดนในอุดมคติที่เปรียบได้กับโลกยูโทเปียในฝันกำลังจะล่มสลายและต้องหาใครสักคนมากอบกู้ ฮีโร่ตัวน้อยๆ ถือกำเนิดขึ้นจากการช่วยเหลือของอดีตผู้ร้ายที่กลับตัวกลับใจหรือไม่ก็คนที่เคยถูกมองอย่างหมางเมินหมิ่นแคลน หนังอาจจะรอดพ้นจากความซ้ำซากจำเจ บนสายพานการผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าของโรงงานดิสนีย์ ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างภาพความผจญภัยอันน่าตื่นตาในทูมอร์โรว์แลนด์ ดินแดนของเหล่าอัจฉริยะที่ถูกคัดเลือกมาช่วยกันสร้างขึ้น และโดยเฉพาะหนังถูกเล่าผ่านวิสัยทัศน์ของผู้กำกับและร่วมเขียนบทอย่าง แบรด เบิร์ด ความสนุกของรูปแบบการผจญภัยที่ถูกใส่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แบบก๊อกหนึ่ง ก๊อกสอง ที่ปรากฏในช่วงต้นเรื่อง ทำให้ Tomorrowland เหมือนจะดูเป็นหนังที่มีของ หรือมีเรื่องราวที่น่าสนใจชวนให้ค้นหาต่อไปเช่นที่เคยเกิดขึ้นในหนังของแบรด เบิร์ด ที่ผ่านมา อาทิ Mission: Impossible-Ghost Protocol หรือกระทั่งหนังแอนิเมชั่นสร้างชื่อของเขาอย่าง The Iron Giant และ Ratatouille แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าแนวคิดเชิงอุดมคติของการมองโลกในแง่ดีแบบดิสนีย์ ได้เข้ามาเบนทิศทางที่หนังควรจะมุ่งไปอย่างผิดที่ผิดทางซึ่งดูจะคัดง้างกับเหตุและผลตลอดจนแรงจูงใจที่นำพาให้ตัวละครมาผจญภัยร่วมกันบนพล็อตสนุกๆ ที่ปูไว้เรี่ยรายตลอดทางที่หนังดำเนินไป
Tomorrowland อาจจะระแแวดระวังตัวเองมากเกินไปในการวางสถานะของการเป็นหนังเด็ก (ส่วนหนึ่งมาจากแรงบันดาลใจในการนำเอาธีมปาร์คของดิสนีย์แลนด์ ซึ่งเป็นโปรเจกท์เมืองในฝันของวอลท์ ดิสนีย์เมื่อราว 60 ปีก่อน) ทั้งๆ ที่ซีเควนซ์เปิดเรื่องทำได้น่าสนใจ จากการผสมผสานรูปแบบแฟนตาซีเข้ากับหนังไซไฟ โดยใส่อารมณ์ความลึกลับแนวสืบสวนสอบสวนของการออกตามหาที่มาที่ไปในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครและรายละเอียดแวดล้อมอื่นๆ จนเมื่อตัวละครหลักอย่างแฟรงค์ เคซีย์และหนูน้อยหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หลุดเข้าไปผจญภัยจริงๆ จังๆ ในดินแดนทูมอร์โรว์แลนด์นั่นแหละ หนังก็เริ่มเทศนาและปลุกเร้าทัศนคติแนวคิดการมองโลกในแง่ดีทับโถมประเดประดังเข้ามาไม่ขาดสาย (จนมากล้นเกินพอดีไปในท้ายที่สุด)
ท่ามกลางจินตนาการในโลกแฟนตาซีของทูมอร์โรว์แลนด์ แทนที่จะเล่าด้วยลีลาแบบเทพนิยายชวนฝันพากันออกไปผจญภัยให้สุดขอบ หนังกลับใช้ทฤษฎีฟิสิกส์และดาราศาสตร์มาอธิบายประกอบสถานการณ์บางส่วน จังหวะหนังที่เหมือนจะพาเราออกไปหลุดโลกล่องลอยในจินตนาการ อารมณ์ที่จวนกระเจิดกระเจิงกลับชะงักด้วยหลักการของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ จนนำพาให้หนังดูเคร่งขรึมจริงจังเทน้ำหนักไปทางฝั่งของหนังไซไฟซะอีก แถมยังคาแรกเตอร์ของจอร์จ คลูนีย์ ซึ่งบางทีอาจจะยังสลัดภาพลักษณ์นักแสดงดราม่าเข้มข้นไปไม่พ้น เมื่อพาตัวเองมาอยู่ในหนังเด็ก คนดูจึงยังไม่ค่อยปักใจเชื่อว่าเรื่องราวในหนังของหนุ่มใหญ่คนนี้ จะมีทัศนคติของการมองโลกในแง่ดี มีธีมว่าด้วยการให้ความหวังสอนสั่งคนทั้งมวลเหมือนการ์ตูนสำหรับเด็กก็ไม่ปาน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากตัวละครแวดล้อมที่สำคัญอย่างเคซีย์ นิวตัน (รับบทโดยนักแสดงวัยรุ่น บริท โรเบิร์ตสัน) และอาธีน่า สาวน้อยปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ (รับบทโดยราฟฟีย์ คาสซิดี)
แบรด เบิร์ด ทำหนังแอนิเมชั่นที่ชนะใจทั้งเด็กเล็ก เด็กโต รวมถึงผู้ใหญ่หลายคนน้ำตารื้นมาแล้ว ใน The Incredibles, Ratatouille และ The Iron Giant ครั้งหนึ่งเคยขยับไปกำกับหนังแอ็กชั่นฟอร์มยักษ์ที่ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อหา จังหวะการเล่าเรื่อง และฉากแอ็กชั่นที่ถูกออกแบบมาได้อย่างสุดมัน ใน Mission: Impossible-Ghost Protocol แต่งานล่าสุด ดูเหมือนเขากลับไม่สามารถผสมผสานลีลาการเล่าเรื่อง ธีมหนังและประเด็นที่แหลมคม เหมือนในงานที่ผ่านๆ มาเอาไว้ได้ Tomorrowland จึงกลายเป็นหนังแฟนตาซีที่เกิดขึ้นบนพล็อตของนวนิยายผจญภัยอันทรงภูมิทางวิทยาศาสตร์ ที่เล่าผ่านมุมมองแบบเด็กไร้เดียงสาดูๆ ไป หนังเหมือนพยายามจะสะท้อนให้เราได้เห็นความเป็นจริงอันน่าหดหู่ของการทำร้ายโลกใบนี้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจของผู้คน รวมทั้งภัยธรรมชาติที่วันหนึ่งอาจระรานทวงคืนสิ่งที่มนุษย์ทำลายลง บางครั้งการดูหนังโลกสวยก็ไม่ได้ช่วยให้เปิดเปลือยสัจธรรมความเป็นจริงว่า บทสรุปในชีวิตอันงดงามและอิ่มเอมของมนุษย์เราไม่สามารถเกิดขึ้นได้ไปซะทั้งหมดหรอก
.......................................
(หมายเหตุ 'Tomorrowland' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)