
เอกเขนกดูหนัง:'Lost River'
15 พ.ค. 2558
'Lost River' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
หลังแจ้งเกิดจากหนังรักชื่อ The Notebook จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และดูเหมือนเส้นทางอาชีพนักแสดงของไรอัน กอสลิง กำลังรุ่งโรจน์ เขามีสิทธิ์เลือกรับงานหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์หรือหนังไฮคอนเซ็ปต์ มีจุดขายชัดเจนหรือหน้าหนังแข็งแรงที่สามารถเรียกคนดูเข้าโรงได้ตั้งแต่แรกเห็นแค่โปสเตอร์หรือหนังตัวอย่าง ทว่านักแสดงหนุ่มไฟแรงวัย 34 ปีคนนี้ กลับรับแสดงในหนังสเกลเล็กๆ ไร้พลังทางการตลาดหรือสร้างจุดขายในเชิงพาณิชย์ในครั้งแรกฉาย ไม่ว่าจะเป็น Half Nelson, Lars and Real Girl, Blue Valentine, Drive แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่เพียงหนังเหล่านั้น จะได้รับเสียงชื่นชมยกย่องอื้ออึงจากนักวิจารณ์และนักดูหนังทั่วโลก ตัวของกอสลิงเอง นอกจากคำชมถึงบทบาทการแสดงในคาแรกเตอร์เหมือนคนจิตใจป่วยไข้แล้ว เขายังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากหลายๆ สถาบัน รวมถึงออสการ์และลูกโลกทองคำ ครั้นเมื่อเขาริลองมาจับงานกำกับดูบ้าง หนุ่มคนนี้ก็ดูจะทุ่มเทและเพ่งสมาธิให้งานเต็มที่ “Lost River” หนังเรื่องแรกจากการเขียนบทและกำกับของไรอัน กอสลิง จึงไม่ปรากฏกายของเขาให้เราเห็นในฐานะนักแสดงแม้แต่ฉากเดียว ทั้งๆ ที่บทหนัง มีคาแรกเตอร์ตัวละครที่เปิดโอกาสให้เขาได้เล่นเอง และมีบทบาทที่เหมาะกับการโชว์ศักยภาพทางการแสดงได้เต็มที่ (โดยเฉพาะบท "เดฟ" ผู้จัดการธนาคารหน้าเลือด วิปริตผิดเพี้ยน)
หนังที่กอสลิงมาทำงานเบื้องหลังอย่างเต็มตัวเรื่องนี้ (ไม่เพียงเขียนบทและกำกับเท่านั้น กอสลิงยังอำนวยการสร้างเองอีกด้วย) ดูจะเป็นงานที่ได้รับอิทธิพลมาจากหนังที่เขาเคยแสดงทั้งสิ้น งานด้านภาพ ทั้งโทนสีจัดจ้านฉูดฉาดแบบ Hash Color หรืองานกำกับภาพที่ออกแบบให้แสง เงา ตัดกันอย่างรุนแรง แทบจะถอดแบบมาจาก Only God Forgives ของผู้กำกับเชื้อสายเดนมาร์กนิโคลาส วินดิง เรฟิน ที่เขาเคยร่วมงานด้วยสองครั้งสองครา ซึ่งนอกจากงานด้านภาพแล้ว เพลงประกอบที่กอสลิงหยิบนำเอามาใช้ส่วนใหญ่เป็นเพลงเก่า หรือไม่ก็ดนตรีย้อนยุคในช่วงทศวรรษ 70-80 ซึ่งก็ละม้ายคล้ายเคียงกับ Drive หนังที่สร้างความฮือฮาในเทศกาลเมืองคานส์ในปี 2011 มาแล้วเช่นกัน (หนึ่งในนั้นคือรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมโดยนิโคลาส วินดิง เรฟิน)
นอกจากนี้สไตล์การเล่าเรื่องแบบกวี ที่ภายใต้ความเนิบช้า อ้อยอิ่ง ยังรู้สึกถึงแรงปะทุและอารมณ์ความกราดเกรี้ยวอยู่ภายใน ก็ดูมีความเหมือนคล้ายกับหนังอย่าง Days of Heaven, The Thin Red Line และ The Tree of Life ของผู้กำกับเทอเรนซ์ มาลิค ถึงขั้นที่กอสลิง แสดงความคารวะด้วยการขึ้นเครดิตแสดงความขอบคุณผ่านเอนด์เครดิตในหนัง (รวมถึง นิโคลาส วินดิง เรฟิน ด้วย)
กอสลิง เคยเล่นหนัง Political Drama ที่มีประเด็นทางการเมืองชัดเจนอย่าง The Ides of March ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างพล็อต ผูกปม ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์บ้านเมืองที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอย่างวิกฤติซับไพรม์ที่ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล่มสลายและการเงินการธนาคารในอเมริกาต้องสั่นคลอนส่งผลกระทบไปทั่วโลก และใน Lost River เอง มันก็คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้ตัวละครทุกคน ดิ้นรนเพื่อบ้านของพวกเขา และพยายามหนีให้พ้นชะตากรรมจากเมืองเล็กๆ ที่ร้างไร้ผู้คน จนนำมาซึ่งเหตุร้ายๆ ในเวลาต่อมา สายตาที่มองโลกอย่างจริงจังด้วยสีทึบเทา กอสลิง เน้นย้ำความเลวร้ายของทุนนิยมลงไปในหนังของเขาอีกคำรบ เมื่อสายน้ำที่สาปสูญตามชื่อหนังและเมืองที่จมอยู่ใต้บาดาล มาจากความคิดตื้นเขินที่แค่อยากให้เมืองเล็กๆ มีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างทะเลสาบ จึงลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่จนบางส่วนของเมืองจมอยู่ใต้น้ำในที่สุด
กอสลิงตอกย้ำความวิปริตผิดเพี้ยนของคนในเมืองอีกครั้งเมื่อ เมื่อการมาถึงของ "เดฟ" ผู้จัดการธนาคารหน้าเลือด ที่ไม่เพียงไล่ยึดบ้าน เผาไล่ที่ ลูกหนี้เอ็นพีแอลทั้งหลายแล้ว เขายังเปิดไนท์คลับจัดโชว์พิสดาร หลอกล่อผู้คนในเมืองให้มาปลดปล่อยความกักขฬะชั่วร้ายในตัว (รวมถึงตัวเขาเองด้วย)
วิธีการนำสารของกอสลิง อาจไม่เป็นที่ถูกใจหรือยอมรับได้ในหมู่คนดูวงกว้างสักเท่าใดนัก เพราะผู้จัดจำหน่ายอย่าง วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ตัดสินใจนำหนังเข้าฉายแบบจำกัดโรง สาเหตุหนึ่งเพราะสเกลหนังที่เล็กมากโดยใช้ทุนสร้างเพียง 2 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยขายหนังด้วยวิธีวิดีโอออนดีมานด์ รวมถึงเข้าฉายตามเทศกาลหนังไม่กี่แห่งอย่างเมืองคานส์ ฝรั่งเศสเมื่อปีที่ผ่านมา และเทศกาลเซาท์บายเซาท์เวสต์ หรือ SXSW ที่เมืองออสติน รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ในฐานะคนทำหนังหน้าใหม่แล้ว นี่คือหนังที่เต็มไปด้วยพลังของการสะท้อนเรื่องราวประเด็นทางสังคม และจิตใจที่บิดเบี้ยวจากผลกระทบที่พวกเขาได้รับ รวมถึงสิ่งที่น่าชื่นชมคือการใส่ใจและทุ่มเทให้กับการทำหนังของคนคนหนึ่ง ที่สถานะ "ซุปตาร์" ของเขา จริงๆ แล้วสามารถหยิบจับเรื่องราวที่น่าจะขายและกอบโกยความสำเร็จเชิงธุรกิจได้มากกว่านี้ แต่เจ้าตัวกลับเลือกทำงานที่สะท้อนแนวคิด ทัศนคติบางอย่างลงไป ที่สำคัญเขาทำมันอย่างตั้งใจโดยไม่อาศัยสถานะดาราดังผลักให้มันออกนอกทางแม้แต่น้อย Lost River คือบทพิสูจน์หนึ่งที่บอกกับเราว่า การเป็นนักแสดงที่ดีกับการเป็นคนทำหนังที่ดี บางครั้งสามารถแยกสถานภาพและสามารถรักษาคุณภาพของงานทั้งสองอย่างให้ดีได้ไม่ด้อยไปกว่ากัน
.......................................
(หมายเหตุ 'Lost River' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)