
เพลงไทยที่ฟังก่อนตาย (5) Royal Sprite
"The Royal Academy Of Magic Sprites" คือชื่อที่อาจารย์ที่ปรึกษาตั้งให้วงดนตรีวงนี้ ดูเหมือนจะรู้มันยาว และจำได้ยาก ที่สุดจึงย่อเหลือแต่ "The Royal Sprites" วงกึ่งอาชีพ ที่เรียนกลางวันกลางคืนเล่นดนตรีอาชีพ
ยุคที่ความฝันในการออกอัลบั้ม ทำเอ็มพี 3 ไม่ใช่ความฝันของนักดนตรียุคนั้น แต่การเล่นดนตรีตามบาร์ และไนต์คลับเป็นความหอมหวลในชีวิตมากกว่า กระนั้นก็ตามยุคนี้ที่ทหารจีไอ เข้ามาตั้งฐานทัพในบ้านเรา การได้อวดความสามารถในการเล่นดนตรีตามแผ่นเสียงเป๊ะ นั่นคือความสามารถในการแกะและการแสดง
ที่เพาะช่าง นักเรียนปีสุดท้าย ในปี พ.ศ.2512 อำนาจ ศรีมา รวบรวมเพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ปีสุดท้ายตั้งวงดนตรี ก่อนการแข่งขัน ได้ เสริมเวช ช่วงยรรยง อาอี๊ดในตำแหน่งคีย์บอร์ด (โลโก้คือแว่นตาขนาดใหญ่เห็นได้แต่ไกล)
วงรอยัลสไปรท์ เริ่มมีชื่อในวงกว้างตั้งแต่ได้อันดับสองในการประกวดวงสตริงคอมโบชิงถ้วยพระราชทาน ในปี 2513 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการประกวด 2 ปีต่อมาได้นักร้องนำมาเสริมทีมใหม่ที่มีลีลาการร้องเพลงบนเวทีที่เร้าใจมาร่วมวง คือ สุนทร สุตจริตฉันท์ เล่นประจำที่ ท็อปเปอร์คลับ
นับเป็นช่วงเวลาที่เพลงสากลมีบทบาทอย่างสูงในการฟัง และการแสดง หน้าปัดวิทยุเต็มไปด้วยเพลงสากล การเล่นเพลงไทยในยุคนั้นจึงเป็นไปได้ยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย เรียกว่าเล่นเมื่อไหร่ก็ฟลอร์แตก หรือไม่ก็เช็กบิลกลับบ้าน
ฉะนั้นการนำเสนอจึงต้องแนบเนียน และแยบยล เรียกว่าต้องผสมส่วนให้ลงตัว โดยการนำทำนองเพลงสากลมาใส่เนื้อไทย บางทีอาจนำความหมายหลักๆ ของเพลงสากลมาปรับให้เป็นเนื้อร้องเพลงไทย หรือเอามาเฉพาะทำนอง แล้วสร้างเนื้อร้องใหม่โดยไม่เกี่ยวกับเพลงเดิมเลยก็มี
2522 ย้อนกลับไป 30 ปี งานชุดแรกก็ออกสู่ตลาดโดยการนำเพลงสากลที่ฮิตในยุคนั้นมาทำอย่างว่า ผสมดนตรีดิสโก้ กระแสหลักของเพลงยุคนั้น “เจงกิสข่าน” ต่อด้วย “มาหาพี่” มาจนถึงกลิ่นอายของดนตรี Latin อย่าง Santana มือกีต้าร์พระเจ้าประทาน เชื้อสายอเมริกัน-เม็กซิกัน อย่างอัลบั้ม “รักสิบล้อต้องรอสิบโมง” ลูกทุ่งผสมสตริงยุคแรก ทำให้คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น
งานที่น่าบันทึกไว้คืองานชุด “หยุดโลก” ปี 2526 ในสังกัดนิธิทัศน์ ยอดขายมากที่สุดของวง
สมาชิกวง ช่วงนั้นประกอบไปด้วย
อำนาจ ศรีมา (กีต้าร์)
เสริมเวช ช่วงยรรยง (คีย์บอร์ด / ร้องนำ)
ไพรเวศ วงศ์ธนบัตร (เครื่องเป่า)
นิยม สะอาดพันธ์ (เบส)
พิเชฏฐ์ ศุขแพทย์ (เครื่องเป่า)
เดชา จินดาพล (เครื่องเป่า)
ศิโรฒน์ จุลินทร (กลอง)
สุนทร สุจริตฉันท์ (ร้องนำ)
การมาของเรื่องต่างดาวที่มีทั้งภาพยนตร์ ของ สปีลเบิร์ก ในเรื่อง E.T. และ Star War ส่งผลให้กระแสเรื่องต่างดาว เป็นที่สนใจอย่างมากในช่วงนั้น
กอปรกับเพลงในชุดหยุดโลกนี้ มีเพลงอย่าง “พบกันบนดวงดาว” ท่องไปบนดวงดาว ก้าวลงบนดวงจันทร์...ว่าด้วยเรื่องจินตนาการถึงการใช้ชีวิตอยู่บนหมู่ดาว เมื่อพรากจากคนรักบนโลก และอยากให้ไปเจอกันบนดวงดาว ดนตรีดิสโก้จังหวะหนึบๆ เมโลดี้สวยๆ สลับริฟฟ์ กีต้าร์ คลอด้วยเสียงสตริงที่ลื่นไหลไปตลอดทั้งเพลง
“น่าอาย” เพลงที่ขึ้นต้นด้วยการดัดเสียงเล็ก ชวนน่าติดตาม เมื่อเข้าเพลงที่มีจังหวะสนุก ดนตรีแบบตะวันตก ท่อนที่ร้องว่า น่าอาย หน่าอ๊าย อาย ยาย ยาย ย่าย หย่าย อา อ๊ะ อาย เล่นเอาวัยรุ่น ร้องไปอายไปกันทั้งเมือง"
“หยุดโลก” เพลงที่มีท่อนหยุด แล้วต้องหยุดกันไปทั้งโรงเรียน หยุดตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ที่สำคัญ หากหยุดตรง ต้องทำตัวแข็งอยู่พักนึงจนกว่าจะมีเสียงร้องของพี่จี๊ด ต่อว่า “หยุดเอาไว้ โลกนี้หยุดหมุน...” ถึงขนาดโรงเรียนที่ผมเรียน นำเพลงนี้มาเป็นการแสดงของกีฬาสีกันเลย
งานชุดนี้น่าสนใจและน่าหามาฟังหรือเก็บไว้เป็นคอลเลกชั่น อันที่จริงหาฟังไม่ง่ายโดยเฉพาะ ต้นฉบับควรค่าแก่การบันทึกเป็นเพลงไทยที่น่าฟังมากที่สุดโดยเฉพาะ 3 เพลงที่แนะนำไป
ครั้งหนึ่งที่สัมภาษณ์สดทางวิทยุ กับวงรอยัลสไปรท์ มีผมและคุณนพพร อุดมศักด์ เมื่อปี 2004
คาราวะความพยายาม และความทุ่มเทในการทำงานดนตรประดับไว้ให้โลกนี้อีกครั้งนึงครับ
ชาตินี้ ยังไงก็ฟังเพลงทั่วไปได้ไม่หมด
ขอเลือกเพลงโปรด ฟังก่อนตาย ดีกว่า
"โชคชัย เจี่ยเจริญ"
[email protected] <mailto:[email protected]>