
'The Imitation Games'โฮโมเซ็กชวลถอดยาก'อีนิกมา'
30 ม.ค. 2558
The Imitation Gamesโฮโมเซ็กชวลถอดยาก 'อีนิกมา' : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร
ออสการ์ ไวลด์ กับ ดอน ฮวน เคยพูดประโยคหนึ่งคล้ายกันว่า พลังลึกลับทางเพศมีอำนาจที่อธิบายไม่ได้ มากกว่าหลายๆ เรื่อง มีคนไปโต้แย้งว่า มันไม่สามารถถูกกำกับได้ด้วยสติและปัญญาหรือ ?
ไม่มีคำตอบอธิบายจากสองคนนั้น หรือคำถามอาจจะมาจากยุคนี้ แต่ถ้าบอกแบบกว้าง ถ้ามันกำกับได้ด้วยสติ ทำไมหลายร้อยพันปีที่ผ่านมา คนที่เข้าไปมีชู้หรือทำผิดทางเพศ มักมาจากทุกชนชั้น ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงราชวงศ์ ตั้งแต่อาชีพโจรไปจนถึงบาทหลวง และประธานาธิบดี
ถ้ามองแค่ตรงนี้ ผมเชื่อมานานแล้วว่า อำนาจลึกลับและความต้องการทางเพศมี power มากกว่า และมันถูกเลือกในสถานการณ์มากกว่าเรื่องศีลธรรม อำนาจลึกลับที่มากกว่านี่เอง ถูกสะท้อนผ่าน passion ของ อลัน ทูริง นักถอดรหัสของฝั่งอังกฤษในช่วงสงครามโลก ซึ่งต้องจัดการกับรหัสอีนิกมาของเยอรมัน และแม้จะใช้เวลากว่า 2 ปี เขาก็มันได้สำเร็จ โดยไม่รู้ว่าต้อง “แลก” กับชีวิตในด้านมุมมืดที่ผ่านเข้ามาหลังจากนั้น
ผมดู The Imitation Games ต่อจาก American Sniper และก็รู้สึกอย่างหนึ่งว่า หนังสองเรื่องนี้มีมุมหนึ่งที่คล้ายกันนั่นคือ การพูดในสิ่งที่เป็น sub-text และ subliminal นั่นคือ ไม่สามารถตีความตรงๆ ในสิ่งที่เห็น เพราะมันมีเรื่องที่ “เร้น” และ “ซ่อน” อยู่
คริส ไคลน์ ใน American Sniper กับ อลัน ทูริง ใน The Imitation Games ไม่ได้มีแกนหลักที่ภาพเบื้องหน้า กล่าวคือหนังไม่ได้พูดเรื่องการจัดการเหยื่อ หรือการเอาชนะรหัสของฝ่ายเยอรมัน
แต่โฟกัสไปที่การไม่ได้เอาชีวิตกลับมาจากสงคราม ที่ คริส กลับบ้านหลังจากนั้น พูดง่ายๆ ก็คือไปส่องเขา ก็โดนสงคราม sniper กลับมาด้วย คือเหลือแต่ body ขณะที่ ทูริง เขาต้อง “คลำ” และ “รักษา” สภาพจิตที่เป็นโฮโมฯ มากกว่าการหมกมุ่นกับเครื่องถอดรหัสบ้าบอที่หลายคนบอก
ภาพจากกล้องที่ “ย้อนแย้ง” กันเองในหลายช็อต ทำหน้าที่สะท้อนว่า อลัน ตกอยู่ในภาวะสับสนสุดขีด จริงๆ หนังจะใช้ลักษณะภาพแบบ decon ก็ได้ แต่มันจะแข็งและชัดเกินไป พอชัดเกินไป มันไม่ตรงกับภาวะเป็นเกย์ของทูริง
ผมว่าการแสดงของทุกคนในเรื่องนี้ดีหมด ยกเว้นนักแสดงคนโปรดอย่าง เคียรา ไนท์ลีย์ ที่มารับบทนักวิชาการ แต่ไม่รู้จะมีใครเชื่อมั้ยว่าเธอเป็นนักวิชาการจริงๆ หนังดีทีเดียว แต่ก็มีข้อด้อยให้เห็นว่า สัดส่วนต่างๆ ของหนังไม่บาลานซ์กัน ช่วงที่ชัดมากก็คือ ช่วงท้ายของหนัง ที่เหมือนเกินไปเยอะ
ออสการ์กำลังจะมาปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้ว ปีนี้เหมือนปีที่แล้วก็คือ การโถมตัวของหนังกลุ่ม Biopic หลายเรื่อง (ปีที่แล้ว biopic หรือหนังเกี่ยวกับบุคคลที่มีอยู่จริง อย่าง 12 years a slave ก็คว้าไป)
Time เคยบอกไว้ว่ามีเหตุผลอยู่หลายอย่างที่ Biopic มักจะมีบทบาทในออสการ์ แต่หนึ่งในนั้นก็คือ ฮอลลีวู้ดเองก็ต้องการจะ “เชิดชู” กระทั่ง “ยกย่อง” คนที่เคยเป็นฮีโร่ตัวจริงเสียงจริง
อย่างเช่นกรณีของ Louis Zamperini ที่รอดชีวิตจากการถูกทรมาน อันเป็นผลมาจากการไปรบในสงครามแปซิฟิก ในอีกด้านหนึ่ง หนังเหล่านี้ก็ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์รู้สึกว่าได้สร้างหนังอย่างแตกต่างกว่าที่เคย
ในรอบหลายปีมานี้ พื้นที่ของหนัง biopic บนเวทีออสการ์ ถือได้ว่ามีส่วนร่วมไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น The King's Speech, Argo หรือ 12 Years a Slave เข้าชิงในสาขาหนังยอดเยี่ยม
ขณะที่ยังสามารถเข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก ฌอน เพนน์ ใน Milk, โคลิน เฟิร์ธ ใน The King's Speech, แดเนียล เดย์-ลูอิส ใน Lincoln รวมทั้ง แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ ใน Dallas Buyers Club แล้วยังมีเข้าชิงในหมวดนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก เฮเลน มีร์เรน ใน The Queen, แมเรียน คอติลลาร์ด ใน La Vie en Rose, แซนดรา บูลล็อค ใน The Blind Side และขาประจำอย่าง เมอรีล สตรีพ ใน The Iron Lady ถึงขนาดมีการเปรียบเปรยกันว่าเหล่าบรรดาสตาร์ดังหรือขาใหญ่ในวงการภาพยนตร์เลือกสร้างหนังประวัติชีวิตบุคคล เพื่อโอกาสในการคว้ารางวัลมาครองนั่นเอง
บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า โดยปกติในเดือนมกราคมของทุกปี ออสการ์มักประกาศชื่อผู้เข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆ ตามหลังการประกาศ “ลูกโลกทองคำ” ซึ่งเป็นอันรู้กันว่าถึงเวลาของเทศกาลประกาศผลรางวัลของเวทีต่างๆ แล้ว
นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมหนังที่คาดหวังว่าจะได้รางวัล ถึงมักเปิดตัวฉายแบบจำกัดโรง ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม แล้วมาเปิดตัวให้ชมเต็มรูปแบบในวงกว้างเมื่อเดือนมกราคม เพราะผู้ผลิตในกลุ่มนี้เชื่อว่า ช่วงเวลาที่หนังออกฉายใกล้เคียงกับเวลาประกาศรางวัล มีผลต่อกรรมการตัดสิน
นักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยเชื่อเหลือเกินว่า เบื้องหลังความสำเร็จของ The King's Speech ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องราวที่หยิบยกมานำเสนอไม่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป
ดังนั้น การสร้างหนังที่อิงกับประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวของบุคคล เป็นเรื่องที่มีทั้งแง่มุมในเชิงสร้างสรรค์เพื่อทำให้ผู้ชมได้อรรถรสและความเพลิดเพลิน แต่ผู้สร้างเองก็ต้องระวังการใส่เรื่องราวที่อาจเรียกร้องความน่าสนใจจนบางทีอาจมากเกินไป
ทีนี้มาดูสิว่า ร่างทรงของ อลัน ทูริง จะก้าวขึ้นไปรับออสการ์ปีนี้หรือเปล่า...
.......................................
(หมายเหตุ The Imitation Gamesโฮโมเซ็กชวลถอดยาก 'อีนิกมา' : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)