บันเทิง

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหยุดการละเมิดและลิดรอนสิทธิในสังคม1

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหยุดการละเมิดและลิดรอนสิทธิในสังคม1

26 ม.ค. 2558

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหยุดการละเมิดและลิดรอนสิทธิในสังคม (1) : คอลัมน์ กฤษนะทัวร์ยกล้อ โดย... กฤษนะ ละไล

 
          ประวัติศาสตร์การต้อสู้เรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของชาติไทยได้ถูกบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อช่วงบ่ายวันพุธที่ 21 มกราคม 2558 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้อ่าน คำพิพากษาคดีรถไฟฟ้าบีทีเอส 23 สถานีแรก ที่ไม่ได้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ และผู้สูงอายุ อย่างทั่วถึง และเพียงพอที่จะใช้ประโยชน์ได้จริง  
 
          โดยศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ผู้ฟ้องคดี คือ ตัวแทนผู้พิการเป็นฝ่ายชนะคดี ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้อง คือ กรุงเทพมหานคร และบริษัทเอกชนที่บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอส จะต้องไปช่วยกันจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการที่เป็นมาตรฐานสากล ทุกคน ทุกวัย เข้าถึงได้สะดวก ปลอดภัย ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา  
 
          คดีนี้ ถือเป็นมหากาพย์น้อยๆ แต่ส่งผลที่ยิ่งใหญ่ในการรณรงค์ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของกลุ่มผู้พิการ และผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ในประเทศไทย ที่มีความสำคัญ และน่าสนใจเป็นอย่างมาก  
 
          จุดเริ่มต้นของคดีนี้ เริ่มจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ในนามคณะกรรมการอิสระเพื่อความเสมอภาค และชมรมมนุษย์ล้อนานาชาติ ซึ่งได้พบปะหารือกันถึงแนวทางการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้คนทุกคน ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม
 
          จากนั้น จึงได้เดินทางไปศึกษาดูงานการสร้างทำอารยสถาปัตย์ หรือหลักการออกแบบที่เป็นสากล เป็นธรรม และเป็นมิตรกับคนทั้งมวล ในประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองในเรื่องนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงปี 2549 จึงได้ไปเห็นการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะที่ทำให้ทุกคน ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ใช้ประโยชน์ได้ สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม ตลอดจนการบริหารจัดการบริการสาธารณะทุกรูปแบบของญี่ปุ่นที่คำนึงถึงการเข้าถึงได้ 
 
          รวมทั้งได้ทดลองใช้บริการระบบขนส่งมวลชนยอดนิยมในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น นั่นคือ รถไฟฟ้า ซึ่งเปิดให้บริการมากว่าร้อยปี และมีการพัฒนาก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับรองรับการใช้งานของกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์ขึ้นลง และเชื่อมต่อทุกสถานี ทางลาดสำหรับมนุษย์ล้อ (หรือเข็นกระเป๋าสัมภาระต่างๆ) และเบรลล์บล็อกทางเดินสำหรับคนตาบอดที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่  มีห้องน้ำอารยสถาปัตย์ ที่สุดแสนไฮเทค สะดวก ปลอดภัย สะอาด สวยงาม มีป้ายสัญลักษณ์รูปวีลแชร์ ซึ่งหมายถึงสถานที่แห่งนั้นเป็นมิตรกับคนทุกคน และทุกวัย  ฯลฯ  
 
          เมื่อกลับมาจากญี่ปุ่นในครั้งนั้น เครือข่ายมนุษย์ล้อจึงได้มีการประชุมหารือกันว่า เราจะช่วยกันทำให้บ้านเมืองของเราเป็นเมืองอารยสถาปัตย์แบบญี่ปุ่นได้อย่างไร จากนั้นก็ได้มีการแบ่งสายกันออกสำรวจอารยสถาปัตย์ในสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงการออกสำรวจระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าของไทยใน 23 สถานีแรกที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2542 ซึ่งปรากฏว่า ยังไม่มีการทำสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ สำหรับรองรับการใช้บริการของประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็นวีลแชร์   
 
          โดยใน 23 สถานีแรก เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช-สะพานตากสิน นั้น มีเพียง 5 สถานี คือ อโศก อ่อนนุช ช่องนนทรี หมอชิต สยาม ที่ได้มีการติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ อยู่บ้าง แต่ก็มีลิฟต์เพียงข้างเดียว คือมีข้างซ้าย ขาดข้างขวา  หรือมีแต่ขาไป ไม่มีขากลับ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ 
 
          ในที่สุด เครือข่ายมนุษย์ล้อในนามคณะกรรมการอิสระเพื่อความเสมอภาค และชมรมมนุษย์ล้อนานาชาติ จึงมีมติร่วมกันว่า ควรใช้มาตรการทางกฎหมาย คือการฟ้องร้อง ควบคู่ไปกับการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิความเสมอภาค และเรื่องการจัดทำอารยสถาปัตย์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ
 
          13 กันยายน 2550 เป็นวันที่เครือข่ายมนุษย์ล้อในนามคณะกรรมการอิสระเพื่อความเสมอภาค นำโดย สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์, เสาวลักษณ์  ทองก๊วย, พิเชษฐ์ รักตะบุตร และทนายความจิตอาสา “สนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์” พาคณะมนุษย์ล้อเดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งขณะนั้นที่ทำการศาลยังอยู่ที่ย่านสาทร 
 
          โดยยื่นฟ้องทั้งกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ดูแลสัมปทานก่อสร้างรถไฟฟ้า และฟ้อง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เอกชนผู้ได้รับสัมปทานการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส 23 สถานีแรกของเมืองไทย ว่าทำไมจึงไม่มีการสร้างทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ให้ใช้บริการรถไฟฟ้าได้  
 
         สัปดาห์หน้ามาขยายความกันต่อครับ
 
.......................................
(หมายเหตุ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหยุดการละเมิดและลิดรอนสิทธิในสังคม  (1) : คอลัมน์ กฤษนะทัวร์ยกล้อ โดย... กฤษนะ ละไล)