บันเทิง

หนังโรงเล็ก:ไป'สแตนลีย์ พาร์ค'ไป'Back to the Future'

หนังโรงเล็ก:ไป'สแตนลีย์ พาร์ค'ไป'Back to the Future'

16 ม.ค. 2558

ไป'สแตนลีย์ พาร์ค'ไป'Back to the Future' : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร


          การจากลาด้วยเวลานั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ใดหรือ...
    
          จากตอนที่เด็กผู้ชายใน Toy Story 3 ต้องหันหลังให้ “ของเล่น” หรือจากตอนที่ โนบิตะตอนโต ไม่ต้องการโดราเอมอนอีกต่อไป... จากซีนที่วัยเยาว์ โบยบินไปจากวัยเด็กในหนัง Melody หรือจากวันที่เด็กชาย 4 คนกลับมาจากป่า ใน Stand By Me
    
          จะจากหลักไมล์หมุดหมายใดก็ตาม แต่อีกไม่นานมากนัก สนามคลาสสิกอย่าง “แอนฟิล์ด” ก็คงต้องล่ำลาพื้นที่เดิมสู่บ้านหลังใหม่ และบ้านหลังใหม่ที่ว่านี้ ซึ่งมีข่าวมานานก็คือ ทุ่งหญ้าสแตนลีย์ พาร์ค ที่กั้นกลางระหว่าง เอฟเวอร์ตันกับลิเวอร์พูลนั่นเอง
    
          ผมเคยไปงานฟุตบอลหลายครั้ง และในส่วนหนึ่งของจำนวนนั้น ก็มีโอกาสเดินผ่าน เดินทอดน่อง และเดินสบตาหวานกับท้องทุ่งที่ว่านี้ สแตนลีย์ พาร์คมีความหมายหลายมุม แต่มิติหนึ่งที่พบเห็นทุกวันก็คือ การเป็นสนามพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนในเมืองนั้น
    
          ภาพของเด็กๆ ที่มาวิ่งเตะบอล แม่บ้านมานั่งกินขนมคุยกัน หรือบางคนรื่นรมย์ถึงขนาดมานั่งถักเสื้อ รวมทั้งนอนอ่านหนังสือ เป็นภาพที่เล่าเรื่องได้ดีว่าสนามพื้นนี้ มีความหมายแค่ไหนสำหรับผู้คน การที่เป็นพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ หลายๆ ปีมานี้ ผู้บริหารของหงส์แดง จึงเคยมีข่าวมาตลอดว่า สนามแห่งใหม่ของลิเวอร์พูล น่าจะมีสร้างในพื้นที่นี้
    
          เหตุผลประการแรก ไม่ต้องจากแอนฟิล์ดไปแบบขาดเยื่อใย และเหตุผลที่สอง แม้ไม่ใช่แอนฟิล์ดแล้ว แต่มันก็ยังมีความรู้สึกอ่อนไหวและอ่อนหวาน ต่อแฟนบอลอยู่
    
          ผมเคยไปสแตนลีย์ พาร์ค 5 ครั้ง (ปี 2007, 2008, 2009, 2011, 2013) หนึ่งในนั้นคือการไปทริป AIA ระหว่างเดินผ่าน ถ้าเป็นคนละเอียด จะพบว่า ระหว่างทางเดินไป เขามีการวางรูปของแม่น้ำเมอร์ซี่บ้าง รูปภาพของบิล แชลค์ลีย์ และการเพนท์งานแสดงตัวตนของแฟนบอล ในแบบกราฟฟิตี้ ซึ่งฮิตในยุโรปมา 20 ปีแล้ว (แต่คนไทยมารู้จักจากนายแบงค์ซี่ ซึ่งดังในปี 2005 ผลงานหนึ่งที่ป๊อปมากคือ แบงค์ซี่ ไปพ่นสีบนตัวช้าง)
    
          ผมคิดว่า สแตนลีย์ พาร์ค ไม่ได้มีความหมายในแบบเดียว กับที่เซ็นทรัล พาร์ค มีที่นิวยอร์ก หรือสวนลุมมีกับคนกรุงเทพฯ แต่ด้านหนึ่งที่ฝังไว้ก็คือ ความผูกพันเป็นจิตวิญญาณของชุมชน ที่เติบโตมา (ซึ่งไม่ได้หมายความว่า อีกไม่นานนัก ที่ลิเวอร์พูลจะเปลี่ยนสนามนั้น จะเป็นที่ตรงนั้นแน่ๆ มันอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้)
    
          ออกจากทุ่งหญ้าอันแสนหวาน ที่มีความหลังกับคนบางคน ไม่นานนัก ก็มีข่าวมาจากทวิตเตอร์ของ Time ว่า ไนกี้เตรียมจะออกรองเท้า “รุ่นพิเศษ” ที่ชื่อว่า McFly’s Sneakers (บางคนเรียกว่า Lacing)
    
          ผมตื่นเต้นกับข่าวนี้ไม่น้อย เพราะปี 2011 ไนกี้เคยออกรองเท้าแบบนี้ เพื่อเอาเงินไปช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์ของ ไมเคิล เจ.ฟอกซ์ มาแล้ว
    
          ต้องเล่าว่า รองเท้ารุ่นนี้นั้น ไม่ได้อยู่มาลอยๆ แต่ในปี 1989 ดีไซเนอร์คนหนึ่งชื่อ ทิงเกอร์ แฮทฟิล์ด ออกแบบมันเพื่อใช้ในหนัง โดยมีโจทย์ว่าต้องทำให้คนดูในปี 1989 เชื่อจริงๆ ว่า รองเท้าบินได้ ซึ่งในหนังภาค 2 นั้น ตัวมาร์ตี้ แม็คฟลาย ต้องบินมาในปี 2015 (ซึ่งก็คือปีนี้พอดี) โดยภาคแรกอยู่ในปี 1985
    
          เมื่อมีการทำออกมาในปีแรก 2011 นั้น ผู้คนแห่กันจับจองจนหมดเกลี้ยงในเวลาไม่นาน แต่สิ่งที่ทำให้ตัวหนัง เรียกร้องความสนใจจากคนดูได้จริงๆ ก็คือ พล็อตเรื่องที่ข้ามเวลา และเป็นหนังแมส ที่พูดเรื่องข้ามพื้น ข้ามเวลา แบบ “ไม่ดูยาก” อย่างหนังหลายเรื่องก่อนหน้านี้
    
          Crossing Time นั้น เป็นสินค้าอย่างหนึ่งในหนังยุคใหม่ และเราได้เห็นอาการแตะอนาคต ข้ามเวลาในหนังหลายเรื่อง (คนเหล็ก, Blade Runner,โดราเอมอน, 2001 : A Space odyssey) ซึ่งเล่นกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้จิตใจคน นั่นคือการอยากล่วงรู้ และหวาดกลัวในอนาคต (มุมนี้ นักคิดอย่าง แมทท์ โกรนิ่ง เคยนำมาทำเป็นการ์ตูนอย่าง Futurama มาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่า The Simpsons การ์ตูนโปรดของผม และ Time ในปี 1999 ยกให้เป็นการ์ตูนแห่งศตวรรษที่ 20)
    
          เมื่อดูจากหนังที่เกี่ยวกับการข้ามเวลาหลายๆ เรื่องแล้ว แง่มุมหนึ่งที่มักทำให้เราแน่นอก น้ำตาระรื้นตรงขอบตาก็คือ การต้องยอมจากลาในสิ่งที่ผูกพันมา สโมสรอาจต้องทิ้งบ้านไปกับแฟนบอล วัยเด็กโบยบินไปจากผู้คน
    
          เหมือนที่เราเคยรู้สึก เมื่อเห็นตุ๊กตาวู้ดดี้ใน Toy Story มองเด็กชายที่เติบโตขึ้นต้องหันหลังจากไป
    
          การหันหลัง เย็นชา และถูกทอดทิ้ง มีแต่คนที่โดนเท่านั้น ที่จะเข้าใจ...

.......................................
(หมายเหตุ ไป'สแตนลีย์ พาร์ค'ไป'Back to the Future' : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)