
เอกเขนกดูหนัง:'Into the Woods'
16 ม.ค. 2558
'Into the Woods' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
เวลากว่า 27 ปี นับจากเปิดแสดงครั้งแรกบนเวทีบรอดเวย์ เสน่ห์ของละครเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่การรวมเทพนิยายเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์สามเรื่องมารวมกันไว้เท่านั้น หากแต่ เนื้อหาเรื่องราวประเภท จับแพะชนแกะ มุกตลกและแก๊กต่างๆ ที่ตัวละครต่างมีลูกล่อลูกชน รับส่งกันเป็นอย่างดี ทำให้ละครเวทีเรื่องนี้เปิดการแสดงยาวนานมามากกว่า 700 รอบ ตระเวนเปิดแสดงทั่วโลก และกระทั่งเคยถูกนำไปสร้างเป็นรายการโทรทัศน์มาแล้ว
Into the Woods เป็นการ Mash Up (การผสมผสานข้อมูล เรื่องราว หรือเนื้อหามากกว่า 2 อย่าง เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมา) เทพนิยายดังสี่เรื่อง ประกอบด้วย ซินเดอเรลล่า, แจ๊ค ผู้ฆ่ายักษ์, หนูน้อยหมวกแดง และเจ้าหญิงราพันเซล จากนั้นก็สร้างสรรค์เรื่องราวขึ้นมาใหม่เป็นของตัวเอง ผ่านการเดินทางผจญภัยของสามีภรรยา นักทำขนมปังที่ต้องการแก้คำสาปแม่มดเพื่อให้ครอบครัวตัวเองกลับมามีทายาทได้อีกครั้งด้วยการออกตามหาสิ่งของสี่อย่างให้ได้ภายในสามวัน คือ รองเท้าสีทอง แม่วัวสีขาว เสื้อคลุมสีแดงราวกับเลือด และเส้นผมสีเหลืองเหมือนข้าวโพด (แน่นอนว่า สิ่งของทั้งสี่อย่างคือองค์ประกอบสำคัญในเทพนิยายทั้งสี่เรื่อง)
ความสนุกของ Into the Woods ส่วนหนึ่ง นอกจากเรื่องราวการผจญภัยของตัวละครในเทพนิยายคลาสสิกดั้งเดิมทั้งสี่เรื่องแล้ว ยังสร้างสรรค์เรื่องราวขึ้นมาใหม่ในรูปแบบมิวสิคัล ที่ทั้งเล่าเรื่องเก่าและสร้างเนื้อหาขึ้นมาใหม่ โดยหยิบจับทั้งของเก่าและใหม่มาหลอมรวมเข้าด้วยกันได้อย่างมีอรรถรส พร้อมๆ กับสร้างธีมขึ้นมาใหม่ ที่ทั้งเสียดสี ย้อนแย้ง กับต้นฉบับเทพนิยายเดิมที่ว่าด้วย ไม่มีพรได้ ได้มาโดยไม่มีการแลกเปลี่ยนตอบแทน Into the Woods วางตัวเองเป็นมิวสิคัลที่ให้อารมณ์ของงานตลกร้าย ภายในเรื่องราวพาฝัน ที่พาผู้ชมให้ตระหนักถึงความจริงในโลกอันโหดร้าย ที่ต้องดำรงชีวิตต่อไปให้ได้ แม้ต้องพบความเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม
ความไพเราะจากบทเพลงต้นฉบับบรอดเวย์มิวสิคัล ที่สตีเฟน ซอนด์เฮม ประพันธ์เอาไว้ ตั้งแต่เพลงธีมหลักอย่าง Finale/Children Will Listen, Any Moment, On the Steps of the Palace, No One is Alone, Agony และอีกหลายเพลง มีทั้งเพิ่มเพลงใหม่และดัดแปลงเพลงเก่าจากเดิมเสริมเข้ามาให้เรื่องราวมีความเข้มข้นมากขึ้น
ครึ่งแรกของ Into the Woods ที่ว่าด้วยการไล่เรียงเทพนิยายทั้งสี่เรื่อง โดยผูกเข้ากับการผจญภัยของสามีภรรยาคนทำขนมปัง ดำเนินไปอย่างสนุกสนาน แต่งแต้มด้วยมุกตลกที่ทั้งล้อเลียนตัวละครเดิม เพิ่มเหตุการณ์ขำๆ โดยใช้แก๊กใหม่ที่ดึงจากเหตุการณ์เดิมของเทพนิยายคลาสสิกมาใช้ ฉากที่เรียกเสียงหัวเราะได้ลั่นโรงก็คือการดวลเพลงของสองเจ้าชายจากซินเดอเรลลาและราพันเซล บนผาน้ำตาในเพลง Agony และฉากที่ภรรยาคนทำขนมปังได้เส้นผมสีเหลืองราวข้าวโพดมาอย่างไม่คาดฝัน แม้ครึ่งเรื่องหลัง Into the Woods ดูประดักประเดิด จากการพยายายามสร้างเรื่องราวของตัวเองขึ้นมาใหม่ที่ดูจะไม่ค่อยปะติดปะต่อ และพาเข้ารกเข้าพงหลงเข้าป่าไปไกล ก่อนจะวกกลับมาสู่อารมณ์ซาบซึ้งประทับใจได้อีกครั้งผ่านเพลง No One is Alone
ผู้กำกับ ร็อบ มาแชล เลือกเอานักแสดงละครเวที ที่มีความสามารถทางการร้องมารับบทตัวละครที่มีความสำคัญต่อเรื่อง อาทิ พ่อค้าขนมปัง เจ้าหนูแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ และหนูน้อยหมวกแดง ทำให้ฉากที่ปะทะคารมและอารมณ์ของตัวละครหลักผ่านเสียงเพลง Your Fault เต็มไปด้วยพลังทางการร้องและการแสดงที่สุดฉากหนึ่งในหนัง โดยเฉพาะศักยภาพของนักแสดงรุ่นใหญ่อย่างเมอรีล ตรีพ ในบทแม่มด และ แอนนา เคนดริค ในบทซินเดอเรลล่า ที่ร่วมดวลเพลงกับ สามนักแสดงละครเวทีมากฝีมือทั้งสาม ทำให้ฉากการกล่าวโทษกันตอนท้าย ทั้งทรงพลัง ได้อารมณ์ และสะกดผู้ชมให้ตรึงอยู่กับที่เหมือนดังต้องมนต์ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว
เครดิตเจ้าของรางวัลออสก้าร์จาก Chicago ทำให้เราคาดหวังว่าจะได้เห็นการออกแบบท่วงท่า ลีลาการเต้นรำและการเคลื่อนไหวของตัวละครที่พลิ้วไหวสวยงาม กลับไม่มีให้เห็นใน Into the Woods เท่าที่ควร (ซึ่งในต้นฉบับละครบรอดเวย์ ก็คงไม่ได้เน้นเรื่องของ Chorograph สักเท่าใดนัก แต่น่าเสียดายที่ผู้กำกับร็อบ มาแชล ผู้ได้ชื่อว่าโดดเด่นเรื่องการออกแบบท่าเต้นกลับไม่แสดงศักยภาพทางด้านนี้ของเขาออกมาให้เราได้เห็นบ้าง) แต่อย่างน้อยก็สามารถรักษาอรรถรสของละครเพลงต้นฉบับ และหัวใจของเรื่องราวในเทพนิยายชวนฝัน นั่นก็คือพาผู้ชมออกเดินทางผจญภัยไปในโลกแฟนตาซีเร้นลับที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ริ่นรมย์ และจบลงด้วยการพานพบกับความสุขไปชั่วนิรันดร์ ชวนให้เรายิ้มหลับฝันหวานไปตลอดทั้งคืน ถึงแม้เรื่องราวใน Into the Woods จะพยายามสะกิดดึงเราให้กลับไปอยู่กับความจริงอันโหดร้ายในโลกอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ยังประนีประนอม ไม่ทำร้ายตัวละครในดวงใจของผู้ชมจนเกินไปนักและยังมอบความหวังสำหรับการดำรงอยู่เพื่อสู้ชีวิตกันต่อไป
เมื่อพิจารณาจากคู่แข่งบนเวทีลูกโลกทองคำในประเภทหนังเพลง ตลก ที่เพิ่งประกาศผลกันไปในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา Into the Woods จะดูเป็นรองจากบรรดาสี่เรื่องที่เข้าชิงชัย อันประกอบด้วย Birdman, The Grand Budapest Hotel, Pride, St.Vincent และก็พลาดรางวัลหนังยอดเยี่ยมไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของหนังเพลงเรื่องนี้ด้อยไปกว่าอีกสี่เรื่องที่กล่าวมาแต่อย่างใด
.......................................
(หมายเหตุ 'Into the Woods' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)