
'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว'กับ'เสภาวังหน้า'
15 ม.ค. 2558
'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว'กับ'เสภาวังหน้า' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน
ถ้าจะกล่าวถึงเทศกาลดนตรีบ้านเราแล้วนั้นในเดือนมีนาคมพวกเราชาวไทยทุกคนก็จะต้องนึกถึง "พัทยามิวสิกเฟสติวัล" พอเข้ากลางปีก็จะคิดถึง "หัวหินแจ๊สเฟสติวัล" เพราะเนื่องจากทั่ง 2 รายการนี้ได้จัดกันมาต่อเนื่องอย่างยาวนานนับสิบปีส่วนเทศกาลดนตรีอื่นๆ ก็ยังมีจัดให้พวกเราชาวไทยได้ชมกันอยู่อีกหลายต่อหลายแห่งแต่ส่วนใหญ่นั้นจะจัดกันไม่ค่อยต่อเนื่องเหมือนกับ 2รายการที่ผมได้กล่าวมาจึงทำให้ความคุ้นเคยนั้นได้ขาดหายไปจากความรู้สึกนักฟังเพลงชาวไทยรวมถึงชาวต่างชาติอีกด้วยครับ
แต่ถ้าเรานึกถึงดนตรีไทยเดิมหรือดนตรีปี่พาทย์ของเราบ้างล่ะ ว่าจะมีการจัดเป็นแบบเทศกาลดนตรีเหมือนกับดนตรีสากลกับเขาบ้างหรือเปล่า? ผมก็ต้องขอตอบไปเลยว่า มีครับและหลายต่อหลายแห่งอีกด้วยเพียงแต่ว่าการจัดของทางฝั่งดนตรีไทยเดิม นั้นขาดการโปรโมทเหมือนกับรายการเทศกาลดนตรีต่างๆ ของทางฝั่งดนตรีสากลนั่นเอง อย่างเมื่อในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นทางกรมศิลปากรนั้นได้จัดรายการแสดงดนตรีปี่พาทย์ที่เปรียบเป็นเสมือนกับเทศกาลดนตรีขึ้นมา เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาไม่กี่วันนี่เองครับโดยใช้ชื่อว่า "ปี่พาทย์เสภาวังหน้า" ซึ่งก็ได้จัดต่อเนื่องกันมาในชื่อนี้ถึง 13 ครั้งหรือ 13 ปี แต่ถ้าจะนับกันจริงๆ แล้วนั้น รายการนี้ได้จัดกันมามากกว่า 30 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้จัดกันอย่างเป็นทางการ ในชื่อของ "ปี่พาทย์เสภาวังหน้า" ส่วนการจัดรายการนี้ในที่ผ่านมาของทุกๆ ปี ก็จะเชิญวงปี่พาทย์ของกองดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ ซึ่งในเรื่องของฝีไม้ลายมือคงไม่ต้องบรรยายครับ เพราะทุกวงนั้นเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว และที่ขาดไม่ได้ก็คือวงปี่พาทย์ของทางเจ้าภาพ กรมศิลปากร และวงนี้ก็เช่นกันไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรกันมากเพราะเนื่องจากว่าเป็นสถาบันหลักของวงการดนตรีและนาฏศิลป์ บ้านเรามาอย่างยาวนาน และในรายการปี่พาทย์เสภาวังหน้าในระยะหลังทางหน่วยงานหรือเจ้าภาพที่จัดนั้นได้เพิ่มความเข้มข้นของวงปี่พาทย์ด้วยการเพิ่มวงที่มีนักดนตรีวัยรุ่นฝีมือจัดจ้านของ "วงปี่พาทย์กรุงเทพมหานคร" เข้ามาอีก แถมในบางปีก็จะคัดสรรค์วงชาวบ้านเข้ามาเป็นเกสต์รับเชิญ และอย่างในปีนี้ ก็ได้เชิญวงปี่พาทย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ส่วนกลาง เข้ามาร่วมบรรเลงเพื่อเพิ่มอรรถรสเข้าไปอีก และแถมใน 3 ปี ที่ผ่านมานี้ ยังได้เพิ่มภาคการแสดงอย่างรำอาเศียรวาทและการแสดงในชุดต่างๆ ในรูปแบบของเสภา เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและถวายพระพรให้แด่สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย เพราะว่าการจัดปี่พาทย์เสภาวังหน้าความจริงแล้วนั้นก็เป็นการจัดเพื่อถวายการน้อมรำลึกถึง ในวันที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 นั่นเอง ดังนั้นแล้วในทุกๆ วันที่ 7 มกราคม ของทุกๆ ปี ชาวดนตรีไทยทั้งหลายก็จะสามารถรับชมรับฟังวงปี่พาทย์มาตรฐานหลากหลายวงได้ที่บริเวณด้านหน้าพระบรมรูปสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านข้างโรงละครแห่งชาติ ใกล้ๆ กับท้องสนามหลวงนั่นเองแหละครับ
พอเขียนถึงงานปี่พาทย์เสภาวังหน้าที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ก็อาจจะมีเด็กๆ ยุคใหม่หลายคนนั้นอาจจะยังไม่ทราบว่าทำไมพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงไปเกี่ยวข้องกับตรงบริเวณวังหน้า ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และก่อนหน้านี้นั้นก็เป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์ มาต้องหลายสิบปี เหตุก็เพราะว่าในบริเวณนั้นในสมัยรัชกาลที่1 ก็คือพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้ทรงสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเอาไว้เป็นศูนย์กลางของผู้ที่ดำรงค์อิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้มีความสำคัญมาก และต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจุฑามณี ขุนอิศเรศรังสรรค์ ให้รับบวรราชโองการพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 มีพระนามว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นที่ในพระราชวังบวรสถานมงคล แห่งนี้และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคลจนกระทั่งเสด็จสวรรคตและได้ดำรงค์ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพระองค์สุดท้ายอีกด้วยจึงทำให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีความสำคัญต่อสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างมากนั่นเองแหละครับ เอาไว้ในวันที่ 7 มกราคม ของปีหน้า ท่านผู้อ่านทุกท่านถ้ามีเวลาว่างก็อย่าลืมไปชม "ปี่พาทย์เสภาวังหน้า" พร้อมๆ กับไปสักการะ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เปรียบได้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 ของพวกเราชาวไทยด้วยนะครับ
.......................................
(หมายเหตุ 'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว'กับ'เสภาวังหน้า' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน)