บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:'Foxcatcher'

เอกเขนกดูหนัง:'Foxcatcher'

09 ม.ค. 2558

'Foxcatcher' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
          หนังที่สร้างจากเรื่องจริงหรือหนังอัตชีวประวัติส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่จำลองเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วไล่เรียง หรือไม่ก็สลับ เรียบเรียงเรื่องราวเหล่านั้น แล้วเล่าออกไปตามประเด็น หรือหัวใจของหนังที่คนทำต้องการ 
 
          Foxcatcher ก็เช่นกัน แต่ที่หนังเรื่องนี้ดูจะแตกต่างและโดดเด่นกว่าหนัง Biopic หรือหนังอัตชีวประวัติทั่วๆ ไปก็คือ การเล่นกับบรรยากาศ สีหน้า ท่าทางที่ตัวละครแสดงต่อกัน ล้วนแล้วแต่มีนัยย ที่ชวนให้สงสัยตีความ หลังผ่านจุดไคลแมกซ์ของหนัง แน่นอนว่า ไม่เพียงการบอกเล่าเรื่องราวของคนคนหนึ่ง ที่จู่ๆ กลายมาเป็นอาชญากรเท่านั้น ปฏิกิริยาที่ตัวละครมีต่อกัน ก็ชวนให้สงสัยว่า แท้ที่จริงความสัมพันธ์ของโค้ชและลูกทีม เป็นไปในแบบใดกันแน่ และเหตุใตเขาจึงตัดสินใจกระทำการเช่นนั้น...นี่ล่ะ คือแก่นแท้ เบื้องลึกในจิตใจมนุษย์ที่ยากเกินหยั่งถึง ที่เราไม่รู้วันรู้จักและทำความเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้ ทั้งๆ ที่มันสถิตฝังอยู่ในร่างและวิญญาณของเราเองแท้ๆ
 
          คู่พี่น้องนักมวยกีฬาปล้ำ พี่ชายเป็นโค้ช ส่วนน้องชายเพิ่งคว้าเหรียญทองกีฬาโอลิมปิคมาได้ไม่นาน แต่ดูเหมือนว่า ความสำเร็จที่พวกเขาได้รับ หาได้ช่วยให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นมาแต่อย่างใด หรือมีชีวิตดีขึ้นสักเท่าไหร่ เดฟ ชูลท์ ยังคงเปิดยิมเล็กๆ ฝึกซ้อมให้กับนักกีฬามวยปล้ำทั่วไป รวมทั้ง มาร์ค น้องชาย แต่แล้วจุดเปลี่ยนในชีวิตก็มาถึง เมื่อมาร์คได้รับการติดต่อจาก จอห์น ดูปองท์ มหาเศรษฐีเจ้าของคอกม้า ให้เข้าร่วมทีมมวยปล้ำ ‘Foxcatcher’ ที่เขาดูแลอยู่ด้วยค่าตัวสูงพอสมควร
 
          การเดินทางไปยังค่ายฝึกซ้อมทีมมวยปล้ำฟ็อกซ์แคทเชอร์ ณ ฟาร์มปศุสัตว์ในเพนซิลวาเนียของจอห์น ดูปองท์ ดูเหมือนเป็นการเดินทางไปเผชิญหน้ากับความเวิ้งว้างอันแสนลึกลับทั้งสถานที่และจิตใจคนของมาร์ค เพราะมหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่ใช้พื้นที่ในคอกม้าหลายร้อยเอเคอร์ ซึ่งนอกจากเป็นบ้านพักส่วนตัวแล้ว เขายังทำเป็นโรงยิมและบ้านพักของนักกีฬามวยปล้ำด้วย
 
          ความกว้างใหญ่ของบ้านไร่ อีกทั้งสภาพอากาศยังหนาวเย็นยะเยือก อีกทั้งสถานภาพเศรษฐีหนุ่มโสดของดูปอองท์ ที่พำนักอยู่เพียงลำพังท่ามกลางคนรับใช้และแม่ผู้แก่ชรา ขับเน้นความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาใหกับหนัง ทั้งๆ ที่ตัวละครอาจจะไม่แสดงความรู้สึกรู้สมกับสิ่งนี้ นอกจากทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมกีฬามวยปล้ำอย่างเอาเป็นเอาตาย มาร์ค เองก็เป็นหนุ่มโสดตัวคนเดียว ในขณะที่พี่ชายซึ่งปฏิเสธคำชักชวนของน้องให้มาร่วมทีมด้วยกันโดยเลือกที่จะอยู่กับครอบครัวมากกว่าแม้ ดูปองท์ จะใช้มาร์คเข้าเกลี้ยกล่อมหว่านล้อมพี่ชายมาร่วมทีมแค่ไหนก็ตาม 
 
          ทีมมวยปล้ำฟ็อกซ์แคทเชอร์ของดูปองท์ และมาร์ค ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็งอกงาม แน่นแฟ้น ดูปองท์พามาร์คออกงานสังคมอยู่บ่อยๆ บางครั้งก็ชักชวนให้ลองเสพโคเคนเพื่อการผ่อนคลาย และหลายครั้งที่มาร์ค ก็ยอมเป็นคู่ซ้อมให้กับดูปองท์บ้าง โดยตัวเขาเองก็ลองลงแข่งมวยปล้ำอาวุโส (และเอาชนะด้วยวิธีการที่คนรวยชอบทำกัน)
 
          มวยปล้ำ เป็นกีฬาที่ต้องใช้การปะทะ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับชกมวย ลักษณะการแข่งขันที่ต้องมีการกอดรัดฟัดเหวี่ยง ทุ่มทับ จับล็อค เพื่อทำคะแนนเป็นกีฬาที่ใช้กายแอบแนบชิด แม้หนังไม่บอกตรงๆ แต่ฉากที่มาร์ค มาเป็นคู่ซ้อมให้ดูปองท์บ่อยๆ หรือดูปองท์ฝึกสอนท่าทางให้มาร์ค ก็มีนัยยะของรักร่วมเพศ ด้วยเพราะความใกล้ชิดทางกาย นอกเหนือไปจากความใกล้ชิดทางใจที่ดูปองท์พามาร์คออกงานหรือเดินทางไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยๆ และความเหมือนคล้ายของทั้งคู่อย่างหนึ่งคือความเปลี่ยวเหงาของชายที่ภายนอกดูแกร่งกร้าว หนึ่งคือมหาเศรษฐี เจ้าของคอกม้า บุคคลิกเนี้ยบ มาดดี แต่ภายใต้ความ ‘แมน’ นั้น ดูปองท์ อยู่ใต้ร่มเงาของแม่ ธุรกิจคอกม้าอันที่จริงก็สืบทอดมาจากธุรกิจของตระกูลด้วยซ้ำไป การทำทีมมวยปล้ำ อาจจะเป็นการเติมเต็มความปรารถนาลึกๆ ของตน ปิดบังความอ่อนแอ หรือสร้างอะไรสักอย่างด้วยความภูมิใจจากน้ำมือตัวเองปราศจากอิทธิพลของครอบครัว คล้ายกันกับ มาร์ค ที่เอาเข้าจริง ความสำเร็จของเขาก็อยู่ภายใต้เงื้อมเงาพี่ชายที่เป็นโค้ชประจำตัวมาโดยตลอด แม้การมาอยู่ในสังกัดของดูปองท์ มาร์คก็พยายามชักชวนพี่ชายมาร่วมชายคา แต่ที่สุดแล้วเหรียญทองที่ได้รับในนามทีมฟ็อกซ์แคทเชอร์ คือการพยายามสร้างความสำเร็จด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายเดฟก็ถูกดึงมาร่วมทีมในที่สุด มาร์คเองไม่มีครอบครัว (หนังไม่กล่าวถึงด้วยซ้ำไปว่าเขามีแฟนสาวหรือไม่) การพยายามเดินออกจากอิทธิพลของคนในครอบครัวมาสร้างพิ้นที่ของตัวเอง เป็นสิ่งที่ทั้งมาร์คและดูปองท์ตามหามาชั่วชีวิต
 
          ถ้าความสัมพันธ์ของนักกีฬามวยปล้ำและมหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่เป็นแบบรักร่วมเพศ ต่อมาไม่นานความสัมพันธ์ที่ว่าก็กลายเป็นทั้งรักทั้งเกลียด เมื่อมาร์คเริ่มไม่อยู่ในโอวาทของดูปองท์ (ไมใช่เรื่องความรักหรือการนอกใจ แต่เป็นเรื่องของความทะเยอทะยานของฝ่ายแรก) น่าสนใจตรงที่ หนังพยายามถ่ายทอดความสัมพันธ์ของทั้งคู่แบบพ่อแง่แม่งอน แต่เป็นความเย็นชา ตึงเครียดของชายสองคนที่ห้ำหั่นกันทางสีหน้า แววตา มากกว่าใช้พละกำลังร่างกายเข้าปะทะ ดังนั้นการเข้าร่วมทีมในเวลาต่อมาของเดฟ นัยหนึ่งมันอาจจะสร้างแรงหึงหวงให้เกิดขึ้นระหว่างมาร์คและดูปองท์ โดยที่เดฟเองไม่ล่วงรู้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง และเป็นคนกลางที่ดูปกติที่สุด ท่ามกลางความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนที่ภายนอกดูปกติ แต่สภาพจิตใจภายในล้วนปั่นป่วนอ่อนไหว ภาพลักษณ์ภายนอกอาจจะตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วกับอารมณ์อ่อนไหวภายใน แน่นอนว่ามันง่ายมากต่อการแปรปรวนและตัดสินใจอย่างหุ่นหันพลันแล่นอย่างไร้เหตุผลในที่สุด
 
          Foxcatcherเป็นหนังที่มีการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งบทจอห์น ดูปองท์ ของ สตีฟ คาเรล บทสองพี่น้องนักมวยปล้ำ ชูลท์ บราเธอร์ส มาร์ค ผู้น้องโดยแชนนิ่ง ทาทั่ม และเดฟ ที่รับบทโดย มาร์ค รัฟฟาโล่ จาการกำกับของเบนเน็ท มิลเลอร์ ไม่ต้องแปลกใจหาในเทศกาลแจกรางวัลที่กำลังจะมีขึ้นในกลางเดือนนี้ไปตลอดสิ้นเดือนหน้าจะมีชื่อของสามคนนี้ปรากฏอยู่ตามสถาบันต่างๆ เพราะนี่คือหนังที่เต็มไปด้วยพลังทางการแสดงที่ทั้งลุ่มลึกและโฉ่งฉ่างหลอมรวมกันอย่างกลมกลืนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
 
.......................................
(หมายเหตุ 'Foxcatcher' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)