บันเทิง

'สักวัน ในศาลที่ใหญ่โตกว่านี้'

'สักวัน ในศาลที่ใหญ่โตกว่านี้'

25 ธ.ค. 2557

สักวัน ในศาลที่ใหญ่โตกว่านี้ : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... วิภว์ บูรพาเดชะ

 
     
          ทันทีชายหนุ่มคนหนึ่งถูกศาลตัดสินให้ได้รับโทษประหารชีวิต แทนที่เขาจะหวาดกลัวหรือร้องขอความเมตตา เขากลับโต้ตอบศาลอย่างองอาจ โดยมีถ้อยความตอนหนึ่งดังนี้
 
          “ข้าพเจ้ากล้าพูดได้ว่า จะมีสักวันหนึ่งหรอกที่เราทั้งหลายจะได้ไปชุมนุมอยู่พร้อมกันในศาลที่ใหญ่โตกว่านี้ และเมื่อเวลานั้นมาถึง เราก็จะได้รู้กันว่าอะไรถูกอะไรผิด”
 
          ประโยคนี้ถูกแปลจากอังกฤษเป็นไทยโดยสำนวนของ ศรีบูรพา นักเขียนสุภาพบุรุษผู้ได้ชื่อว่าใช้ทั้งชีวิตต่อสู้เพื่อประชาชนและเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทย ส่วนชายหนุ่มคนที่กล่าวประโยคนี้ชื่อ เน็ด เคลลี (Ned Kelly) เป็นชาวออสเตรเลียนผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 19 อันเป็นห้วงเวลาที่ประเทศออสเตรเลียยังเป็นเพียงอาณานิคมของอังกฤษ และยังเป็นดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อนที่มีชนพื้นเมือง คาวบอย นักขุดทอง พ่อค้าเร่ และนักบุกเบิก เป็นตัวละครหลักในพื้นที่
 
          เน็ด เคลลี เป็นใคร? ทำไมศรีบูรพาถึงให้ความสนใจกับหนุ่มคนนี้ถึงขนาดที่ลงมือรวบรวมข้อมูล แปล และเรียบเรียงออกมาเป็นนิยายหนา 400 หน้าชื่อว่า เน็ด เคลลี่ เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร 
 
          เน็ด เคลลี เกิดเมื่อปี 1854 ในเขตแขวงวิกตอเรีย ครอบครัวของเขาไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่ถึงกับยากจน พ่อของเน็ดเป็นอดีตนักโทษการเมืองชาวไอริชที่ถูกเนรเทศมายังออสเตรเลีย แล้วก็มักจะถูกเพ่งเล็งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เสมอ จนเมื่อเน็ดมีอายุได้ 11 ขวบ พ่อของเขาก็ถูกตำรวจจับในข้อหาเล็กน้อยแต่ต้องติดคุกและใช้แรงงานอยู่ถึง 6 เดือน เมื่อพ้นโทษ ครอบครัวเคลลีก็ตกที่นั่งลำบากเพราะผู้นำครอบครัวกลายเป็นคนสุขภาพบอบช้ำและถึงแก่กรรมในที่สุด
 
          หลังจากนั้น ครอบครัวเคลลีก็มักจะถูกตำรวจจับตามอง บางครั้งก็ถูกบุกเข้าค้นบ้าน เน็ดยังถูกจับหลายครั้ง บางหนเขาก็ถูกตัดสินโทษอย่างหนักทั้งที่มีความผิดในคดีเล็กๆ และส่วนใหญ่แล้วเรื่องที่เน็ดโดนจับก็มักจะไม่ค่อยมีหลักฐานนัก จนครั้งหนึ่งเมื่อเน็ดและน้องชายชื่อ แดน เกิดขัดขืนการจับกุมและต่อสู้กับตำรวจที่มาค้นบ้านจนการจับกุมล้มเหลวไม่เป็นท่า ทำให้ตำรวจได้รับความอับอายอย่างยิ่ง
 
          เน็ดเป็นคนร่างสูงใหญ่ มีบุคลิกที่ห้าวหาญ เมื่อบวกกับความหลังฝังใจว่าพ่อของเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายรัฐ ก็ทำให้เขากล้าต่อกรกับตำรวจทุกคนที่มาตอแยกับครอบครัว จนวันที่แดนถูกออกหมายจับในคดีที่โดนใส่ร้าย เน็ดก็ทนการบีบคั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อไปไม่ไหว เขาเลยชวนน้องชายกับเพื่อนอีก 2 คนให้เข้าไปอาศัยอยู่ในป่าเพื่อหนีให้พ้นสายตาของทางการ จนเมื่อตำรวจ 4 นายได้รับคำสั่งให้บุกป่าเข้าไปทำการจับกุมชายหนุ่มทั้ง 4 ก็กลายเป็นที่มาของการยิงต่อสู้กันอย่างอุตลุดจนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตไป 3 นาย และชื่อของแก๊งเคลลี (Kelly Gang) ก็กลายเป็นกลุ่มวายร้ายชื่อดัง
 
          ในเมื่อต้องเป็นคนนอกกฎหมายเสียแล้ว เน็ดและพรรคพวกจึงหันมาใช้ชีวิตเป็นขุนโจรเต็มตัวเสียเลย พวกเขาเริ่มปฏิบัติการที่เป็นเหมือนการตบหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาทิ ยึดสถานีรถไฟ ปล้นธนาคาร และยึดสถานีตำรวจ! แทบทุกครั้งการปล้นของแก๊งเคลลีจะสุภาพเรียบร้อยสมเป็นสุภาพบุรุษ หลายครั้งยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนที่โดนปล้นชนิดที่ไม่ต้องเสียลูกปืนเลยด้วยซ้ำ และทุกครั้งที่ปล้นธนาคาร เน็ดจะเอาใบจำนองที่อยู่ในธนาคารออกมาเผาเพื่อเป็นการปลดภาระให้แก่คนยากจน แถมเงินที่ได้มาก็ไม่ได้เอาไปใช้สุรุ่ยสุร่าย แต่กลับเอาไปแบ่งให้แก่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่อนพ้อง รวมทั้งคนจนๆ ด้วย ทำให้แก๊งเคลลีค่อยๆ ได้ภาพลักษณ์จอมโจรขวัญใจคนยากมาทีละนิด แถมยังค่อยๆ สร้างเครือข่ายประชาชนของตัวเองขึ้นมาทีละหน่อย ส่วนฝ่ายรัฐและกลุ่มคนรวยก็เกลียดกลัวเขาขึ้นตามลำดับ และสื่อก็เริ่มเห็นว่าข่าวของเขาเป็นข่าวที่ขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ
          
          เวลาผ่านไป ชาวคณะของเน็ดก็ยิ่งก่อการให้ตำรวจเสียหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดพวกเขาก็ถึงกับวางเป้าหมายว่าจะบุกจับตัวผู้สำเร็จราชการเลยทีเดียว โดยเน็ดคิดว่าถ้าหากได้คุยกับผู้ใหญ่แบบซึ่งๆ หน้าแล้วล่ะก็ เขาเชื่อว่าผู้มีอำนาจจะต้องฟังความข้างเขาบ้าง! แต่แผนการใหญ่ของเน็ดก็ถูกหักหลังโดยผู้ไม่หวังดีเสียก่อน เน็ดกับเพื่อนพ้องถูกล้อมปราบโดยตำรวจกว่า 50 นาย ในที่สุดเขาก็ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกตำรวจรุมจับจนได้ แล้วเน็ดก็ถูกนำไปขึ้นศาล ก่อนจะถูกตัดสินประหารชีวิตอย่างรวบรัด 
 
          เน็ด เคลลี เสียชีวิตในขณะที่เขามีอายุย่าง 26 ปีเท่านั้น ว่ากันว่าคำสุดท้ายที่เขาตะโกนก่อนถูกแขวนคอคือ “นี่แหละชีวิต!” - Such is Life!
 
          เน็ดและคณะถูกกำจัดสิ้นซากในปี 1880 แต่หลังจากเขาเสียชีวิตไม่นาน กระแสเรียกร้องจากมวลชนก็ทำให้ต้องรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนเรื่องราวทั้งหมดอีกครั้ง เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายต้องถูกปลดเพราะถูกพิสูจน์ว่าปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ชอบธรรม 
 
          เน็ด เคลลี กลายเป็นตำนานในเพลงโฟล์กซองและบทกวี เป็นเรื่องสนุกในหนังสืออ่านเล่นจำนวนมาก และเป็นชื่อที่อยู่ในสำนวนการพูดของชาวบ้าน จนเมื่อมีการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อตีพิมพ์หนังสือชีวิตประวัติของเขาแบบจริงจังออกมาในปี 1929 หลักฐานต่างๆ จากคำให้การของผู้คนในเหตุการณ์ รวมทั้งจากหลักฐานของทางราชการเอง ก็ล้วนบ่งชี้ว่าเขาถูกป้ายสีไปไม่น้อยจากฝีมือสื่อมวลชนที่ต้องการจะขายข่าวและจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอคติ นับจากนั้น ชื่อของ เน็ด เคลลี ก็เริ่มกลายเป็นฮีโร่ขึ้นมาทีละนิดๆ
 
          วันเวลาผ่านมาถึงยุคที่หนังคาวบอยกลายเป็นความบันเทิงระดับชาวบ้านร้านตลาด และดนตรีคันทรีกลายเป็นเพลงของมหาชน เรื่องของ เน็ด เคลลี และพวกพ้องก็ถูกนำมาบอกเล่าในกระแสป๊อปคัลเจอร์จนได้
 
          เรื่องราวของพวกเขาถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์มากมาย แต่เรื่องที่นักฟังเพลงให้ความสนใจมากก็คือ Ned Kelly ในปี 1970 ที่ได้ มิก เจกเกอร์ แห่งวง The Rolling Stones มารับบทเป็นเน็ด ตัวหนังไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็มีอัลบั้มซาวนด์แทร็กที่น่าสนใจซึ่งได้ซูเปอร์สตาร์จากแวดวงคันทรีสองรายคือ คริส คริสทอฟเฟอร์สัน และ เวย์ลอน เจนนิง ที่ล้วนมีภาพลักษณ์เป็นนักร้องจอมกบฏมาประพันธ์เพลงให้แก่ชีวิตของ เน็ด เคลลี หลายเพลง เพลงที่รวบประเด็นจนแทบเป็นชีวประวัติวัยเยาว์ของเน็ดคือเพลงที่ชื่อ Ned Kelly ซึ่ง เวย์ลอน เจนนิง ร้องด้วยเสียงอันอบอุ่นคู่กับกีตาร์โปร่งฟังสบาย เพลงนี้ให้ภาพตั้งแต่ตอนที่บิดาโดนใส่ร้ายจนต้องติดคุก ไล่เรียงมาถึงวันที่เน็ดต้องขุดหลุมฝังศพของพ่อ ไปจนตอนที่เขาเริ่มตั้งปณิธานในการต้านอำนาจรัฐ
 
          ปีถัดมา ก็มีขาใหญ่จอมกบฏในแวดวงคันทรีอีกคนที่แต่งเพลงเกี่ยวกับเน็ดขึ้นมาอีกเพลง ขาใหญ่รายนี้ก็คือ จอห์นนี แคช เจ้าของภาพลักษณ์ชายในชุดดำที่มาพร้อมเสียงร้องทุ้มต่ำ และเพลงนี้ก็ชื่อ Ned Kelly อีกแล้ว อยู่ในอัลบั้ม The Man In Black (2071) เพลงนี้สรุปชีวประวัติของเน็ดเอาไว้อย่างยอดเยี่ยม แถมไม่ได้เข้าข้างหรือยกย่องไอคอนคนนี้จนเกินงาม เขาร้องเล่าเรื่องของเน็ดในแบบสบายๆ บรรยายถึงความรักในเพื่อนพี่น้องและความรักในอิสรเสรีของเน็ด ก่อนจะพูดถึงจุดขัดแย้งว่าเน็ดตกเป็นเหยื่อของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในแดนเถื่อน 
 
          ในท่อนฮุก จอห์นนี แคช สรุปชีวิตของเน็ดไว้ด้วยประโยคเพียง 4 ประโยคเท่านั้น
          “Ned Kelly took the blame 
          Ned Kelly won the fame 
          Ned Kelly brought the shame 
          And then Ned Kelly hanged”
 
          หลังได้รับการยืนยันภาพลักษณ์จากจอมกบฏในแวดวงคันทรีถึง 3 ราย ตำนานของ เน็ด เคลลี ก็เติบโตและมีชีวิตของตัวเองต่อไปอีก ในที่สุดตำนานนี้ก็กลายเป็นหนังฟอร์มใหญ่อีกครั้งในปี 2003 คือเรื่อง Ned Kelly (2003) โดยได้ ฮีธ เลดเจอร์ มานำแสดง
 
          วันที่ เน็ด เคลลี ตอบโต้ผู้พิพากษาว่า สักวันเราทุกคนจะต้องถูกตัดสินโดย ‘ศาลที่ใหญ่โตกว่านี้’ เขาคงหมายถึง ‘วันพิพากษา’ ที่ทุกคนจะได้รับการตัดสินจากพระผู้เป็นเจ้าตามความเชื่อของชาวคริสต์
 
          แต่เราไม่ต้องรอถึงวันนั้น เพราะกระแสเสียงจากมหาชนที่ผ่านเวลามาร้อยกว่าปี ก็ได้ตัดสินให้แล้วว่า เน็ด เคลลี คือวีรบุรุษ
 
.......................................
(หมายเหตุ สักวัน ในศาลที่ใหญ่โตกว่านี้ : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... วิภว์ บูรพาเดชะ )