
เอกเขนกดูหนัง:'big hero 6'
05 ธ.ค. 2557
'big hero 6' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
เดิมทีสตูดิโอสร้างหนังแอนิเมชั่นยักษ์ใหญ่ (ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าของกันเดียวกัน) อย่าง ดิสนีย์และพิกซาร์ มีอัตลักษณ์เส้นสายลายเซนต์เป็นของตัวเองอย่างเด่นชัดตลอดหลายปีที่ผ่านมา แอนิเมชั่นหลายเรื่องของพิกซาร์ นอกจากอรรถรสความสนุกสนานแบบสุดขั้วแล้ว สิ่งหนึ่งที่แฝงฝังอยู่ในงานของพวกเขาตลอดมาคือทัศนคติและแนวคิดในการมองโลกและชีวิตแบบผู้ใหญ่ แอนิเมชั่นของพวกเขาเหมือนกับเด็กคนหนึ่งที่ค่อยๆเติบโต เรียนรู้ ประหนึ่งเด็กที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในโลกของหนัง ก่อนจะเติบใหญ่เป็นคนที่เข้าใจชีวิตในท้ายที่สุด หนังของพิกซาร์ไม่ค่อยมีตัวละครเด็ก ส่วนใหญ่เป็นเด็กโตย่างเข้าวัยรุ่นที่ตอนจบพวกเขาต่างก้าวพ้นวัย เติบโตทางวุฒิภาวะไปด้วย(ถึงตัวละครไม่ใช่มนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ แต่พวกมันก็น่าจะอยู่ในวัยนี้ อาทิ finding nemo, a bug’s life, monsters inc., toy story, cars) หลังๆ พิกซาร์ถึงขั้นสร้างแอนิเมชั่นที่ตัวละครนำเป็นคนแก่เสียด้วยซ้ำอย่าง up แน่นอนว่าแอนิเมชั่นของค่ายนี้คือหนังคัมมิ่ง ออฟ เอจ ดีๆ เรื่องหนึ่ง
มาดูฝั่งดิสนีย์ เรื่องราวของพวกเขาคือเทพนิยายชวนฝัน แม้ตัวละครเป็นหนุ่มสาว เจ้าชาย เจ้าหญิง แต่หัวจิตหัวใจในหนังก็คือจิตวิญญาณการผจญภัยไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ไม่ว่าตัวละครของพวกเขาจะโตแค่ไหนก็ตาม แม้ช่วงหลังตัวละครในแอนิเมชั่นของดิสนีย์จะกลายเป็นหญิงแกร่ง ที่แฝงเร้นประเด็นของเพศสภาพเข้ามาบ้างก็ตาม ตั้งแต่ bolt, the princess and the frog, tangled และ frozen
การ ‘ลองของ’ ด้วยการหันไปเล่นประเด็นที่โตขึ้นของดิสนีย์แม้จะประสบความสำเร็จและได้รับคำชมเชยไปไม่น้อย แต่ปีนี้ ดิสนีย์ก็กลับมาทำแอนิเมชั่นในรูปรอยเดิมอีกครั้งด้วย big hero 6 คือการกลับไปหาจิตวิญญาณการผจญภัยอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาแบบเด็กๆ อีกครั้ง...และครั้งนี้ ดิสนีย์ก็ทำได้ครบครันซะด้วย ทั้งอรรถรสของอารมณ์ความสนุกสนาน มิตรภาพ ครอบครัว การมีตัวตนและเป็นที่ยอมรับในสังคม ที่สำคัญคือความสนุกจากการผจญภัยที่ผ่านการออกแบบสร้างสรรค์มาได้อย่างสุดขั้ว ที่สำคัญนี่เป็นครั้งแรกที่ดิสนีย์เดินออกจาก save zone ของตัวเอง เพื่อออกค้นหาเรื่องราวใหม่ๆ ในพื้นที่อื่นๆ โดยมีมาร์เวล คอมิกส์เป็นเป้าหมายหลัก ดังนั้นการลองตลาดในครั้งนี้ของดิสนีย์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีทีเดียว
ดิสนีย์ เลือกตัวละครที่เหมาะกับแนวทางของตัวเอง เจ้าหุ่นบอลลูน พุงกลมโต รูปลักษณ์น่ารักน่าชังอย่างเจ้า เบย์แม็กซ์ ถูกเลือกมาทำหน้าที่สำคัญ หุ่นยางพองลมที่ดูอบอุ่น อ่อนโยน เป็นได้ทั้งนักสู้ เพื่อนเจ้าปัญญา(บางครั้งก็สร้างปัญหา) สุดท้ายก็กลายเป็นขวัญใจเด็กๆ ในที่สุด
big hero 6 เป็นแอนิเมชั่นที่ดูง่าย ไร้พิษภัย ไม่มีนัยซ่อนเร้นหรือประเด็นเคลือบแฝง เหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา มันจึงเป็นแอนิเมชั่นที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็ก และดูจะห่างไกลจากแอนนิเมชั่นของสตูดิโอร่วมชายคาอย่างพิกซาร์ไปมากโข แต่สำหรับนายทุนแล้ว นี่คือการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เพราะนี่คือกลยุทธ์การจับกลุ่มคนดูเป้าหมายในทุกช่วงอายุ แอนิเมชั่นสำหรับครอบครัวที่เหมาะกับเด็กๆ แบรนด์ดิสนีย์ คือตัวเลือกที่ดีที่สุด หากวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อยากสนุกกับจินตนาการกว้างไกล โดยประเด็นและเรื่องราวในหนังสามารถสื่อสารกับพวกเขาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ แบรนด์พิกซาร์ ก็น่าจะเป็นเหมาะกับพวกเขา หากต้องหการเข้าไปนั่งปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการดูหนังสนุกๆ สักเรื่องในโรง และเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ดิสนีย์หยิบนำเอาบรรยากาศร่วมสมัย มาบอกเล่าเรื่องราวผ่านหนังแอนิเมชั่น นอกเหนือไปจากเรื่องราวจินตนาการแบบเทพนิยาย ถึงแม้ฉากหลังของ big hero 6 จะพูดถึงโลกอนาคตก็ตาม แต่ก็ยังดูไม่ห่างไกลกับปัจจุบันขณะมากนัก
แอนิเมชั่นของดิสนีย์ยุคหลังดูจะมุ่งเข้าหาเด็กโต และวัยรุ่นมากขึ้น จนพวกเขาขาดไร้ตัวละครขวัญใจเด็กๆ ไปหลายปีทีเดียว เจ้าดัสตี้ ครอบฮอปเปอร์ เครื่องบินพ่นยาใน planes ก็ไม่ได้มีศักยภาพขนาดนั้น แม้ตัวหนังจะสร้างมาสองภาคติดต่อกันแล้วก็ตาม หรือเจ้าหญิงเอลซ่า ก็เหมาะที่จะเป็นไอดอลของเด็กวัยพรีทีนจนถึงวัยรุ่นมากกว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ตัวเล็กตัวน้อย
ดังนั้น นาทีนี้ เจ้าเบย์แม็กซ์ เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งขวัญใจคนใหม่ของเด็กๆ แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าอานุภาพความน่ารักของมัน จะกินพื้นที่ในหัวใจกว้างไกลไปกว่าแค่เด็กๆ แต่อาจจะรวมถึงวัยรุ่น และพ่อๆ แม่ๆ ของพวกเขาด้วย แค่คำทักทายแรกของมันที่ปรากฏบนจอ “hello i’m baymax, your personal healthcare companion” ก็ฟังดูอบอุ่น น่ารัก ชวนประทับใจตั้งแต่แรกเห็นแล้ว
.......................................
(หมายเหตุ 'big hero 6' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)