บันเทิง

'ประกวดร้องเพลง'คอนเทนต์ฮิตวัดกึ๋น-วัดใจ-ช่องทีวีดิจิทัล

'ประกวดร้องเพลง'คอนเทนต์ฮิตวัดกึ๋น-วัดใจ-ช่องทีวีดิจิทัล

19 พ.ย. 2557

“ประกวดร้องเพลง”คอนเทนต์ฮิตวัดกึ๋น วัดใจ ช่องทีวีดิจิทัล : สกู๊ป

       
          ในบรรดาคอนเทนต์ในทีวีดิจิทัล ที่กำลังออกอากาศและที่กำลังจะเริ่มผลิตกันนับจากนี้ไป “การประกวดร้องเพลง” นับเป็นคอนเทนต์ยอดนิยมอีกรายการหนึ่ง ที่มีตอนนี้ ซึ่งทีวีดิจิทัลแต่ละช่องก็พยายามคิดและสรรหาวิธีการประกวดให้แตกต่างจากคู่แข่ง หรือรูปแบบการประกวดที่มีอยู่
 
          ทีมข่าวบันเทิง ”คม ชัด ลึก” เปิดโปงกระบวนความคิดรายการประกวดของแต่ละช่องเวลานี้มาให้ไล่เรียงอ่านกันแบบละเอียดว่า แต่ละรายการจะมีทีเด็ดอะไรในศึกการประกวด
   
          เริ่มกันกับรายการ “กิ๊กดู๋...สงครามเพลงเงินล้าน” รายการโทรทัศน์ประเภทวาไรตี้เกมโชว์ ที่ร้อนแรงที่สุดตอนนี้ของบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย โดยมี เกียรติ กิจเจริญ และสัญญา คุณากร สองพิธีกรต่างลีลา รายการนี้เป็นการแข่งขันร้องเพลงระหว่างชุมชนต่อชุมชน เพื่อหาผู้ชนะประจำสัปดาห์ และผู้ชนะเลิศประจำฤดูกาล
     
          โดยช่วงที่ 1 จะเป็นการประชันเงาเสียง สำหรับผู้ที่มีเสียง หรือหน้าตา หรือลีลา เหมือนศิลปินท่านใดก็ได้ โดยต้องถ่ายวิดีโอแล้วส่งไฟล์เพลงพร้อมรูปถ่ายเต็มตัว มาที่อีเมลของกิ๊กดู๋โดยระบุมาว่าจะเป็นเงาเสียงของศิลปินท่านใด
     
          ช่วงที่ 2 เป็นการประชันเสียงดีจากชุมชน ซึ่งรวบรวมสมาชิกที่ร้องเพลงได้เจ๋งๆ จากหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอเดียวกัน รวบรวมให้ได้ 20 คนขึ้นไปโดยทางรายการจะส่งทีมไปแคสติ้งถึงจังหวัด เขียนประวัติของแต่ละคนโดยย่อ พร้อมรูปถ่ายและเบอร์โทรศัพท์ส่งมาที่ บ.เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จก.
        
          มาที่รายการ "มาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด" เมทนี บุรณศิริ-พิมพ์นิชกุล บำรุงกิจ เป็นพิธีกร โดยมี ไชยา มิตรชัย ตั๊กลีลา และเอราช สุวรรณภูมิ เป็นกรรมการ ซึ่งเป็นการแข่งขันร้องเพลงลูกทุ่งของน้องๆ อายุ 15-25 ปี ได้แสดงความสามารถในการร้องเพลงทุกรูปแบบ ทุกแนวเพลง รายการนี้ปรับรูปแบบการแข่งขันไปหลายรูปแบบเพื่อตามความเหมาะสมของชื่อรายการ ในมาสเตอร์คีย์เวทีแจ้งเกิด ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากรายการเกมโชว์เป็นรายการประเภทประกวดร้องเพลงซึ่งนับเป็นครั้งแรกในช่วง 17 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการที่เป็นเกมโชว์
        
          ต่อกันที่ช่อง 1 เวิร์คพอยท์ เจ้าพ่อวาไร้ตี้โชว์ ที่มาจับมือวง “คาราบาว” ผุด “Bao Young Blood” ดันดนตรีเด็กไทยลงจอ!!  ซึ่งเป็นรายการประกวดวงดนตรีระดับเยาวชนทางโทรทัศน์ในชื่อว่า “รายการ BAO YOUNG BLOOD..ดนตรีสร้างคุณค่าชีวิต” เพื่อเผยแพร่ความสามารถทางด้านดนตรีของเยาวชนไทย ที่มีใจรักในตำนานบทเพลงเพื่อชีวิตอย่าง “คาราบาว” ออกสู่สายตาประชาชนให้ได้เห็นโดยทั่วกัน โดยมีเขียว คาราบาว (กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร) มานั่งแท่นเป็นกรรมการ เกณฑ์การตัดสินในครั้งนี้  ซึ่งมีการเปิดรับสมัครทาง www.carabao.co.th โดยวงดนตรีที่ผ่านการคัดเลือก จะได้มีโอกาสขึ้นเวทีออดิชั่นระดับจังหวัด เวียนไป 5 ภาค ซึ่งจะคัดเลือกให้เหลือ 80 วง 
 
          จากนั้นจะคัดเข้าสู่รอบเซมิไฟนอล เพียงแค่ 20 วงเท่านั้น!! โดย 20 วงนี้จะได้รับโอกาสพิเศษสุดๆ เข้าร่วมเวิร์กช็อปดนตรีกับสมาชิกวงคาราบาว แบบตัวต่อตัว ก่อนประกวดเพื่อคัดให้เหลือ 5 วงสุดท้าย เข้าไปชิงแชมป์ระดับประเทศกันในรอบไฟนอล เพื่อหาวงชนะเลิศที่จะคว้าทุนการศึกษาจำนวน 100,000 บาท และโล่เกียรติยศจากมูลนิธิคาราบาว พร้อมได้ร่วมเล่นบนเวทีคอนเสิร์ต กับวงคาราบาว อีกด้วยทางช่อง 1 เวิร์คพอยท์ เร็วๆ นี้
 
          ส่วนอีกรายการแม่เหล็กของค่ายเวิร์คพอยท์ อีกหนึ่งรายการคือ รายการ "ชิงช้าสวรรค์ไมค์ทองคำ" ซึ่งเป็นรายการประกวดสำหรับผู้ที่มั่นใจว่าเสียงดี มีใจรักเพลงลูกทุ่งและกล้าแสดงออกเป็นรายการแข่งขันร้องเพลงเพื่อค้นหานักร้องลูกทุ่งจากทั่วประเทศ ให้เหลือเพียงนักร้องลูกทุ่งที่มีคุณภาพเพียงหนึ่งเดียวที่เสียงดีที่สุด โดยไม่จำกัดเพศ อายุ การศึกษา และอาชีพ เปิดรับสมัครผู้ร่วมเข้าแข่งขันในรายการพร้อมกัน 4 ภาค
   
          ต่อที่รายการเดอะวอยซ์ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นการแข่งขันประกอบด้วย 3 รอบ คือ บลายด์ ออดิชั่น, แบทเทิล และไลฟ์โชว์ และจากฤดูกาลที่ 2 เป็นต้นมาได้เพิ่มรอบน็อกเอาท์เข้ามาอีก ทำให้กลายเป็นทั้งหมด 4 รอบ โดยในการบลายด์ ออดิชั่น ผู้เข้าประกวดจะถูกคัดเลือกจากเสียงร้องเพียงอย่างเดียว โดยเหล่าโค้ชจะนั่งหันหลังให้ผู้เข้าแข่งขันและเมื่อได้ยินเสียงร้องที่ถูกใจ โค้ชจะกดปุ่มเพื่อหมุนเก้าอี้หันหน้ากลับมาหาผู้เข้าแข่งขันเพื่อรับเข้าสู่ทีม กรณีโค้ชกดปุ่มหันเก้าอี้มาเพียงคนเดียว ผู้เข้าแข่งขันจะเข้าสู่ทีมของโค้ชคนนั้นทันทีกรณีมีโค้ชกดปุ่มหันเก้าอี้มามากกว่า 1 คน สิทธิในการเลือกร่วมทีมจะเป็นของผู้เข้าแข่งขัน
 
          กรณีผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงจบ โดยที่ไม่มีโค้ชคนใดหันมา ผู้เข้าแข่งขันจะตกรอบ
     
          เมื่อเหล่าโค้ชได้รวบรวมสมาชิกในทีมแล้ว โค้ชจะคอยเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการขับร้องแก่ผู้เข้าแข่งขันเพื่อเข้าสู่รอบแบทเทิลซึ่งในรอบนี้โค้ชจะจับลูกทีมมาประชันในการร้องเพลงเดียวกัน และโค้ชจะเป็นผู้ตัดสินเข้ารอบไลฟ์โชว์ โดยในรอบไลฟ์โชว์ผู้เข้าแข่งขันของแต่ละทีมจะประชันกับผู้เข้าแข่งขันจากทีมอื่นๆ ในการแสดงถ่ายทอดสด โดยผู้ชมทางบ้านจะลงคะแนนโหวตเพื่อเลือกผู้เข้าแข่งขันที่ชื่นชอบให้ผ่านเข้ารอบ และโค้ชเองจะเลือกผู้ที่ผ่านเข้ารอบต่อไปเช่นกัน จนรอบสุดท้ายโค้ชแต่ละคนจะเหลือผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียว และผลตัดสินสุดท้ายจากการโหวตหลังการแสดงถ่ายทอดสดจะเป็นกำหนดว่าใครคือผู้ชนะ
     
          ในฤดูกาลที่ 2 ได้เพิ่มรอบน็อกเอาท์ ซึ่งสืบเนื่องมาจากรอบแบทเทิลได้มีกติกาเพิ่มให้โค้ชสามารถช่วยลูกทีมจากทีมอื่นที่ต้องตกรอบ ให้สามารถเข้ารอบได้แล้วย้ายมาอยู่ทีมของตัวเอง จึงทำให้เกิดน็อกเอาท์ขึ้น ซึ่งจะจับคู่ 2 คนบนเวทีเดียวกันโดยร้องคนละเพลงกันแล้วตัดเชือกคัดออก ณ จุดนั้นเลย ต่างจากแบทเทิลที่จะสลับกันร้องในเพลงเดียวกัน และในรอบนี้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเป็นคนเลือกเพลงเองซึ่งก็ต่างกับรอบแบทเทิลอีกเช่นกันที่โค้ชจะเลือกเพลงให้
     
          ส่วนอีกหนึ่งรายการประกวดร้องเพลงที่จะบังเกิดขึ้นในปีหน้าทางช่องทีวีดิจิทัล อีกหนึ่งรายการที่น่าจับตามอง คือการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งที่ไม่ใช่อย่างที่เราเห็นอีกต่อไป แต่จะมีรูปแบบของการ ”ประชัน” กันแบบเพลงต่อเพลงต่อเนื่อง กับเพลงที่ถูกกำหนดขึ้น โดยมีกรรมการอยู่ตรงกลาง โดยทีมชนะเลิศจะได้รางวัลถึง 1 ล้านบาท
     
          นอกจากการประกวดร้องแนวเพลงลูกทุ่งและแนวเพื่อชีวิตแล้ว ทีมงานยังพบว่าจะมีการจัดประกวดในแนวหมอลำจากทั่วประเทศอีกด้วยซึ่งจะนับเป็นการประกวดหมอลำผ่านจอทีวีเป็นครั้งแรก
   
          ด้านครูสุรินทร์ ภาคศิริ ครูเพลงชื่อดังได้ตั้งข้อสังเกตต่อรายการประกวดร้องเพลงหน้าจอทีวียุคนี้อย่างน่าสนใจดังนี้
          “เขาหาทางออกกันไม่ได้ ก็ต้องมาเอาคอนเทนต์เดิมที่ทีวีดาวเทียมเขาเคยทำกันมาแล้ว คือการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง เพียงแต่บางช่องเปลี่ยนวิธีการประกวดเยอะแยะมาก เพราะเขาคิดแค่ว่าญาติพี่น้องคนที่มาประกวดก็ต้องมาดูมาเชียร์ เอานักเรียนมาประกวดเดี๋ยวก็มีเด็กๆ มาดู การประกวดสมัยนี้ ไม่เหมือนสมัยก่อนๆ นักร้องที่มาประกวดตามช่องทีวีหลักเช่น รายการ "ลูกทุ่งสิบทิศ" "ลูกทุ่งเสียงทอง" พอประกวดเสร็จต้องเป็นนักร้องอาชีพมีค่ายเทป แมวมองมานำไปทำเพลง แต่ทุกวันนี้มีการประกวดมากมายไปหมด แต่นักร้องที่ประกวดชนะแล้วไม่เห็นมีใครเข้าสู่วงการจริงๆ ไม่มีเลย การประกวดทุกวันนี้เพียงแค่เอาหน้า เอาชื่อ เอารางวัลแต่ละงานเท่านั้น ไม่มีจุดประสงค์ที่จะผลักดันให้เป็นนักร้องจริงๆ รูปแบบการประกวดในความรู้สึกของครูมองว่า เขาเลียนแบบรายการฝรั่ง ประกวดเอาแค่รางวัล จุดของการประกวดที่ฝรั่งทำก็คือให้คอนเซ็ปต์ของกรรมการแต่ละคนแตกต่างกัน กรรมการบางคนดุ กรรมการบางคนสนุก เขาเอาตรงนี้มาเป็นจุดเด่นของรายการ เขาวางมาแล้ว กรรมการบางคนพูดตามบท คนที่ผ่านการประกวดมาจึงไม่ใช่ของจริง “
     
          ส่วนการประกวดร้องเพลงของช่องไหนจะเป็นเบอร์หนึ่งทั้งในด้านคนดูและการยอมรับต้องติดตามชมกันต่ออีกระยะหนึ่ง