บันเทิง

'ลิเกทรงเครื่อง คือเรื่องที่น่ารู้ 3'

'ลิเกทรงเครื่อง คือเรื่องที่น่ารู้ 3'

06 พ.ย. 2557

'ลิเกทรงเครื่อง คือเรื่องที่น่ารู้ 3' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน

 
 
          ในสมัยก่อนนี้จะมีสำนวนที่นักปี่พาทย์มักจะชอบพูดกันว่า "ลิเกไม่ใส่บาตร ปี่พาทย์ไม่ไหว้พระ" ซึ่งโดยความหมายนั้นถ้าฟังโดยผิวเผินแล้วอาชีพศิลปินของทั้ง 2 สาขาอาชีพนี้เหมือนจะไม่ค่อยศรัทธาต่อพุทธศาสนาเท่าใดนัก แต่ความจริงมันก็เป็นเพียงแค่คำเปรียบเปรยว่าด้วยหน้าที่ในการงานแล้ว มันไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่ดีได้ เนื่องจากลิเกต้องออกแสดงตอนกลางคืนแล้วเลิกแสดงดึกๆ กว่าจะกลับถึงบ้านก็เกือบสว่างพอนอนหลับก็จะอ่อนเพลียทำให้ตื่นไม่ทันพระมาบิณฑบาต ส่วนพวกปี่พาทย์ยามเมื่ออยู่ตามงานบวชงานศพพอเห็นพระภิกษุเดินขึ้นศาลาก็ต้องทำเพลงบรรเลงเพื่อรับพระ ก็เลยไม่สามารถยกมือขึ้นไหว้พระได้ นี่แหละครับเป็นที่มาของสำนวนว่า "ลิเกไม่ใส่บาตรปี่พาทย์ไม่ไหว้พระ"
 
          เอาล่ะครับ คราวนี้เรามาเข้าเรื่องลิเกทรงเครื่องของเราที่ต่อเนื่องจากเมื่อฉบับที่แล้วซึ่งลิเกทรงเครื่องนั้นเป็นต้นตำรับของลิเกในยุคปัจจุบันนี้แต่ความนิยมนั้นได้หายไปตามกาลเวลาทั้งๆ  ที่มีความเก่าแก่เป็นเหมือนกับตำนานหรือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยเรา แต่กำลังจะสูญหายไป โดยครูแป๊ะหรือคุณกัญจนปกรณ์ แสดงหาญได้เล่าให้ผมฟังว่าลิเกทรงเครื่องนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ปรมจารย์บางท่านนั้นบอกว่ามีมาก่อนหน้านี้อีก แต่ในเมื่อในปีพ.ศ.2450 พระยาเพชร ปานีได้จัดแสดงที่วิกป้อมพระกาฬเป็นครั้งแรกจึงทำให้ลิเกทรงเครื่องได้รับความนิยมในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งลิเกทรงเครื่องนั้นในรูปแบบการแสดงก็จะคล้ายกับการแสดงละครนอก ผู้แสดงจะร้องเองรำเองในสัดส่วนที่เท่าๆ กันและจะต้องร้องเพลงแบบเพลงไทยเดิมในอัตราจังหวะ 2 ชั้นและชั้นเดียวอย่างตะลุ่มโปง หงส์ทอง สองไม้ ผู้แสดงจึงต้องใช้ความสามารถสูงทั้งรำและร้องมากกว่าลิเกในยุคปัจจุบันนี้หลายเท่าตัวและด้วยความที่ต้องร้องเพลงไทยเดิมเก่าๆ และยังต้องดำเนินเรื่องราวในรูปแบบวรรณคดีไทยจึงทำให่ลิเกทรงเครื่องเป็นเรื่องที่ดูแล้วเข้าใจกันยากสำหรับคนในสมัยนี้จึงทำให้ลิเกทรงเครื่องไม่ได้รับความนิยมกับคนไทยในยุคปัจจุบันนี้และที่สำคัญคือ ลิเกทรงเครื่องนั้นมีการแต่งกายเรียนแบบเจ้านายในสมัยก่อน คือนุ่งผ้าและใส่เสื้อเยียรบับ คอปิดแขนยาวตรงปลายแขนมีแผงกำมะหยี่ปักดิ้น คล้ายทหารมหาดเล็ก สวมสนับเพลา ต้องมีสังวาลย์ห้อยตรงอกเป็นโลหะประดับเพชร ฯลฯ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่บอกได้ว่ามันมีราคาแพงและหายากจึงทำให้รู้สึกได้ว่ามันยุ่งยากกว่าลิเกในยุคนี้เยอะแยะก็เลยทำให้ศิลปินในยุคนี้ไม่ค่อยจะมีใครอยากจะแสดงลิเกทรงเครื่องกันเท่าไหร่และเมื่อคนแสดงไม่อยากแสดงแถมคนดูก็ไม่ชอบดูจึงไม่แปลกที่ลิเกทรงเครื่องนั้นจะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลานั่นเอง
 
          ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมได้รับเรื่องราวมาจากครูแป๊ะและยังคงมีรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับลิเกทรงเครื่องอีกมากมายซึ่งผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่จะให้สิ่งที่เป็นศิลปะของชาติไทยเราอันมีคุณค่านั้นได้เลือนหายไปกับกาลเวลาโดยที่เราไม่คิดที่จะทำอะไรขึ้นมาซึ่งมันก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ครูแป๊ะนั้นได้คิดที่จะอนุรักษ์ความเป็นลิเกทรงเครื่องขึ้นมาโดยการจัดตั้งคณะลิเกทรงเครื่องที่มีชื่อ "คณะกรณ์กัญจนรัตน์" ก็คือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ครูแป๊ะกัญจนปกรณ์ แสดงหาญ กับคุณปกรณ์ พรพิสุจน์ ผู้อำนวยการสำนักการสังคีตเจ้านายของครูแป๊ะนั่นเองแหละครับ ซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้วลิเกทรงเครื่องของครูแป๊ะคงไม่ค่อยจะมีโอกาสไปแสดงตามงานทั่วๆ ไปเหมือนกับลิเกชื่อดังในยุคนี้ แต่อย่างไรก็ตามคณะลิเกเครื่องของครูแป๊ะก็จะได้แสดงในโรงละครแห่งชาติในบางโอกาสหรือตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ในรูปแบบการเล่นสาธิตให้ความรู้กับนักเรียนนักศึกษาซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะการแสดงในลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้ผู้แสดงร่ำรวยและมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เป็นการเล่นเพื่อจะอนุรักษ์ศิลปการแสดงที่กำลังจะเลือนหายไปให้กลับมาอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ ถือว่าต้องเป็นคนใจรักในด้านนี้จริงๆ ถึงจะทำได้นะครับ แต่ทางที่ดีแล้วนั้นทางหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมหรือตามสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ นั้นควรจะจัดให้คณะลิเกทรงเครื่องคณะกรณ์กัญจนรัตน์ ได้ออกแสดงในลักษณะของการ Workshop แบบเดินสายกันทั่วประเทศ ผมกล้ารับรองได้เลยว่า ไม่ใช่แค่เพียงลิเกทรงเครื่องเท่านั้นที่จะกลับมา แต่มันหมายถึงการปลูกฝังค่านิยมในความเป็นไทยให้กลับคืนมาสู่ชาวไทยได้อย่างสบายๆ เลยครับท่าน
 
......................................
(หมายเหตุ 'ลิเกทรงเครื่อง คือเรื่องที่น่ารู้ 3' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน)