
'ส่องความเกรียนนักเรียนไทย'
28 ต.ค. 2557
'ส่องความเกรียนนักเรียนไทยในห้องสแกนเกรียน @TGSBIG2014' : คอลัมน์ หนุ่ยรู้โลกรู้ โดย... พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
ช่วงกลางเดือนตุลาคม ผมได้รับมอบหมายจากกระทรวงวัฒนธรรม ทำการสรรค์สร้างกิจกรรมพิเศษที่เมื่อแรกเอ่ยชื่อออกมากลางสาธารณชนแล้วมีเสียงฮือเสียงฮากลับมามากนั่นคือ "ห้องสแกนเกรียน" นิทรรศการแนวใหม่เพื่องานตอบแบบสอบถามทางจิตวิทยากับกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นเพื่อนำไปสู่การช็อตสมองให้ใฝ่ดี (ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าว่าทำอะไรไปบ้าง) ทดลองจัดครั้งแรกเป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่องในงานไทยแลนด์เกมโชว์บิ๊กเฟสติวัล 2014 ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ สยามพารากอน มหกรรมงานเกมที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ สามารถดึงดูดเด็กนักเรียนมัธยมต้นโดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้ชายไซส์แกนๆ ทรงผมตรงกับชื่อห้องเข้ามาต่อแถวด้วยใจระทึกว่าข้างในนั้นมันจะมีอัลไล!? ปรากฏว่าพ่อแม่ผู้ปกครองก็สนใจ อยากรู้ว่ากระทรวงวัฒนธรรมจับลูกๆ พวกเขาเข้าไปทดลองอะไรในห้องรูปทรงสี่เหลี่ยมสีดำทะมึนน่าลึกลับชวนสงสัย ขนาดความกว้าง 100 ตร.ม. จุได้ 100 คนพอดิบพอดี มีผู้คนสนใจแวะเวียนเข้ามาเป็นรอบๆ รอบละ 20 นาทีอย่างไม่ขาดสาย
กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในภารกิจใหม่ของกระทรวงวัฒนธรรมที่ขานรับนโยบายปลูกฝัง “ค่านิยมไทย 12 ประการ” ของรัฐบาลใหม่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าจะคืนความสุขให้แก่คนไทย แต่คนไทยก็ต้องมี “ค่านิยมไทย” ด้วยจึงจะนำพาสังคมไทยเป็นสุขได้ ซึ่งเมื่อผมได้เข้ามาดูแลโปรเจกท์นี้ก็ได้พิจารณาเนื้อหาแล้วก็พบว่าดีงาม เพียงแต่จะทำทื่อๆ ให้เด็กไทยท่องจำแบบเดิมๆ ก็คงไม่มีใครน้อมนำค่านิยมนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปมากก็ต้องหากลอุบายใหม่ที่มันสนุกเพียงพอ สอดใส่เข้าไปในกิจกรรมพิเศษนี้ที่ถูกสร้างสรรค์มาในธีม “Interactive Adventure” ที่ผมและทีมงานรวมถึงข้าราชการจากหน่วยงานเจ้าภาพคือ “สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม” นำข้อมูลทางวิชาการมาย่อยเป็นคำถาม 14 ข้อในแนว “กวนทีนฝุดๆ” ที่นอกจากขำแล้วยังแฝงการวัดผลด้านทัศนคติที่เยาวชนมีต่อค่านิยมไทยทั้ง 12 ประการนี้ได้ ทั้งนี้ก็เพราะได้รับความกล้าที่จะเปิดกว้างรับไอเดียใหม่ๆ ทั้งจาก ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ ผอ.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม จึงทำให้ “ห้องสแกนเกรียน” สำเร็จออกมาได้จริง
รูปแบบกิจกรรมล้ำสมัยครั้งนี้เริ่มจากการเชิญชวนเยาวชนเข้ามาในห้องเป็นรอบๆ ครับ รอบละ 100 คน แบ่งเป็นผู้มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาเอง 50 คน สามารถใช้เครื่องของตนเอง (iOS หรือ Android ก็ได้) ติดตั้งแอพ “ห้องสแกนเกรียน” และกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว (โดยกระทรวงวัฒนธรรมขอสัญญาด้วยเกียรติลูกเสือสามัญตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการว่าจะเก็บเป็นความลับตามมาตรการกระทรวงกลาโหม..ฮา!) จากนั้นก็เข้าสู่ห้องได้ โดยผู้ที่ไม่มีเครื่องมาเองอีก 50 คนเรามี iPad 2 ให้ยืมใช้งานภายในห้อง (เผลอๆ สเปกดีกว่าคนถือเครื่องมาเองอีกครับ ฮา!) เมื่อทุกคนเข้าสู่ห้องแล้วก็ถึงเวลาของพระเอกซึ่งก็คือ “แบบสอบถามแบบ Interactive” ที่มาในรูปแบบของ “เกมคำถาม” นำเสนอผ่านการฉายภาพโปรเจ็กเตอร์รอบทิศทางที่เรียกว่าเทคนิก 3D Mapping อันสวยงาม โดยปั้นตัวละคร “เกรียนเดวิล” ทำหน้าที่ถามถึงสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตชาวเกรียนวัยรุ่น เช่น การเก็บเงินก้อนโตได้, การลอกข้อสอบ, การมีเซ็กส์ในวัยเรียน, การทดลองยาเสพติด ตลอดจนประเด็นเบาๆ อย่างวันครู, พ่อแม่คิดอย่างไรกับเรา ฯลฯ ที่เล่าในน้ำเสียงขบขันแบบคนพวกเดียวกัน การกดตอบทำได้โดยง่ายบนอุปกรณ์ Smart Device บนมือของแต่ละคน
เมื่อตอบแบบสอบถามจบ จะมีการประมวลผลว่าคนคนนั้นเป็น “เกรียนวรรณะไหน?” เกรียนอย่างมีคุณค่าหรือจะเป็นเกรียนอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งเราแบ่งเป็น 3 ระดับ “เกรียนดี”, “เกรียนมึนโฮ“ และ “เกรียนรั่วเกิ๊น” ไล่ตามลำดับ ..มาถึงช่วงนี้เด็กๆ ในห้องจะส่งเสียงร้องออกอาการกันมากเพราะผลที่แสดงค่อนข้างโดนใจ และนำไปสู่การ “แบ่งกลุ่ม” แยกห้องออกเป็น 3 เพื่อนำไปสู่การ “ปรับทัศนคติ”... (คำฮิตที่เด็กไทยในยุค คสช. รู้จักกันดี) ทีมงานพาเด็กๆ เดินไปสู่ห้องใหม่ๆ เหล่านี้โดยปิดไฟมืดไว้ เมื่อสว่างขึ้นก็พลันปรากฏ “ดาราอาสาและเน็ตไอดอล” ที่มีหัวใจดีอยากปลูกฝังทัศนคติดีๆ ให้เยาวชน มาช่วย “แนะแนวเด็กๆ” อย่างอบอุ่นและทำเด็กๆ หลายคนช็อกตกอกตกใจ…ตลอดทั้ง 3 วันเราได้ คุณแอนดี้ เข็มพิมุก, กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่, พี่หลาม จิ๊กโก๋ไอที, พี่จิ๊บ วสุ, ครูทอม คำไทย, เฟื่องลดา สรานี, บี้เดอะสกา, เบล รีลิส, หมอเก่ง The Star, หมอแอร์, อาร์ม พิพัฒน์, พริ้ง AF, แท็บบี้ AF, กิพจัง, ชลัฏ ณ สงขลา, ลิซ่า แซดเลอร์, พ่อหมอ เจาะข่าวตื้น, ตูน วรัชญ์, ดีเจเจได, โค้ชเคี้ยง เอกภพ, โจนัส แอนเดอร์สัน, ฝ้าย ธนวรรณ, น้ำนุ่น, มิ้น ธิติรัตน์, เมย์ ปราณดา, อ๊อฟ ชัยนนท์, นุ่น ณัชชานันท์, บูม สุภาพร, คิงส์ พีระวัฒน์ และเบอร์ดี้ เพชราพาเพลิน มาช่วยพบปะน้องๆ แบบไม่เรียกค่าตัว ซึ่งทำให้กิจกรรมนี้บรรลุผลได้อย่างดีมากๆ ก่อนเด็กๆ จะเดินออกจากห้อง ดาราจะบรรจงติด “เหรียญกล้าหาญเด็กไทยกับไอที” ไว้ที่อกเสื้อน้องๆทุกคน...ผมได้เห็นเด็กๆ เดินออกจากห้องด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและมีแววตามุ่งมั่นที่พอรู้แล้วว่า “อนาคตอันใกล้” พวกเขาจะโตขึ้นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรให้สังคมนี้ได้บ้าง (อย่างน้อยๆ เด็กๆ ก็ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นล่ะนะ)
ผลการเก็บแบบสอบถาม 3 วันเต็ม ได้ผู้ร่วมเล่นเกมสแกนเกรียนราว 3,000 คน พบว่าเด็กไทยมีทัศนคติอ่อนใน “ค่านิยมลำดับที่ 4” คือ “ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงทางอ้อม”…ผมไม่แปลกใจกับผลสำรวจที่ออกมา เพราะมันเป็นแบบนั้นอยู่จริงๆ
งานนี้ผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรมได้เข้ามาเห็นผลการทำงานตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง, ผู้ช่วยรัฐมนตรี, ท่านที่ปรึกษา, ปลัดกระทรวง ฯลฯ ก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ครั้งเดียวคงไม่พอ” และต้องจัดอีก…ผมย้ำอีกครั้งในฐานะคนทำงานว่ากิจกรรมดีๆ ในประเทศเรามีอยู่เยอะครับแต่ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ต่อเนื่อง มีเพียงครั้งแล้วก็หายไป... เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเจอจุดดีแล้วก็ต้องต่อเนื่องนะครับ "เด็กไทยกับไอที” คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมงานไทยแลนด์เกมโชว์บิ๊กเฟสติวัล จะได้มีโอกาสสแกนตัวตนของตัวเองด้วย … ขอบคุณทุกๆ ท่านที่มาร่วมงานครับ
.......................................
(หมายเหตุ 'ส่องความเกรียนนักเรียนไทยในห้องสแกนเกรียน @TGSBIG2014' : คอลัมน์ หนุ่ยรู้โลกรู้ โดย... พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์)