
เอกเขนกดูหนัง:'The Best of Me'
17 ต.ค. 2557
เอกเขนกดูหนัง:'The Best of Me' โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ใช่ว่าบารมีความเป็นนักเขียนนวนิยายขายดีของนิโคลัส สปาร์ค จะเป็นเครื่องการันตีได้ว่าหนังทุกเรื่องที่สร้างมาจากนิยายของเขาต้องประสบความสำเร็จตามไปด้วย (แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเช่นนั้น) และก็เช่นกันที่นวนิยายส่วนใหญ่ของนักเขียนนามอุโฆษคนนี้ มักเดินตามรอยเดิมหาได้มีความแปลกใหม่ แต่กระนั้นมันก็ยังขายได้และขายดีอยู่เสมอ ผมไม่เคยอ่านงานของ "สปาร์ค" และมีโอกาสดูหนังที่สร้างจากงานเขียนของเขาเพียงสามเรื่องคือ Message in a Bottle, The Notebook และล่าสุดคือ The Best of Me แล้วก็พบว่า ทั้งพล็อต ทั้งอารมณ์ และโทนของสองเรื่องหลังไม่ได้ผิดแผกแตกต่างกันไปแต่อย่างใด
หนังแทบจะถอดแบบกันมาเป๊ะ ทุกโมเมนต์ ทุกคัท ทุกบีท แต่น่าแปลกตรงที่กลวิธีหรือสูตรสำเร็จเหล่านี้ที่หนังใช้ มันกลับได้ผลและทำงานอย่างทรงประสิทธิภาพทุกครั้งเสมอ (ผมไม่มีโอกาสได้ดู Nights in Rodanthe, Dear John, A Walk to Remember, The Last Song, The Lucky One, Save Heaven จึงไม่รู้ว่าหนังเหล่านั้น พาอารมณ์คนดูกระเจิดกระเจิงไปได้ไกลเท่าสองเรื่องนี้หรือเปล่า)
จะว่าไปเรื่องราวในนิยายของ "สปาร์ค" นั้น แบนและขาดมิติเอามากๆ ตั้งแต่ปูมหลังตัวละคร แรงจูงใจ ความเป็นเหตุเป็นผลฯ แต่ทว่าเขาสามารถเก็บทุกรายละเอียดที่เล่นกับความละเมียดของอารมณ์ได้ทุกเม็ด และขยี้มันจนหัวใจคนอ่านกระจุยกระจายฟูมฟายไปกับความรักของตัวละครในหนังสือและตกทอดมาสู่หนังได้ครบถ้วนกระบวนความ โดยเฉพาะ The Notebook กับ The Best of Me ซึ่งจะว่าไปทั้งคู่เล่นพล็อตเดิมๆ คาแรกเตอร์ตัวละครไม่เปลี่ยน
จุดพีคจนนำไปสู่เทิร์นนิ่งพอยต์ของเรื่องราวก็ซ้ำซากวนเวียนอยู่แนวทางเดิม แต่ก็นั่นแหละ เพราะสุดท้ายแล้ว หนังทั้งสองเรื่องสามารถกุมหัวใจคนดูได้อยู่หมัด กระเทาะบ่อน้ำตาแฟนหนังสาวๆ ให้ซึมออกมาได้เหมือนกัน แม้พล็อตแบบซินเดอเรลล่าคราวนี้จะเล่นกลับหัวกลับหางของเรื่องหลังได้เปลี่ยนจากหญิงอาภัพยากไร้พบรักกับเจ้าชายสูงศักดิ์ มาเป็นสาวใสฐานะดีที่กลับมีใจให้ไอ้หนุ่มไร้อนาคต มีพ่อเป็นอันธพาลค้ายาแต่ทว่าลูกชายนั้นรักดีหนีออกมาสร้างชีวิตใหม่
สถานการณ์ของ The Best of Me ดูง่ายไปซะหมดทุกสิ่งอย่าง โลกในหนังก็สวยงามเกินจับต้อง ตัวละครฝ่ายดี ฝ่ายเลว ก็ถือกำเนิดเกิดขึ้นโดยขาดมิติหรือปูมหลังที่มาที่ไป หนังโฟกัสไปที่ไอ้หนุ่มช่างฟิตและสาวสวยใสลูกมหาเศรษฐีโดยไม่พยายามอธิบายปูมหลังหรือเหตุจูงใจที่ทำให้ทั้งคู่ต้องชะตาพบรักกันอย่างแนบแน่นเกินกว่าจะจรจาก นอกจากประเดประดังชะตากรรมซัดใส่ให้เขาและเธอต้องพลัดพราก ห่างร้างกันไปในที่สุด
นวนิยายพรรณาโวหารได้ลึกซึ้ง สะเทือนอารมณ์เพียงใด ดูเหมือนหนังก็จะจัดวางที่ทางของการเป็นหนังรักโรแมนติกได้ครบถ้วนแทบทุกองค์ประกอบเลยทีเดียว
เพราะความรักของ ดอว์สัน โคล และอะแมนดา คอลเลียร์ เกิดขึ้นด้วยทัศคติที่สวยงาม โลกในหนัง The Best of Me จึงถูกเซตอัพอย่างสวยงามและอบอุ่น แสงเงาที่นุ่มนวลให้ความรู้สึกชวนฝันจึงถูกออกมาให้ใช้กับหนังอย่างเต็มที่ และเมื่อรักแรกของทั้งคู่เกิดขึ้นในช่วงแรกรุ่น นักแสดงที่ถูกเลือกมารับบท "ดอว์สัน" และ "อะแมนดา" วัยรุ่น จึงเป็นนักแสดงหน้าใหม่หน้าตาหล่อสวยใส ที่เพิ่งเล่นหนังมาไม่กี่เรื่องอย่าง ลุค เบรซี เด็กหนุ่มวัยเบญจเพศจากเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย มารับท "ดอว์สัน" ส่วนฝ่ายหญิงแม้ประสบการณ์เยอะกว่าแต่ เลียนา ลิเบราโต ก็เพิ่งผ่านพ้นวัย 19 ปีมาได้ไม่กี่เดือน (ความน่ารักน่าเอ็นดูของเธอในหนังเรื่องนี้ เป็นที่น่าจับตาว่าอนาคตทางการแสดงของแม่หนูคนนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน)
หลังจากสี่ปีก่อน เธอไปคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังหลายแห่งในบทเด็กหญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศจากหนังเรื่อง “Trust” ในขณะที่บทคู่รักซึ่งกลับมาเจอกันอีก 20 ปีถัดมา เจมส์ มาร์สเดน ดูจะเหมาะเหลือเกินกับบทหนุ่มใหญ่ผู้ต่ำต้อยด้อยค่าอาภัพรัก เช่นเดียวกับ มิเชล โมนาแฮน ที่วัยเกือบ 40 ปีของเธอ หาได้ทำให้ความสดใสในประกายตาหม่นหมองลงไปแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น "อะแมนดา" จึงยังคงรักษาความมีชีวิตชีวาเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นแม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม (จะว่าไปแล้ว ตัวละครคู่นี้ทั้งบุคลิกและรูปร่างหน้าตาก็ดูละม้ายคล้าย ไรอัน กอสลิง และ ราเชลแมคอดัมส์ ในหนังเรื่อง The Notebook แทบไม่ผิดเพี้ยน)
นอกเหนือไปจากนักแสดงแล้วการเลือกตัวผู้กำกับให้เหมาะกับทางหนังก็ดูเหมือนเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการหยิบนิยายของสปาร์ค มาทำเป็นหนังให้ประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน ถ้าย้อนกลับไปดูงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Safe Heaven คนทำหนังฝีมือดีอย่างลาสซี ฮาลล์สตอร์ม ก็ถูกเลือกให้มาทำหน้าที่นี้ หลังจากประสบความสำเร็จจาก “Dear John” หนังที่สร้างจากนิยายของสปาร์คอีกเรื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ ฮาลล์สตรอม ก็สร้างผลงานดีๆ เอาไว้มากมาย หรือถ้าจะย้อนกลับไป The Lucky One ก็เป็นหนังฮิตอีกเรื่องที่สร้างจากหนังสือของสปาร์ค โดยมี สก็อต ฮิคส์ คนทำหนังมือรางวัลรับหน้าที่กำกับ
ส่วน The Last Song ที่สปาร์ค ลงมือดัดแปลงเป็นบทหนังด้วยตัวเอง ก็ได้จูลี แอนน์ โรบินสัน ผู้กำกับที่โดดเด่นมากจากงานทีวีซีรีส์ มากุมบังเหียนของหนังให้ โดยกวาดเงินไปเกือบ 90 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ลงทุนไปแค่ 20 ล้านเท่านั้น ส่วนเรื่องล่าสุดก็ต้องรอพิสูจน์ว่า ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน ผู้กำกับมือรางวัลอีกคน จะทำให้หนังไปได้ไกลเทียบเท่าเรื่องอื่นๆ ของสปาร์คหรือปล่าว...
นักแสดงเปี่ยมเสน่ห์ ภาพสวย อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมีอยู่ในสูตรสำเร็จหนังรักก็คือเพลงประกอบเพราะๆ ซึ่ง The Best of Me ถ้าปิดตาลงเสีย อรรถรสของหนังก็แทบไม่ลดน้อยถอยลง ด้วยเพลงคันทรีป๊อปหวานๆ ของศิลปินดังมากมาย ตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่างวง คาวบอย จังกีส์ เจ้าของเพลงเอกในหนัง "Sweet Jane", วงสามเพื่อนซี้เจ้าของรางวัลแกรมมี่เลดี้ แอนเทเบลัม ไปจนถึงนักร้องรุ่นใหม่ๆ มากความสามารถอย่าง ฮันเตอร์ เฮย์ส และโคลบี้ แคลเลตที่กลายเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญที่น่าจะทำให้หนังรักน้ำเน่าหวานเลี่ยนเรื่องนี้ เดินไปสู่ความสำเร็จอีกหนึ่งในโปรไฟล์ของนิโคลัส สปาร์ค ในฐานะหนังที่สร้างจากนวนิยายขายดีอีกเรื่องของเขา
.......................................
(หมายเหตุ 'The Best of Me' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)