
'ลิเกทรงเครื่องคือเรื่องที่น่ารู้'
09 ต.ค. 2557
'ลิเกทรงเครื่องคือเรื่องที่น่ารู้' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน
รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ เป็นสำนวนสมัยก่อนที่จะถูกเปรียบเทียบให้มองว่าเป็นอาชีพที่เจ้าชู้ ใครที่มีลูกสาวก็จะไม่ให้คบหากับคนทำอาชีพเหล่านี้ เพราะจะทำให้น้ำตาเช็ดหัวเข่าได้จากความเจ้าชู้ แต่ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นรถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ ด้วยล่ะที่เจ้าชู้ อาชีพอื่นๆ อย่างพวกปี่พาทย์ราดตะโพน เขาไม่เจ้าชู้กันเลยหรือ ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วนั้นคนเรามันจะเจ้าชู้หรือไม่ ก็น่าจะอยู่ที่นิสัยของคนนั้นๆ มากกว่า แต่การที่คนโบราณเขาเปรียบเทียบสำนวนคำเอาไว้เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่าอาชีพของพวก รถไฟ เรือเมล์ ลิเก และตำรวจนั้นจะต้องเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตา จึงทำให้มีโอกาสที่จะเป็นคนเจ้าชู้ได้มากกว่าอาชีพอื่นๆ อย่าง ชาวไร่ ชาวนา เถ้าแก่โรงสี หรือข้าราชการอื่นๆ
ยิ่งโดยอาชีพลิเกแล้วนั้นต้องบอกว่าเปอร์เซ็นต์ความเจ้าชู้นั้นมีมากกว่าคนขับหรือนายตรวจตั๋วรถไฟ และเรือเมล์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเนื่องจากว่าจะมีรูปร่างหน้าตาดีแถมยักคิ้วลงเสน่ห์และร้องรำทำเพลงให้คนได้ดูได้ฟังกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นพระเอกไม่ต้องจีบผู้หญิงก็แทบจะวิ่งเข้ามาหาแล้วล่ะครับ แต่อย่างไรก็ตามอาชีพที่เป็นศิลปินลิเกนั้นก็ต้องบอกว่าเป็นอาชีพของคนที่เป็นผู้อนุรักษ์และสืบสานศิลปะของไทยเราที่มีมากันแต่สมัยโบราณและที่สำคัญอาชีพนักแสดงลิเกยังได้รับความนิยมอยู่จนถึงในปัจจุบันนี้ ซึ่งผิดกับโขนละคร หุ่นกระบอก ที่ต้องบอกว่าหาดูได้ยากยิ่งเป็นเพราะว่าไม่ค่อยมีใครจะจัดหรือหาไปแสดงตามงานต่างๆ กันนั่นเองและนับวันก็ยิ่งจะหายและหมดไปตามกาลสมัยนิยมนั่นแหละครับ
จากที่ผมเขียนมาในข้างต้นนั้นยุคสมัยนิยมได้กลืนกินการเล่นหรือการแสดงแบบไทยๆ ให้เงียบหายไปหลายอย่าง แต่บางอย่างก็ยังพอหลงเหลือให้เราได้ชมกันอยู่บ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็จะมี "ลิเกทรงเครื่อง" โดยเอาแค่ชื่อเด็กๆในสมัยนี้ได้ยินกันแล้วนั้นก็อาจจะทำหน้างงๆ แล้วยกมือยืนขึ้นถามว่า คุณครูครับ "มันคืออัล...ไล" คำนี้เป็นศัพท์สมัยนิยมที่ผมจำมาจากในสติ๊กเกอร์ไลน์ แหละครับ หรือแปลง่ายๆว่า " ลิเกทรงเครื่องมันคืออะไรครับคุณครู ผมรู้จักแต่ลิเกคณะไชยยา มิตรชัย กับลิเกคณะกุ้ง สุทธิราช วงศ์เทวัญ ครับคุณครู" โธ่เอ๋ย เจ้าเด็กน้อย แบบนี้เจ้าคงไม่รู้จักลิเกคณะหอมหวล แน่ๆ เบย... คุณครูนึกอยู่ในใจครับ
เอา นอกเรื่องซะเยอะมาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ คือในยุคปัจจุบันนี้เราจะพบเห็นการแสดงลิเกกันอยู่บ่อยตามงานวัดงานบวชงานศพ หรือช่องเคเบิลทีวี ก็จะมีอยู่บ้าง และบอกได้ว่าเป็นการแสดงมหรสพของไทยเราที่ยังได้รับความนิยมกันอยู่ ยิ่งโดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดในเขตภาคกลางนั้นยังคงมีงานให้แสดงกันอยู่ตลอดทั้งปี แถมหลายท่านที่เป็นพระเอกลิเกก็กลายเป็นดาราไปซะหลายต่อหลายคน โดยลิเกที่เราได้พบเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ ความจริงแล้วเป็นการแสดงที่ศิลปินไทยเราในสมัยก่อนเอาแบบอย่างมาจากทางพวกแขกโดยชื่อนั้นคำว่า "ลิเก" นั้นมาจากคำว่า "ซิเกร" เป็นภาษาเปอร์เซีย จริงๆ แล้วศัพท์ของคำนี้ก็คือชื่อบทสวดสรรเสริญพระอัลเลาะห์ ในภาษาอาหรับที่ชื่อว่า "ซิกรุ" หรือ Zakhur แต่ถ้าเป็นแขกมุสลิมนิกายชีอะห์ นั้นจะเรียกบทสวดนี้ว่า "ดิเกร์" โดยกรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ ท่านทรงบันทึกไว้ว่า คำว่า "ดิเกร์" ได้แปลงมาเป็นคำว่า "จิเก" แล้วก็เพี้ยนมาเป็นคำว่า "ยี่เก" แล้วก็กลายมาเป็นคำว่า "ลิเก" จนถึงในยุคนี้นั่นแหละครับ
ในสมัยแรกลิเกจะแบ่งออกเป็น 4 แบบคือ 1 ลิเกบันตน 2 ลิเกลูกบท 3 ลิเกทรงเครื่อง 4 ลิเกป่า ซึ่งสังเกตได้ว่าลิเกในปัจจุบันไม่ได้มีอยุ่ใน 4 แบบนี้ โดยที่ลิเกบันตนกับลิเกป่าจะใช้เครื่องดนตรีประกอบการแสดงเป็นกลองรำมะนา และฉิ่ง ฉาบ คล้ายกับการแสดงลำตัด ส่วนลิเกลูกบท และลิเกทรงเครื่องนั้นใช้วงปี่พาทย์ประกอบในการแสดง ซึ่งก็เหมือนกับลิเกในปัจจุบันนี้นั่นเอง แต่การแสดงลิเกลูกบทนั้นจะมีการแสดงที่ไม่เป็นเรื่องราวต่างๆ แต่จะเป็นการแสดงที่ต่างกันออกไปเป็นชุดๆ ส่วนการแสดงลิเกทรงเครื่องนั้นจะแสดงกันเป็นเรื่องราวต่างๆ ในบทวรรณคดี จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าการแสดงลิเกในปัจจุบันนี้มีพัฒนาการมาจากลิเกทรงเครื่อง นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามลิเกทั้ง 4 แบบนี้ในปัจจุบันคงหาชมได้ยากยิ่งหรืออาจจะไม่มีให้เราได้เห็นแล้วก็เป็นไปได้ แต่ว่าในการแสดงลิเกทรงเครื่องนั้นยังคงพอมีให้พวกเราได้ดูได้ชมกันอยู่บ้าง ส่วนจะเป็นคณะของใคร อยู่ที่ไหน แสดงที่ใด และจะเล่นกันยังไง เอาไว้ฉบับหน้าผมจะมาเขียนให้ได้อ่านกันอีกครับ
.......................................
(หมายเหตุ 'ลิเกทรงเครื่องคือเรื่องที่น่ารู้' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน)