บันเทิง

มือถือท้าทำIceBucketChallengeกันเอง'จะกันน้ำได้อย่างไร!?'

มือถือท้าทำIceBucketChallengeกันเอง'จะกันน้ำได้อย่างไร!?'

26 ส.ค. 2557

ไปกันใหญ่! มือถือท้าทำ #IceBucketChallenge กันเอง 'จะกันน้ำได้อย่างไร!?' : คอลัมน์ หนุ่ยรู้โลกรู้ โดย... พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

 
 
          จะว่าไป #IceBucketChallengeTH ก็เป็นแคมเปญที่เหลือเชื่อว่าจะแผ่ขยายไปสู่วงกว้างมากขนาดนี้ แม้ต้นกำเนิดมาจากสหรัฐ แต่คนไทยก็รับเรื่องนี้ได้ไวเพราะคุ้นเคยดีกับ “สงกรานต์” แหม~ก็แค่ “เติมน้ำแข็ง” และใช้การ “ราด” แทน “สาด” เท่านั้น คนไทยกลัวที่ไหน ฮ่าๆ ใครได้ลิ้มลองแล้วคงรู้ว่ามันช่างวูบวาบสะใจถึงขั้วกระดูกภายในแค่ไหน? 
 
          ผมขอไม่พูดพล่ามถึงแคมเปญนี้มากนักเพราะคุณผู้อ่านคงได้รู้วัตถุประสงค์ของมันผ่านบทความจำนวนมากจากผู้ก่อการความคิดดีหลายท่านไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่อยากเล่าสู่กันฟังวันนี้คือ “การตลาดที่ต่อเนื่องจากแคมเปญนี้” 
 
          การบริจาคเป็นเรื่องดีแต่เมื่อทำในนามองค์กรก็ “อดไม่ได้” ที่จะต้องอิงแอบแนบโลโก้ลงไปด้วย คนที่มองขวางโลกก็อย่าไปแซะเขานักเลยครับ ก็ในเมื่อเขาถูกท้าทายในนามองค์กร ถ้าเขาใส่ชุดนอนมาราดที่หน้าบ้านตัวเองนั่นคงแปลกล่ะ ฉะนั้นสีสันของแคมเปญนี้เราได้เห็นทั้ง ฉากหลัง, ถัง, มาสคอต ที่ออกสู่สายตาผู้ชมอย่างอดยิ้มตามไม่ได้...แต่ที่แปลกประหลาดที่สุดคงเป็นคลิปที่ “Samsung Galaxy S5” โดนราดน้ำแข็งใส่ตัวเครื่องมันเองแล้วใช้เสียง “S Voice” หรือเสียงเลขาส่วนตัวในระบบของเครื่อง เปล่งเสียงท้าทาย iPhone5S, HTC One M8 และ Nokia Lumia930 ..คลิปนี้สร้างสรรค์โดย Samsung แห่งสหราชอณาจักร ก็นับเป็นคลิปขำๆ ที่ “ฉวยโอกาส” ในกระแสนี้ประกาศ “ความสามารถในการกันน้ำ” ของตัวเครื่องอีกครั้ง หลังประกาศออกมานานแล้วในครั้งงานเปิดตัว ส่งผลในไทยให้เกิดดราม่าใน Pantip.com เนื่องจากผู้ใช้หลายคนเอาไป “จุ่มลงไปในน้ำ” เพื่อทดสอบแล้วเกิดเจ๊งขึ้นมา … ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า “กันน้ำ” ไม่ใช่ “ดำน้ำ” ..เรียกให้ชัดๆ คือ “ป้องกันอุบัติเหตุจากน้ำ” น่าจะเหมาะสมที่สุด .. “เทรนด์มือถือกันน้ำ” นี้ ผมเคยเขียนเล่าถึงเทรนด์นี้ไปตั้งแต่ต้นปี 2013 แล้วว่า “สมาร์ทโฟนยุคถัดไปจะเริ่มพัฒนาความสามารถในการป้องกันน้ำ” ได้...เนื่องด้วยการวิจัยสารเหลวเคลือบพื้นผิวแผงวงจรและตัวเครื่องอย่าง “Liquidpel” ถูกเปิดตัวขึ้นในงาน CES และทำท่าว่าจะถูกส่งต่อซัพพลายให้หลายๆ ผู้ผลิตมือถือนำมันไปใช้ .. NEC ของญี่ปุ่นเปิดตัวก่อน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนักในไทย Samsung ซึ่งดังกว่าได้คว้ามาแต่งองค์ทรงเครื่องให้ Galaxy S5 รุ่นเรือธงของตนเอง .. จากการสอบถามผู้คร่ำหวอดในแวดวงโทรศัพท์มือถือพบว่า “Liquidpel” ขายซัพพลายแพงมากและเป็นการเพิ่มต้นทุนให้เครื่องแบบสวนทางการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงในตอนนี้ 
 
          สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้พบกับ “เทคนิคการเคลือบสารป้องกันอุบัติเหตุจากน้ำ” ให้สมาร์ทโฟนเก่าๆ ของเราที่ซื้อมาแล้วสามารถอัพเกรดสู่การกันน้ำตามมาตฐาน IPX7 ได้ (IPX7 กำหนดให้มือถือกันน้ำได้โดยการจุ่มลงไปในน้ำได้ไม่เกิน 1 เมตรและไม่นานเกินกว่า 30 นาที)  ในเมืองไทยเราเวลานี้มีเพียง 2 เจ้าเท่านั้นที่สามารถทำได้นั่นคือบริการชื่อเท่ๆ อย่าง “Storm Shadow” และ #aquabloc
 
          ผมได้รับเชิญให้ไปเห็นทุกขั้นตอนการทำด้วยตาเปล่ามาแล้วทั้งสองเจ้า เจ้าแรกยกเครื่องมาจาก “ตึกคอมชลบุรี” มาทำให้ดูเลย ส่วนเจ้าที่สอง มีร้านหรูอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์นี่เอง ทั้งสองบริการทำหน้าที่ “ปกป้องความเสียหาย” เหมือนๆ กันแต่บอกได้เลยว่าเทคนิคของทั้ง 2 เจ้านั้น “แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”
 
          เริ่มเล่า “Storm Shadow” ให้ฟังก่อนครับ เจ้านี้นำเข้าเครื่องเคลือบสารพิเศษกันน้ำมาจากสหรัฐอเมริกา โดยเป็นของบริษัท DryWired Miami LLC ตัวเครื่องดูดีมากน่าเลื่อมใสเป็น Chamber สุญญากาศ ทำหน้าที่ดูดความชื้นออกจากทุกอณูในโทรศัพท์มือถือของเราให้ได้ในระดับต่ำสุดคือ 80 มิลลิธอร์ (หน่วยวัดความชื้น) จากนั้นเครื่องจะปล่อยสารพิเศษซึมแทรกกลับเข้าไปในทุกอณูภายในเครื่องเพื่อเคลือบ “ทุกชิ้นส่วน” ให้เกิดแรงตึงผิวสูง ที่เมื่อน้ำผ่านเข้าไปก็จะกลิ้งเป็นลูกกลมๆ เหมือนน้ำตกบนใบบอน ทำให้ไม่ซึมเข้าไปในแผงวงจรไฟฟ้าจึงไม่ช็อตให้เกิดความเสียหาย ด้วยคุณสมบัติของ “สารพิเศษ” ที่ทางเจ้าของเทคโนโลยีจดสิทธิบัตรไว้ไม่เป็นอันเปิดเผยนี้บรรจุมาในรูปแบบแคปซูลเหล็ก (คล้ายแคปซูลบรรจุไอเทมของสาวบลูม่าลูกสาว Capsule Corp. ในเรื่องดราก้อนบอล) ผู้ให้บริการต้องเปลี่ยนแคปซูลเหล็กนี้ทุกๆครั้งในการเคลือบให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเคลือบครั้งละกี่เครื่องก็ตาม (จุดคุ้มทุนของธุรกิจจึงต้องมีเครื่องบรรจุเข้าไปใน Chamber ครั้งละ 3 เครื่องถึงจะคุ้ม) เนื่องจากผู้ให้บริการรายนี้ในไทยไม่ได้ตั้งราคาค่าเคลือบสูงนัก ก็อาจต้องเสี่ยงหน่อยกับจุดคุ้มทุน หากลูกค้าอุดหนุนกันมากๆ บริการนี้ฮิต ลมหายใจของบริการนี้ก็คงยาวขึ้นและมีสาขาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
 
          เจ้าของ Storm Shadow เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่เจ้าของร้านโทรศัพท์มือถือที่ “ตึกคอม ชลบุรี” เขาศึกษาเทคโนโลยีกันน้ำให้โทรศัพท์มือถือมาระยะหนึ่งและบินไปเลือกเครื่องจักรจากสหรัฐอเมริกาด้วยตัวเอง เขาเล่าว่าแม้เทคนิคที่เขาเลือกจะต้นทุนสูงมากแต่เขาวิเคราะห์แล้วว่าลูกค้าส่วนใหญ่ ไม่อยากให้ช่างแกะเครื่องออกเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งนั่นมันหมายถึงการ “หมดระยะประกัน” ที่ได้จากบริษัทผู้ขาย การ Coating ของ Storm Shadow จึงทำได้ง่ายเพียงหย่อนมือถือลงไปใน Chamber แล้วปล่อยให้เครื่องจักรมันจัดการเอง ใช้เวลาดำเนินการ 1 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งเวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับขั้นตอนการดูดความชื้นออกจากเครื่อง
 
          มาอีกบริการหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ใจกลางห้างหรู Central World ชื่อร้าน #hashtag มีบริการเคลือบมือถือกันน้ำชื่อ #aquabloc (ร้านนี้ตั้งชื่ออะไรๆ เป็นต้องใส่ hashtag หมดครับเป็น Gimmick ที่สะดวกต่อการทำตลาดบนโลกโซเชียล) ร้านนี้นำเข้าเทคโนโลยีมาจากเกาหลีครับ ตัวเครื่องจักรดูดีไม่เท่าอเมริกา เขาจึงเลือกไม่โชว์เครื่องหน้าร้าน แต่ใช้ “นักบริการด่านหน้า” คอยต้อนรับและอธิบายอย่างละเอียดอยู่ที่หน้าร้าน เมื่อลูกค้าตกลงก็จะส่งเครื่องเข้าสู่ช่างผู้ชำนาญการหลังร้านเพื่อ “แกะทุกชิ้นส่วนออก” เทคนิคนี้ของเกาหลี อาจดูไม่ล้ำเท่าของเจ้าแรก เพราะต้องแกะเครื่องออกมาเคลือบสารพิเศษ (ซึ่งเปิดเผยชื่อได้) ถึง 4 ชั้น ทำตั้งแต่ใช้ฝีมือช่างบรรเลงฝีแปรงลงไป และใส่เข้าไปในเครื่องเคลือบ มันน่าอัศจรรย์ตรงที่เวลาการเคลือบของเครื่องจักรเกาหลีนี้ใช้เวลา “หลักวินาที” ไม่มีการพูดพล่ามทำเพลง ไม่เสียเวลาดูดความชื้นแบบที่เครื่อง DryWired ต้องเสีย .. แต่หลังจบการทำงานเครื่อง เครื่องมันยังต้องรบกวนคนบรรจงลงฝีแปรงอีกขั้นเป็นอันจบพิธีการก่อนประกอบเครื่องกลับ

          บริการ #aquabloc จึงเป็นงานขายความน่าเลื่อมใสของช่างผู้ชำนาญการเพื่อลูกค้าที่ต้องแลกกับการหมดระยะประกันเครื่อง #aquabloc จึงเหมาะกับโทรศัพท์ที่หมดประกันไปแล้ว ผมยอมรับว่าแม้เทคโนโลยีจะดูด้อยกว่าแต่พนักงานเขาตั้งใจทำมากจนผมต้องยกนิ้ว ผมเอา LG G3 ไปให้เขาแกะแงะออกมาเคลือบเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของพวกเขากับรุ่นนี้ แต่เขาก็ประกอบกลับมาได้อย่างดีและ “เนี้ยบ” .. Gimmick การตลาดของร้าน #hashtag ทำ Branding ได้ดี เขาจะติดโลโก้ #  ไว้หลังเครื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่า “เคลือบแล้ว” เนื่องจากสารนี้มันมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (ถึงเห็นก็ใช่ว่าจะดีครับ ฮา! ไม่เห็นน่ะดีแล้ว) และใส่ถุงผ้าที่ทางร้านออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มหลังเคลือบ ร้านเปิดให้บริการอยู่ที่ Central World ชั้น 4 หน้าทางเข้า ZEN หาง่ายครับ 
 
          ส่วนร้าน Storm Shadow แม้อยู่ไกลชาวกรุง แต่เจ้าของหนุ่มก็ใจสู้ เปิดรับเครื่องที่สถานีบีทีเอส ทุกสถานี (บริการรับส่งพัสดุบนนรถไฟฟ้า เอทีที) จากนั้นเครื่องจะถึงมือพวกเขาในเวลาไม่กี่ชม.และส่งคืนลูกค้าได้ภายใน 24 ชม. จุดให้บริการออนไลน์ เปิดหน้าเว็บอธิบายตัวเทคโนโลยีและบริการไว้ดิบดีที่ www.stormshadowstore.com ลองคลิกเข้าไปดู ส่วนใครใกล้ชลบุรีก็ไปทำได้ที่ตึกคอมครับ 
 
          แม้ในที่สุดกระแส #IceBucketChallenge จะซาไปแต่งานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่อง “สาเหตุการพังของสมาร์ทโฟน” ของคนทั้งโลก บอกว่า 23% เกิดจากการโดนน้ำ เมื่อโดนน้ำแล้วพังถึงเครื่องไม่บุบสลาย คุณก็อย่าตีมึนไปเคลมประกันกับบริษัทเขา เนื่องจากยังงั้ยยังไงเขาก็รู้ รู้ได้จากกระดาษวิทยาศาสตร์ภายในตัวเครื่อง (มันฟ้องด้วยการเปลี่ยนสี) การนำโทรศัพท์มือถือรแสนรักราคาแพงของคุณไป “เคลือบ” ไว้ก่อนเกิดเหตุ จึงเป็นทางเลือกที่เฟี้ยวมากกว่าการหาเคสกันน้ำครับ #ก็ไม่รู้สินะ ผมว่าถือการเครื่องเปลือยๆ มันฟีลลิ่งดีกว่าเยอะนัก :) กันไว้ดีกว่าแก้ เทคโนโลยีที่ดีพอมันมาถึงแล้ว..  
 
.......................................
(หมายเหตุ ไปกันใหญ่! มือถือท้าทำ #IceBucketChallenge กันเอง 'จะกันน้ำได้อย่างไร!?' : คอลัมน์ หนุ่ยรู้โลกรู้ โดย... พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ )