
'บทเพลง'ทางการเมืองเล่าเรื่องตามทัศนคติ
11 มิ.ย. 2557
'บทเพลง'ทางการเมืองเล่าเรื่องตามทัศนคติ : สกู๊ปบันเทิง
เมื่อหลายปีก่อน เหตุบ้านการเมืองในประเทศไทย มักจะถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงจากศิลปิน โดยส่วนใหญ่จะเรียกศิลปินเหล่านั้นว่า "ศิลปินเพื่อชีวิต" และล่าสุดกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย กับการเข้ายึดอำนาจของ "กองทัพ" โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ "บิ๊กตู่" ผบ.ทบ./ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากเหตุการณ์ดังกล่าว ถูกนำมาแต่งเป็นบทเพลง เพื่อสะท้อนอารมณ์และทัศนคติของผู้แต่ง ถ่ายทอดไปถึงคนฟัง ลองมาเรียบเรียงกันดูว่ามีเพลงอะไรกันบ้าง
เริ่มที่เพลงแรกที่เพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพลงนี้คือ "คืนความสุขให้ประเทศไทย" เป็นการแต่งเนื้อร้องโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และเรียบเรียงคำร้องและทำนองโดย วิเชียร ตันติพิมลพันธุ์ ขับร้องและเล่นดนตรีโดย กองดุริยางค์ทหารบก ซึ่ง พ.อ.กฤษดา สาริกา ผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารบก ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์แต่งเพลงนี้ เพื่อสื่อความหมายจากใจ ที่ต้องการคืนความสุขให้แก่ประชาชน โดยใช้เวลาแต่งเนื้อเพลงเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ด้วยลายมือที่เขียนเอง ซึ่งบิ๊กตู่ระบุลงมาเลยว่า ต้องการให้มีสักหนึ่งเพลงที่สื่อความหมายความรู้สึกจากใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงประชาชน
"วันที่ชาติและองค์ราชา มวลประชาอยู่มาพ้นภัย ขอดูแลคุ้มครองด้วยใจ นี่คือคำสัญญา วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป เพื่อนำรักกลับมา ต้องใช้เวลาเท่าไร โปรดจงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน..."
มาที่อีกหนึ่งเพลงที่ถูกแต่งขึ้นจากเหตุการณ์การยึดอำนาจของ คสช. เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นจากตำนานเพลงเพื่อชีวิต "แอ๊ด คาราบาว" หรือ "ยืนยง โอภากุล" กับเพลงที่ชื่อว่า "นาวารัฐบุรุษ" โดยเพลงนี้ แอ๊ด คาราบาว เป็นคนแต่งคำร้อง/ทำนองเองทั้งหมด ซึ่งเพลงนี้น้าแอ๊ดแต่งเพื่อมอบให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
"...เมื่อมีการลงทุน ที่ท้าทายสายตาประชาชาติ นี่คือโอกาส! แห่งรัฐบุรุษ...เรือรบหรือตังเก หนนี้เห็นทีต้องพิสูจน์ จุดเปลี่ยนประเทศไทย อยู่ที่ท่านผู้นำ
จุดเปลี่ยนประเทศไทย อยู่ที่ท่านกำลังจะทำ จุดเปลี่ยนประเทศไทย อยู่ที่ท่านผู้นำ จุดเปลี่ยนประเทศไทย อยู่ที่ท่านกำลังกระทำ ให้โลกได้จดจำ... รัฐบุรุษ!"
โดยมีการโพสต์ในโลกโซเชียลว่า แอ๊ด คาราบาว ยังมีข้อเสนอแนะประกอบเพลงนี้อีกด้วยว่า "ให้ คสช.ตั้งกระทรวงประชาธิปไตยขึ้นเพื่อเอาจริงเอาจังต่อการปลูกฝังลัทธินี้อย่างจริงจังในชีวิตประจำวันของประชาชน มีแต่ทำเช่นนี้ถึงจะเดินหน้าต่อได้ มิเช่นนั้นประชาชนจะไร้ซึ่งศักดิ์ศรี เพราะตกเป็นหนี้ระบบอุปถัมภ์ของบรรดานักเลือกตั้งที่มีน้อยคนนักจะเห็นแก่ประโยชน์แห่งบ้านเมืองเป็นหลัก ประเทศไทยมีนักประชาธิปไตยเก่งๆ เยอะ แต่ไม่มีงานทำ นอกจากได้สอนหนังสือไปวันๆ พูดไปวันๆ ถึงเวลาที่ผู้ฉลาดทรงภูมิปัญญาจะได้แสดงฝึกมือกันบ้าง ว่าภาคสนามนั้นต่างจากในตำราที่ไปจบเมืองนอกเมืองนาอยู่ถมไป ถ้าชอบช่วยกดไลค์ ถ้าใช่ก็ช่วยแชร์ด้วยครับพี่น้อง...แอ๊ด คาราบาว"
สองเพลงก่อนหน้านี้เป็นเพลงที่เกิดหลังจากที่มีการยึดอำนาจของ "คสช." แล้ว เพลงต่อไป เป็นเพลงที่ย้อนไปช่วงก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งทางความคิด กับเพลงที่ชื่อ "รักและสันติ" จากฝีมือการแต่งคำร้องและทำนองจากปลายปากกาของศิลปินร็อกสุดฉาว "เสก โลโซ" หรือ เสกสรร ศุขพิมาย เนื้อหาของเพลงนี้เป็นการอิงกระแสการเมืองเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2556 ที่กำลังมีความคุกรุ่นทางการเมือง
"...ฉันเพียงแค่อยากเห็นพี่น้องไทยกลับมารักกัน ดังเช่นคืนวันที่ผันผ่าน ฉันขอได้ไหมอย่าแบ่งแยกเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ให้กลับมาอยู่รวมกันดังเดิม ด้วยรักและสันติ..."
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งเพลงจากอีกหนึ่งตำนานเพลงเพื่อชีวิตอย่าง "ปู" พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ที่แต่งเพลงที่มีชื่อ "นครลิง" ไว้ในอัลบั้ม “25ปี(มีหวัง)” เพลงนี้ "ปู" พงษ์สิทธิ์ แต่งขึ้น ด้วยการเปรียบเปรยความขัดแย้งที่ถูกแบ่งออกเป็นสีต่างๆ ทั้ง สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน
"ในนครของลิงเผือก ยิ้มของลิงนั้นแห้งเหือด ลิงเผือก กำลังเลือกนาย ผู้นำลิงตัวก่อนเก่า กองทัพลิงเข้าขับไล่ มันเก่งกาจฉลาดเกินคน ชนชาวลิงมีเหลือง แดง แถมมีลิงสีน้ำเงิน พัลวนสับสนวุ่นวาย ต่างลิงต่างก็หลากสี เข้าต่อยตีเอาให้ตาย น่าอับอายพี่น้องนครลิง...."
การแสดงออกผ่านบทเพลงมีนัยที่สื่อความหมายแตกต่างกันไป ตามการนำเสนอของผู้แต่ง เพื่อสะท้อนความคิด ความรู้สึก จากผู้แต่งถึงคนฟัง ซึ่งแต่ละเพลงล้วนแล้วแต่ตีแผ่สถานการณ์ในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วยกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ในเพลงทุกเพลงที่ศิลปิน-ผู้แต่งต้องการนำเสนอคือ การอยากให้คนไทยกลับมา "รักและสามัคคีกัน"
.......................................
(หมายเหตุ 'บทเพลง'ทางการเมืองเล่าเรื่องตามทัศนคติ : สกู๊ปบันเทิง)