
'ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี'
30 พ.ค. 2557
'ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ระหว่างเดินออกจากโรงหลังชม ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี รู้สึกใจหายพอสมควร เพราะจะว่าไปแล้วหนังมหากาพย์อิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบยอดเยี่ยมไปเสียทุกภาคทุกตอน บางตอนอาจจะน่าผิดหวังบ้าง หรือภาคที่ 2 และ 4 ดูสนุกเร้าใจที่สุด เพราะเต็มไปด้วยฉากสงครามสู้รบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยอมรับว่า หนังชุดตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กลายบทเป็นบันทึกที่สำคัญหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
แม้เรื่องราวของกษัตริย์นักรบสมเด็จพระนเรศ จะเคยถูกนำมาสร้างเป็นหนังแล้วเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในชื่อ "มหาราชดำ" มี ทรนง ศรีเชื้อ นั่งแทนกำกับ นำแสดงโดย พิศาล อัครเศรณี แต่ก็มิได้อยู่ในฐานะภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ เพราะมีการแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมด อีกทั้งตัวละครหลักก็มิได้ให้น้ำหนักกับพระนเรศวรแต่อย่างใด ดังนั้น ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเป็นหนังประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไทยเรื่องหนึ่ง นับจาก สุริโยไท ผลงานกำกับก่อนหน้าของ "ท่านมุ้ย" ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล
หากมองข้ามเรื่องไวยากรณ์และแง่มุมของศิลปะภาพยนตร์ไปชั่วคราวจะพบว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คืองานจำลองหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เพียงนำมาปรากฏบนจอภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่สิ่งที่ทีมงานก่อร่างสร้างขึ้นมาทั้งหมดในหนังเรื่องนี้ สมควรถูกนำมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะสิ่งที่ท่านมุ้ยและทีมงานสร้างขึ้นล้วนแล้วแต่ผ่านการค้นคว้า เสาะหามาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อนำมาใช้อ้างอิง ทั้งศาสตราวุธ เสื้อผ้าอาภรณ์ เรือสำเภา ป้อมค่าย คูคลอง ไปจนถึงเครื่องทรงต่างๆ เพื่อแสดงสถานะทั้งของกษัตริย์ เสนาบดี ขุนศึก ฯลฯ ไปถึงบ้านช่องเรือนชาน ตำหนัก พระที่นั่ง ซึ่งถอดแบบลวดลายมาจากของจริงแทบทุกกระเบียดนิ้วทั้งของไทยและพม่า รวมถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ท่านมุ้ยและทีมงานสืบค้นข้อมูลจากพงศาวดารหลายแหล่งทั้งในและนอกประเทศ ก่อนจะนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ที่เราได้ชมกัน 5 ภาค
การทำหนังมหากาพย์อิงประวัติศาสตร์ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ไม่เพียงโหมเร้าเอาใจผู้ชมด้วยฉากยกทัพทำศึกระหว่างไทย-พม่า หากแต่ท่านทรงใส่เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์มากมายของแต่ละราชวงศ์ไทย ซึ่งทำมาตั้งแต่สุริโยไทจนถึงพระนเรศวร ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงความบันเทิงสนุกสนานที่ได้รับจากหนังเท่านั้น แต่สิ่งที่ต่อยอดจากสุริโยไทและตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือ การบ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นกับผู้ชม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจากเกร็ดประวัติศาสตร์ ท่านมุ้ยใส่ลงไปในหนัง ทำให้พวกเขาลุกไปออกศึกษาค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ ต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ รายการแฟนพันธุ์แท้ ทางช่อง 5 จัดแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยผู้ชนะเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นแชมป์การแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ สุริโยไท เมื่อ 12 ปีก่อน และเด็กหนุ่มคนนี้เองที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังอิงประวัติศาสตร์ทั้งสองเรื่องของท่านมุ้ย ทำให้เขาสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์จนมุมานะกลายเป็นอาจารย์ในปัจจุบัน
กลับมามองในมุมของศิลปะภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบเทียบชั้นหนังคลาสสิกหลายๆ เรื่องที่ถูกอ้างอิงในตำราภาพยนตร์ ทั้งเรื่องบทหนังที่อาจจะยังไม่ลงตัว การแสดงของนักแสดงบางคนอาจยังเคอะเขิน แข็งขืนไม่เป็นธรรมชาติ หรืองานเทคนิคพิเศษด้านภาพอาจจะยังดูไม่กลมกลืน ขัดหูขัดตา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความใส่ใจในรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหนัง ล้วนแล้วแต่เป็นคุณูปการทั้งต่อผู้ชม คนทำงานในสาขาต่างๆ และที่สำคัญ เป็นการตอกหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ในรอบหลายสิบปีให้แก่วงการหนังไทย ในฐานะหนังมหากาพย์อิงประวัติศาสตร์ ที่แวดล้อมด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงตลอดจนรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่เที่ยงตรงที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปี
ผมเคยฝันมานานแล้วว่า อยากเห็นหนังไทยสักเรื่องที่สามารถเกาะกินใจผู้ชมได้ตลอดเวลา กลายเป็นขวัญใจที่เมื่อถึงเวลาภาคใหม่เข้าฉาย ผู้ชมต่างตื่นเต้นสนใจ เข้าคิวซื้อตั๋วดูประหนึ่งฤดูการแข่งขันกีฬานัดสำคัญมาถึง นานมาแล้ว ญี่ปุ่นมีหนังแบบนี้ชื่อว่า โทร่าซัง ที่สร้างติดต่อกันถึง 48 ตอน จนแทบจะกลายเป็นหนังประจำชาติไปแล้ว หรือครั้งหนึ่งหนังไทยเองก็เคยมีหนังอย่าง บุญชูผู้น่ารัก ที่สร้างออกมาร่วมๆ 10 ตอน หรือกระทั่ง บ้านผีปอบ เจ้าของตำนานปอบหยิบวิ่งหนีผีลงตุ่ม ก็ได้รับความนิยมสร้างติดต่อกันออกมาถึง 13 ภาค
โลกของศิลปะหรือโลกของหนังไม่มีคำว่าดีหรือเลวหรอกครับ หนังดีอาจจะมีคนเกลียดเข้าไส้หรือหนังเลวบางเรื่องอาจมีคนชอบถึงขั้นหลงใหลคลั่งไคล้ โลกของหนังไม่อาจตัดสินถูกผิดได้ เพราะเอาเข้าจริงสิ่งเหล่านี้บางครั้งมันก็เป็นรสนิยมส่วนตัวที่บอกได้แค่ว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นเอง
เวลา 12 ปี ที่ท่านมุ้ยและทีมงานหมดไปกับการทำหนังชุดนี้ แม้จะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่อย่างน้อยมันก็ถือเป็นสมบัติของชาติที่ไม่เพียงกอปรขึ้นด้วยแรงใจแรงงานมหาศาล รวมทั้งแรงเงินจากภาครัฐ และสุดท้ายเราก็ได้เห็นผลพวงของความพยายามละเลงอยู่ในหนังอย่างเด่นชัด ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม
.......................................
(หมายเหตุ 'ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)