
The Amazing Spider-Man2: Rise of Electro
02 พ.ค. 2557
เอกเขนกดูหนัง : The Amazing Spider-Man 2: Rise of Electro : บายไลน์...ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
เหตุแห่งความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งของหนังชุดสไปเดอร์แมน ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นของ ผู้กำกับแซม ไรมี่ หรือ มาร์ก เวบบ์ ก็คือ ภายใต้หน้ากากซูเปอร์ฮีโร่ไอ้แมงมุม เราจะพบหนังวัยรุ่นดีๆ ซุกซ่อนอยู่ทุกภาค...ใน Spider-Man ของ แซม ไรมี่ หลังการเสียชีวิตของลุงเบน ผู้เลี้ยงดู ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาตัดสินใจใช้พลังพิเศษในการต่อกรกับเหล่าอาชญากรร้าย ด้วยคำสั่งเสียของลุงที่ดังก้องในโสตประสาทตลอดเวลาว่า "พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง" เจ้าหนูปีเตอร์ ในเวอร์ชั่น ไรมี่ เป็นเด็กมีปม ที่พ่อแม่ปล่อยทิ้งให้ลุงกับป้าเลี้ยงดู ปีเตอร์เป็นเด็กหนุ่มขี้อาย เก็บเนื้อเก็บตัวและดูจะไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง เป็นซูเปอร์ฮีโร่ ลักษณะเดียวกับแบทแมน คืออมทุกข์ การออกปราบคนชั่วของเขานอกจากผดุงไว้เพื่อความสงบสุขแล้ว ยังทำไปเพื่อเยียวยาแผลใจของตัวเองอีกทางหนึ่ง "ปีเตอร์" หรือ "สไปดี้" ของ ไรมี่ จำลองบุคลิกของวัยรุ่นทั่วไปมาไว้ในตัวครบครัน ทั้งเป็นคนขี้เหงา แอบชอบสาวแต่ไม่กล้าเข้าไปจีบ มีความเป็นเด็กเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ที่ทั้งสับสน เฝ้าค้นหาตัวเองและบางทีก็ไม่สามารถแยกแยะความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ จนในภาคสุดท้ายที่ไม่เพียงต่อกรกับเหล่าร้ายหากแต่ยังต้องรับมือกับด้านมืดในจิตใจของตัวเองด้วย เรื่องราวในแต่ละภาค ก็แสดงให้เห็นพัฒนาการทางความคิด อารมณ์ และวุฒิภาวะของตัวละครที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นตามวัย
ขณะที่ The Amazing Spider-Man ของ มาร์ก เวบบ์ เจ้าหนุ่มปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเด็กอัจฉริยะ ออกตามหาสาเหตุที่พ่อแม่ออกจากบ้าน ทิ้งเขาให้อยู่กับลุงป้า จนนำไปสู่การเรียนรู้ความสามารถพิเศษของตัวเองมาใช้ปราบเหล่าอธรรมด้วยความคึกคะนอง เป็นซูเปอร์ฮีโร่เด็กเกรียน ที่มีความสุขอยู่กับคนรัก ไม่ได้จ่อมจมอยู่กับความเศร้าเหมือนปีเตอร์ของไรมี่ แต่ก็มีความผิดบาปเพราะการกระทำของตัวเอง แม้มันจะเป็นไปเพื่อความถูกต้องก็ตาม "ปีเตอร์" ของเวบบ์ ก็ยังเป็นเด็กหนุ่มที่กลัวการถูกทอดทิ้ง ชอบการผูกมิตรมากกว่าเก็บเนื้อเก็บตัวอย่างโดดเดี่ยว สนุกกับการออกผจญภัยช่วยเหลือผู้คน มากกว่าคิดว่ามันเป็นภาระความรับผิดชอบที่ต้องทำเพื่อแลกมากับพลังอันยิ่งใหญ่ (เหมือนเวอร์ชั่นของไรมี่) แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สไปดี้ และ ปีเตอร์ ทั้งของไรมี่และเวบบ์ ก็คือเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่เราสามารถพบเจอได้ทั่วไปตามร้านกาแฟหรืออินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีทั้งความกากเกรียนน่าเขกกบาล หรือเด็กรักดีที่น่าเข้าไปโอบกอด
ไม่น่าเชื่อว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ถูกรีเมคใหม่ในระยะเวลาห่างกันแค่ 5 ปี (นับจากสไปเดอร์แมน ภาคสุดท้ายออกฉายในปี 2007) จะประสบความสำเร็จถล่มทลายไม่แพ้ภาคแรก ทั้งๆ ที่ยังมีภาพจำของคาแรกเตอร์ตัวละครอย่างเด่นชัด แต่เมื่อสไปเดอร์แมนเวอร์ชั่นใหม่ผ่านการรีบูท ปรับเปลี่ยนคาแรกเตอร์บางอย่าง ปูพื้นตัวละครโดยเล่าในอีกมุมมอง (ซึ่งใกล้เคียงกับต้นฉบับการ์ตูนคอมิกส์มากกว่า) แน่นอนว่า รวมถึงการสร้างประสบการณ์และรูปแบบการต่อสู้ผจญภัยกับเหล่าร้ายที่แปลกใหม่และตื่นตาใจขึ้น จนต้องมีการสร้างภาคต่อของเวอร์ชั่นรีบูทตามมา
งานด้านภาพของ The Amazing Spider-Man 2 แค่เปิดฉากมาก็สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชมได้ไม่น้อย โดยเฉพาะตอนที่สไปดี้พ่นใยห้อยโหนโจนทะยานไปตามตึกรวงในมหานครนิวยอร์ก ภาพที่ปรากฏในหนังถูกออกแบบมาให้เหมือนมีกล้องติดอยู่ที่ร่างของไอ้แมงมุม ที่ฉายให้เห็นทั้งภาพมุมสูงของเมือง และการเคลื่อนไหวร่างกายของสไปดี้ที่สนุกสนานกับการเหาะเหินเดินอากาศผ่านเส้นใยสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นจากมันสมองอันชาญฉลาดของเขาเอง คาแรกเตอร์ที่ดูเป็นมิตรมากขึ้นของปีเตอร์ในเวอร์ชั่นนี้ เป็นการปูพื้นวายร้ายตัวใหม่ เมื่อเขาดันไปผูกสัมพันธ์ฉันเพื่อนกับ แมกซ์ วิศวกรไฟฟ้าสุดเนิร์ดของบริษัท ออสคอร์ป ที่ประสบอุบัติเหตุกลายร่างเป็นมนุษย์ฟ้าอิเล็กโตรในเวลาต่อมา ซึ่งฉากต่อสู้กลางจัตุรัสไทม์สแควร์ ก็ถือเป็นฉากแอ็กชั่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดฉากหนึ่ง เพราะนอกจากความวินาศสันตะโรระดับวอดวาย หนังยังแฝงอารมณ์ขัน และใช้เทคนิคลำดับภาพด้วยการเล่นกับสปีดโมชั่นได้อย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ โดยเฉพาะฉากสุดท้าย ที่หนังมีก๊อกสอง ด้วยการเพิ่มคู่ต่อกรของสไปเดอร์แมนเข้าไป พาให้หนังจูงอารมณ์ผู้ชมไปจนสุดขั้วของฉากแอ็กชั่นที่หาเรื่องไหนทำได้ทัดเทียมในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ตลอดความยาวกว่า 2 ชั่วโมง The Amazing Spider-Man 2 ไม่ได้ทำแค่ยัดฉากแอ็กชั่นมันๆ เข้าไป หากแต่หนังยังกลับไปเล่าที่มาที่ไปของการหายสาบสูญของโรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ผู้พ่อ และเฉลยความจริงบางอย่างที่ทิ้งปมเอาไว้ในภาคแรก ซึ่งเป็นการสร้างวายร้ายคนสำคัญตามมา อันเป็นช่องทางในการขยับขยายไปสู่ภาคต่อๆ ไปของสไปเดอร์แมนเวอร์ชั่นนี้ (และแน่นอนว่า จำนวนภาคที่ตามมา อาจจะไม่หยุดอยู่แค่ภาคสามแน่ๆ)
แอนดรู การ์ฟิล์ด อาจไม่ได้หล่อเหลาเท่า โทบี้ แมคไกวร์ แต่ลักษณะทางกายภาพของหนุ่มคนนี้ ที่ทั้งสูงโปร่งและล่ำสัน ทำให้สไปดี้ดูสมาร์ทกว่าเวอร์ชั่นเดิม รวมถึงประสบการณ์ทำหนังรักโรแมนติกของมาร์ก เวบบ์ ที่ผ่านมา (จากหนัง 500 Days of Summer) ทำให้ฉากความสัมพันธ์ระหว่างปีเตอร์กับ เกวน สเตฟานี ดูซาบซึ้งประทับใจ และดูเป็นคู่ตัวละครที่มีความผูกพันกันมากกว่า ปีเตอร์ กับ แมรี่ เจน ในสไปเดอร์แมน เวอร์ชั่น แซม ไรมี่ รวมถึงความเก๋าของเจมี่ ฟอกซ์ ทำให้บท แม็กซ์ หรืออิเล็กโตร เป็นทั้งวายร้ายและชายผู้น่าสงสารในเวลาเดียวกัน
นาทีนี้ ซูเปอร์ฮีโร่จากคาแรกเตอร์ของ มาร์เวล คอมิคส์ ดูจะประสบความสำเร็จแทบทุกตัวที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ทั้ง ไอรอนแมน, ธอร์, กัปตันอเมริกา, เอ็กซ์เมน หรือกระทั่งสไปเดอร์แมน หรือกระทั่งนำมารวมกันในนามทีม อเวงเจอร์ ทั้งนี้เพราะตัวละครเหล่านั้นถูกหยิบนำมาเล่าใหม่ด้วยมิติที่แตกต่าง และแปลกใหม่อยู่เสมอ