
'ทีวีดิจิทัล'ผู้บริโภคได้อะไรในยุคโทรทัศน์ใหม่
'กสทช.' จัดสัมมนา 'ทีวีดิจิทัล'ผู้บริโภคได้อะไรในยุคโทรทัศน์ใหม่ : สกู๊ป
เริ่มทดลองออกอากาศไปบ้างแล้ว สำหรับทีวีดิจิทัล แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมมาพร้อมกับความสับสนของผู้ชม ว่าจะสามารถรับชมสัญญาณดิจิทัลได้อย่างไร ต้องเชื่อมต่อกับอะไรบ้าง และผู้บริโภคจะได้รับอะไรจากทีวีดิจิทัลที่ว่านี้
วันก่อนทาง กสทช. ได้มีการจัดสัมมนาเรื่อง "ทีวีดิจิทัล :ผู้บริโภคได้อะไร" ณ อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กสทช. โดย สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เผยว่า เข้าใจว่าประชาชนยังสับสน ว่าจะชมทีวีดิจิทัลได้อย่างไร จะได้รับคูปองเพื่อไปแลกกล่องรับสัญญาณระบบดิจิทัลอย่างไรและเมื่อไหร่ ซึ่งวันที่ 23 เมษายนนี้ จะมีการประชุม กสทช. บอร์ดใหญ่อีกที และจะมีการแถลงให้ประชาชนได้ทราบพร้อมกันแน่นอน ส่วนวันออกอากาศจริงของทีวีดิจิทัลขออุบไว้ก่อน ช่วงนี้หากอยากทราบอะไร สามารถโทรไปสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ คอลเซ็นเตอร์ โทร.1200
ทางด้าน เอกนรินทร์ ยุพาพิน เผยว่า ทีวีดิจิทัลจะส่งผลดีกับประชาชนในแง่ช่องที่มีมากขึ้น เนื้อหารายการที่มากขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาการหมุนเสาอากาศของประชาชน ต่อไปนี้สามารถรับชมทีวีได้โดยไม่ต้องหมุนหาสัญญาณอีกต่อไป เพราะจะใช้วิธีการแพร่ภาพในความถี่เดียวกัน แน่นอนว่าประชาชนจะสามารถรับชมโทรทัศน์ที่มีภาพคม ชัดและได้รับอรรถรสในการชมที่มากขึ้น
ด้าน ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ เผยถึงทีวีดิจิทัลในโลกปัจจุบันว่า แต่ละประเทศใช้เวลาเปลี่ยนแปลงหลายปี ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาถึง 13 ปี ในการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีอนาล็อก มาเป็นทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีกับประเทศไทยที่ได้เข้าสู่การปฏิรูปโทรทัศน์ หลังจาก ปี 2498-2556 (58 ปี) ใช้ระบบสัมปทานผูกขาดอำนาจยาวนานสิทธิถือครองโดยรัฐอย่างเดียว โดยในปี 2557-2572 จะเข้าสู่ระบบใบอนุญาตบริการสาธารณะ บริการธุรกิจ บริการประชาชน ส่วนประชาชนจะได้อะไรจากการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลนั้น นอกเหนือจากได้ภาพที่ชัด เสียงแจ่ม ช่องเยอะขึ้น ยังจะได้อรรถกรประโยชน์ทางเศษฐกิจมิติดิจิทัล ที่งบประมาณที่ได้รับจากทีวีดิจิทัลนั้นสามารถนำมาสร้าง สุวรรณภูมิได้อีก 1 เฟส และสร้างรถไฟฟ้าสายที่ 3 ได้ จะทำให้วงการโทรทัศน์เกิดสื่อที่สร้างสรรค์ขึ้น เพราะมีรายการที่หลากหลาย และได้อรรถประโยชน์ทางสังคม แต่ยังคงมีปัญหาทางด้านการสื่อสาร ที่ยังมีประชาชนยังไม่ทราบวิธีการรับชมทีวีดิจิทัล ที่หลังสงกรานต์นี้น่าจะได้ทราบกัน
ทั้งนี้ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ประชาชนจะได้อะไรจากการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล" โดย นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเผยว่า เข้าใจว่าหลายคนยังไม่ทราบวิธีการรับชมทีวีดิจิทัล แต่อย่าเสียใจ เพราะเดี๋ยวดูไปเรื่อยๆ จะเข้าใจเอง การที่มีฟรีทีวีถึง 24 ช่องเข้ามา ผู้บริโภคจะได้ช่องทางการรับชมที่หลากหลายมากขึ้น และแต่ละช่องต้องแข่งขันกันสูง ซึ่งการแข่งขันกันนั้นประชาชนจะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ แต่อย่าคาดหวังว่า แต่ละช่องที่ได้เป็นทีวีดิจิทัลแล้วนั้นจะเปรี้ยงทุกช่อง เมื่อการแข่งขันสูงจะไม่มีใครยอมใคร ซึ่งของจริงจะเริ่มหลังเดือนมิถุนายน รออีก 3 เดือน คาดว่าการแข่งขันจะสูง
ด้าน พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ตอนนี้สิ่งที่ยังไม่พร้อมสำหรับทีวีดิจิทัล คือ หลายคนยังมีความสับสนในโครงสร้างการออกอากาศอยู่ ส่วนการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ วันที่ กสทช. ออกมาสรุปว่าจะแจกคูปองเพื่อนำไปแลกกล่องรับสัญญาณดิจิทัลอย่างไร วันที่แต่ละครัวเรือนได้รับคูปองแล้วนำไปแลกกล่อง และนำมาติดเพื่อรับชมทีวีในระบบดิจิทัล นั่นแหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้น แต่ช่องฟรีทีวี 6 ช่อง ที่มีอยู่เดิมสามารถตอบโจทย์ทุกครัวเรือนมาตลอด 50 กว่าปี ตอนนี้ต้องดูว่าช่องที่เพิ่มมาจะทำอย่างไรให้คนหันมาดู ต้องมีการแข่งขันที่สูงมาก มีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพทำให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ๆ จะเกิดการสร้างบุคลากรขึ้นมาใหม่ ในยุคหนึ่งเป็นยุคทองของวิศวกร ต่อไปนี้จะเป็นยุคทองของนักนิเทศศาสตร์ แม้ว่าทีวีดิจิทัลจะมาช้า แต่เชื่อว่าทุกคนจะเรียนรู้และเข้าใจได้เร็ว
ด้าน ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้แทนจากบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด เผยว่า การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลเป็นการปฏิรูปทลายความเป็นเจ้าของที่จากเดิมเป็นของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว เป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นสามารถเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลได้ แน่นอนประชาชนจะได้รับความหลากหลายมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายของผู้ผลิต จุดท้าทายที่สุดของทีวีดิจิทัล คือ การปฏิรูปสื่อ การมีเสรีภาพของสื่อที่มากขึ้น จะไม่เกิดปัญหาละครออนแอร์ไม่จบ ช่วงข่าวโดนตัดออกไป
ทางด้าน อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า สุดท้ายแล้วประชาชนจะได้ชมทีวีที่ ภาพชัด เสียงแจ๋ว มีช่องเยอะ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะก้าวทันประเทศอื่น
เอาเป็นว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็รอลุ้นกันว่า เราจะได้อะไรในยุคโทรทัศน์ใหม่กันบ้าง?