
'โลกเปลี่ยนเพลง เพลงเปลี่ยนโลก กำเนิดเพลงไทย-สากล'
10 เม.ย. 2557
'โลกเปลี่ยนเพลง เพลงเปลี่ยนโลก กำเนิดเพลงไทย-สากล' : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ
หากจะพูดถึงที่มาของดนตรีสากลในบ้านเรา คงต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นตั้งแต่รัชการที่ 4 เมื่อหนึ่งร้อยสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา วงแตรวง แบบสากล เริ่มแรกถูกนำมาใช้ในการฝึกทหารโดย การฝึกของนายทหารอังกฤษ พัฒนาและปรับปรุงเทคนิคการบรรเลงและการแยกเสียงประสานในสมัย รัชกาลที่ 5 ในช่วงที่ละครรำ และละครร้องในโรงละครเฟื่องฟู เจริญก้าวหน้าหน้า ในรัชกาลที่ 6 เริ่มตั้งโรงเรียนโรงเรียนสอนเครื่องดนตรีทุกประเภท และจัดตั้งวง ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ส่วนวงดนตรีประเภทดุริยางค์ และเปิดการแสดง ซิมโฟนี ออร์เคสตรา เปิดการแสดงให้ประชาชนใด้ชมเป็นครั้งแรก ในรัชกาลที่ 7 โดยมี พระเจนดุริยางค์ ปลัดกรมกองเครื่อสายฝรั่งหลวง ในสมัยนั้น เป็นผู้อำนวยการเพลง แสดงให้เห็นว่า ดนตรีคลาสสิค เจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก ในช่วงเวลานั้น
เพลงไทยสากลเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาพยนตร์ เป็นการปฏิวัติวงการภาพยนตร์ จากหนังเงียบ ในช่วงปี 2482 เริ่มมีการแต่งเพลงประกอบละครเวที โดยผู้ประพันธ์คือ หลวงวิจิตรวาทการ
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยังอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดสถานเริงรมย์ สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และได้รับความนิยมอย่างมาก จวบจนถึง ยุคความเริงรมย์ของสื่อวิทยุ เพลงละคร จนถึงเพลงสุนทราภรณ์ และแตกแขนงไปสู่เพลงลูกทุ่งและลูกกรุง ในลำดับถัดๆ มา
วัฒนธรรมการฟังและการบรรเลงเพลงสากล
ช่วง ร็อกแอนด์โรลล์ ที่วัยรุ่นไทย คลั่งไคล้ดนตรีตะวันตกอย่างสุดขั้ว กระแสเพลงจากตะวันตกถูกนำเข้ามาเผยแพร่ผ่านทหารต่างชาติ และส่งต่อมายังวัฒธรรมการฟังเพลงของคนไทยกลุ่มหนึ่งอย่างมาก ทั้ง The Beatles, The Shadow, Elvis Presley วงยุคนั้น มักเรียกติดปากว่าวง ชาโดว์ มากจากวงสนันสนุนของ Cliff Richard ที่ชื่อเดียวกัน โดยมีเครื่องดนตรีสี่ชิ้น คือ กีตาร์โซโล่ กีตาร์คอร์ด กีตาร์เบส และกลอง
ต่อเนื่องมาเฟื่องฟูในช่วงที่อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองไทย (2512) ทหารอเมริกัน มีส่วนสำคัญในการส่งต่ออิทธิพลในการฟังเพลง การเล่นดนตรี และแน่นอนรวมไปถึงแฟชั่นอื่นๆ ตามมาอีกมากมายนับไม่ถ้วน
วงดนตรีในแบบชาโดว์ (สตริงคอมโบ) ในยุคนั้นจะเล่นเพลงสากลที่กำลังได้รับความนิยมตามยุคสมัย เฟื่องฟู วงดนตรีในแบบสตริงคอมโบ ในช่วงนั้นคือ วง จอยท์ รีแอ็กชั่น (Joint Reaction) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ดิอิมพอสซิเบิ้ล (The Impossible), วง ซิลเวอร์แซนด์ (Silver Sand), วง รอยัลไสปรท์ส (Royal Sprites) และอีกหลายวง ที่เล่นเพลงสากลเป็นส่วนใหญ่
ประเทศไทยมีการจัดประกวดวงดนตรีในแบบ สตริงคอมโบ โดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย โจท์ของการประกวดคือ ให้เล่นเพลงสากลเป็นเพลงบังคับ 1 เพลง และเพลงพระราชนิพนธ์ 1 เพลง ผลคือ วง ดิอิมพอสซิเบิ้ล (The Impossible) คว้าแชมป์ สามสมัยติดต่อกัน
ผลพวงจากการประกวดวงดนตรีในแบบสตริงคอมโบนี้เองทำให้เกิดวงดนตรีประเภทนี้เกิดขึ้นอีกมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นวง พีเอ็ม 5, วงแกรนด์เอ็กซ์, วงแฟนตาซี ที่เล่นเพลงสากลตามสถานบันเทิงกลางคืน ทั้งไนต์คลับ ร้านอาหาร ต่างๆ โดยเฉพาะบนถนน เพชรบุรี ตัดใหม่
ในขณะเดียกันวง ดิอิมพอสซิเบิ้ล (The Impossible) แชมป์จากการแข่งขันก็เริ่มทำเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เป็นดนตรีสากลเนื้อไทย ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน จากการที่ผู้กำกับภาพยนตร์ (เปี๊ยก โปสเตอร์) กำกับภาพยนตร์เรื่อง “โทน” เป็นผู้ชักชวนให้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพลงไทยสากลจึงได้รับความนิยมอีกครั้ง ไปพร้อมๆ กับการที่วงดนตรีอาชีพเล่นเพลงสากลตามสานบันเทิงต่างไปด้วย
เพลงไทยสากล แม้ใน ยุคแรกส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากเพลงไทยเดิม หรือแม้แต่เพลงพื้นบ้าน โดยในช่วงแรกๆ นั้นเพลงจะมีทำนองสั้นๆ ท่อนหรือสองท่อน แต่เปลี่ยนคำร้องในแต่ละท่อนให้แตกต่างกันออกไป บางเพลงอาจมาจากกลอน แล้วใส่ดนตรีตามไป เป็นอันเสร็จพิธี
หลังจากดนตรีตะวันตกได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตามทฤษฎีดนตรีสากล โดยมีการแบ่งท่อนเพลง ตั้งแต่อินโทร ไปจนจบเพลง ลักษณะรูปแบบเพลงจึงต่างไปตามลักษณะของโน๊ต และท่อนต่างๆ ของเพลงในแบบสากล
จากจุดเริ่มต้นที่เล่นเพลงสากลแบบที่เรียกว่าแกะแผ่น การเล่นของเครื่องดนตรีทุกๆ ชิ้นต้องเล่นเป๊ะเหมือนแผ่น การเล่นดนตรีหรือการร้อง ยิ่งทำเหมือนต้นฉบับได้มากเท่าไหร่ ก็จะได้รับคำชื่นชมมากเท่านั้น ถือเป็นการเริ่มต้นยุคเท่านั้น แต่หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ยุคพัฒนาเนื้อร้องที่เป็นภาษาไทย แต่บรรเลงในแบบดนตรีสากล
นี่เป็นเพียงการรวบรวมเพื่อปูทาง เกริ่นนำ และพัฒนาการทางดนตรีสากลในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่จะทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันมองเห็น พัฒนาการดนตรีสากลในประเทศไทย มองภาพที่ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงโลกของการฟังเพลง และการเล่นดนตรีในบ้านเราว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
หวังว่าคงจะทำให้การฟังเพลงของผู้คนในยุคปัจจุบัน ได้มองย้อนไปสู่จุดเริ่มต้น เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของเพลง ไปพร้อมๆ กัน ให้เข้าใจโลก และเข้าใจเพลงไปพร้อมๆ กัน ครั้งหน้า มาติดตามการเปลี่ยนแปลงกันต่อนะครับ
.......................................
(หมายเหตุ 'โลกเปลี่ยนเพลง เพลงเปลี่ยนโลก' : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ)