
ปิดตำนานวง'รวมดาวกระจาย'อาลัย'ครูสำเนียง ม่วงทอง'
31 มี.ค. 2557
ปิดตำนานวง'รวมดาวกระจาย' อาลัย 'ครูสำเนียง ม่วงทอง' : ลูกทุ่ง
ข่าวเศร้าต่อเนื่องในวงการเพลงลูกทุ่ง เมื่อครูสำเนียง ม่วงทอง ครูเพลงลูกทุ่งผู้แต่งเพลงดังๆ มาตั้งแต่ยุคก่อน พ.ศ. 2500 เสียชีวิตลงด้วยวัย 88 ปี ที่บ้านพัก ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เมื่อช่วงตีสามของวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ครูสำเนียง ม่วงทอง ครูเพลงรุ่นเก่าที่มีคุณูปการต่อวงการเพลงป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุล้มลงในห้องน้ำ และเมื่อวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2556 ได้มีการจัดคอนเสิร์ต "ช่วยเหลือครูเพลงสำเนียง ม่วงทอง" ที่เวทีพระประแดงอาเขต จ.สมุทรปราการ เพื่อหาเงินช่วยเยียวยารักษาครู โดยมีศิลปินนักร้องมาร่วมงานกันมากมาย และครูก็ได้เดินทางมาร่วมงานด้วย นั่นคือ ภาพสุดท้ายที่คนในวงการได้พบกับครูสำเนียง
ด้านประวัติส่วนตัว ครูสำเนียง ม่วงทอง เกิดเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ.2469 ที่ ต.เขาพระ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เป็นลูกคนโต ในจำนวนพี่น้อง 7 คน พ่อแม่มีอาชีพทำนา ครูจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนในตัว จ.สุพรรณบุรี
ครูสำเนียงเริ่มฝึกแต่งเพลงมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เมื่อเรียนจบจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาประสบการณ์ พออายุย่างเข้า 21 ปี ในปี พ.ศ. 2490 ครบเกณฑ์ทหาร ต้องไปเป็นทหาร 2 ปี โดยสังกัดอยู่กองทัพเรือ หน่วยต้นสังกัดส่งไปประจำอยู่เรือทุ่นระเบิด ในระหว่างเป็นทหารก็หาเวลาว่างแต่งเพลงเอาไว้มากมาย พอปลดเกณฑ์ก็เช่าบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างถาวร และนำเอาเพลงที่แต่งไว้ออกเสนอขายให้แก่ห้างแผ่นเสียงต่างๆ ที่ “เวิ้งนาครเขษม” แถวย่านสะพานเหล็ก ซึ่งถือเป็นจุดนัดพบกันระหว่างนักแต่งเพลง นักร้อง กับนายห้างแผ่นเสียง แรกๆ ไม่มีใครสนใจเพลงของครู แต่ต่อมาก็เริ่มขายได้
ปี พ.ศ.2496 ครูสุรพล สมบัติเจริญ คนจังหวัดเดียวกันเข้ามาเป็นทหาร สังกัดวงดุริยางค์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งครูสุรพลเป็นทั้งนักร้องและนักแต่งเพลงด้วย และครูสุรพลก็ต้องการที่จะนำเพลงที่ตัวเองแต่งออกขายบ้าง จึงมีโอกาสได้เจอกับครูสำเนียง โดยครูสำเนียงคอยช่วยหาแหล่งขายเพลงให้ ช่วยกันไปช่วยกันมาจนกลายเป็นเพื่อนรักกัน ต่อมามีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง คือ ก. แก้วประเสริฐ จนกลายเป็น 3 สหาย คอยให้คำปรึกษาช่วยเหลือกัน
เพลงของครูสำเนียง ม่วงทอง ที่ห้างแผ่นเสียงและนักร้องซื้อและนำไปบันทึกแผ่นเสียง ยุคแรก (ก่อน พ.ศ.2500 และหลัง พ.ศ.2500 เล็กน้อย) และได้รับความนิยมมีมากมาย อาทิ “จรกาแพ้รัก” ร้องโดย โกมินทร์ นิลวงศ์ “มีคู่เสียเถิด” ร้องโดย คำรณ สัมปุณณานนท์ “รักเพียงใจ” “ไม้งามขวานบิ่น” ร้องโดย สมยศ ทัศนพันธ์ “สายน้ำไม่ไหลกลับ” “เขาจากไปเหมือนสายน้ำ” ร้องโดย วงจันทร์ ไพโรจน์ “ส.ค.ส.รักสลักใจ” “รักฉันนิดเดียวก็พอ” ร้องโดย สุวารี เอี่ยมไอ “ลืมไม่ลง” ร้องโดย สุรพล สมบัติเจริญ “แจ่มจริงแม่คุณ” ร้องโดย ชาย เมืองสิงห์ “ผ้าป่าสามัคคี” ร้องโดย ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย “ปีใหม่แล้วแก้วตา” “น้ำใจพ่อตา” ร้องโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ ฯลฯ เพลงยุคหลังๆ ที่ได้รับความนิยม อาทิ “แอบรักแอบมอง" ร้องโดย สายัณห์ สัญญา “แอบรักแอบคิดถึง" ร้องโดย แวว มยุรา (ละอองเพชร แสงพราว นักร้องในวงขับร้องไว้เป็นฉบับแรก) ซึ่งมีนักร้องนำมาขับร้องใหม่หลายคน โดยลิขสิทธิ์เพลงของครูนั้น ได้มอบให้แก่บริษัทอาร์เอ็มเอสสตูดิโอแอนด์มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์เพลง เมื่อปี 2555
หลังจากครูสุรพลได้ตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเองได้ไม่นานนัก ครูสำเนียง ก็ตั้งวงบ้างเช่นกัน โดยจับมือกับ พีระ ตรีบุปผา และ ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย ใช้ชื่อวงว่า “รวมดาวกระจาย” ตั้งสำนักงานวงดนตรีอยู่ที่ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นวงดนตรีลูกทุ่งวงเดียวในยุคนั้นที่หัวหน้าวงไม่ได้เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง
ภายหลังเมื่อครูพีระกับยงยุทธ ถอนตัวออกไป ครูสำเนียงจึงเป็นหัวหน้าวงเพียงคนเดียว โดยมีนักร้องสังกัดวงกว่า 60 ชีวิต ทั้งนักร้องที่เคยดังมาก่อนและนักร้องใหม่ อาทิ ผ่องศรี วรนุช, ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ชลธี ธารทอง, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ศักดิ์ โกศล, ศรีวรรณ เดือนสว่าง, โกมินทร์ นิลวงศ์, ประจักษ์ โล่ศิริ, ศรีสละ ทองธารา, นคร มงคลายน, อาเนี๊ยว ททท. (ทองหล่อ คงสุข), นวลละออง รุ้งเพชร, อรวรรณ วงษ์รักษา, ละอองเพชร แสงพราว, เด่น บุรีรัมย์, แดน บุรีรัมย์, วิโรจน์ เพชรเมืองกาญจน, เด่น ดอกประดู่ ฯลฯ นอกจากนี้ สายัณห์ สัญญา ก่อนที่จะมีชื่อเสียง ก็เคยสังกัดอยู่กับวงรวมดาวกระจายด้วยเช่นกัน
วงดนตรี “รวมดาวกระจาย” ถือว่าเป็นวงดนตรีวงใหญ่ระดับแนวหน้าอีกวงหนึ่ง ไปแสดงที่ไหนคนก็อยากดู และยังเป็นหนึ่งใน 4 คณะที่ประชันกันที่วัดสนามไชย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2509 ซึ่งมีวงสุรพล สมบัติเจริญ วงสมานมิตร เกิดกำแพง วงเทียนชัย สมยาประเสริฐ และวงรวมดาวกระจาย
เมื่อถึงจุดอิ่มตัวครูสำเนียงจึงยุบวง หลังจากนั้นก็หันไปทำบริการหนังเร่อยู่ทางภาคเหนือร่วมกับภรรยา ใช้ชื่อว่า “สุดาวรรณภาพยนตร์” ตั้งสำนักงานอยู่ที่ จ.อุตรดิตถ์ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำออกฉายคือ “เสาร์ 5” ของวินิจ ภักดีวิจิตร ครูสำเนียงมีบุตร 2 คน ชื่อ สุรพล กับ อภิชัย ม่วงทอง
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา ครูสำเนียงสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงแต่ก็มักเดินทางด้วยรถไฟเข้ามากรุงเทพฯ เป็นประจำ ก่อนจะล้มในห้องน้ำ ทำให้ในช่วงกลางปีถึงปลายปีที่ผ่านมา ไม่สามารถเดินเองได้ อาการป่วยของท่านเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ จนเสียชีวิตในที่สุด
สำหรับการสวดพระอภิธรรมศพครูสำเนียง ม่วงทอง ได้สวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 28-30 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่วัดคลองโพธิ์ ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ และจะฌาปนกิจในวันนี้ (จันทร์ 31 มี.ค.) เวลา 16.00 น.