บันเทิง

โครงการพระดำริองค์ภา-คณะมรดกใหม่ร่วมฟื้นฟูศักยภาพผู้ต้องขัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โครงการพระดำริองค์ภา และคณะมรดกใหม่ ร่วมฟื้นฟูศักยภาพ "ผู้ต้องขังหญิง" ด้วย "ละครเวที" : คอลัมน์ เปิดม่านมายา โดย.. by [email protected]

 
 
          เป็นระยะเวลากว่าสิบปี ที่คณะละครมรดกใหม่ นำโดย "ครูช่าง" ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ได้พัฒนาละครไทยให้เป็นละครเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพความเป็นมนุษย์ โดยอ้างอิงเชื่อมโยงกับหลักศาสนา พัฒนาเด็กๆ ในนาม “บ้านเรียนมรดกใหม่” จนได้รับการยอมรับจากเวทีระดับนานาชาติ ได้ร่วมงานและได้รับเชิญจากเทศกาลละครนานาชาติมาแล้วทั้งยุโรปและอเมริกา 
 
          ขณะเดียวกันโครงการ “กำลังใจ” อันเป็นโครงการในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เล็งเห็นถึงการเข้าใจตลอดถึงการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่จะใช้ละครเป็นเครื่องขัดเกลา จึงได้ร่วมมือกับคณะละครมรดกใหม่ ในการจัดกิจกรรมเพื่อบำบัดเยียวยาและฟื้นฟูศักยภาพผู้ต้องขังหญิง
 
          คงต้องเท้าความกันสักนิด สืบเนื่องจากปลายปี 2556 โครงการกำลังใจฯ ได้เล็งเห็นศักยภาพและความสำคัญ จึงได้ประสานการร่วมมือจากคณะละครมรดกใหม่ และเรือนจำหญิงราชบุรีและลำพูน ขอให้นำรูปแบบการฝึกฝนละครแบบมรดกใหม่เข้าไปบำบัดเยียวยาและพัฒนาฟื้นฟูศักยภาพผู้ต้องขังหญิง ทั้งทักษะ ฟัง พูด คิด อ่าน เขียน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมและศาสนา จนกระทั่งเกิดเป็นหน่วยชมรมหนึ่งในเรือนจำมีสมาชิก 15-20 คน ทุกคนล้วนเคยตกอยู่ในสภาพไร้กำลังใจ คือมีโทษไม่ต่ำกว่า 7 ปี ต้องโทษทั้งคดียาเสพติดและฆาตกรรม ให้อยู่ร่วมฝึกฝน และมีรูปแบบการจัดการแบบคณะละคร มีการสร้างละครจากชีวิตจริงของตัวผู้ต้องขังเอง ซึ่งถือเป็นละครที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงความหนักหน่วงของชีวิตที่ถูกซ่อนไว้ไม่เคยเปิดเผย เช่น ทิ้งลูก ฆ่าสามี หนีจากสามีไปหาชายชู้ เป็นต้น 
 
          "พระองค์ภา ทรงเห็นและกรุยทางทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ว่าจะผิดพลาดหรือไม่ มนุษย์ก็ควรได้รับการดูแลเยี่ยงมนุษย์ด้วยกัน จากเมื่อก่อนเราดูผู้ต้องขังไม่เหมือนคนทั่วไป ซึ่งจริงๆ เราต้องให้เกียรติเท่าเทียมกันทุกคน" ครูช่าง บอกเล่าความรู้สึก  
 
          คณะละครมรดกใหม่จึงได้ให้กลุ่มผู้ต้องขังร่วมแสดงละครที่นำต้นเรื่องมาจากวรรณกรรมคุณภาพ เช่น จากเรื่องสั้น “คนบนสะพาน” ของไพฑูรย์ ธัญญา เรื่องสั้น “มีดประจำตัว” ของชาติ กอบจิตติ เรื่องสั้น “ผ้าทอลายหางกระรอก” ของจำลอง ฝั่งชลจิตร เรื่องสั้น “โลกใบเล็กของซัลมาน” ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้นำวรรณคดีและนิทานชาดกอีกหลายเรื่อง เช่นเรื่อง “มะเมี้ยะ” โดยเรือนจำลำพูน, “ปฏาจราเถรี” โดยเรือนจำราชบุรี เป็นต้น ซึ่งในกระบวนการที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากผู้ชมทั้งในและนอกเรือนจำเป็นอย่างดี กระทั่งมีการเรียกร้องให้ขอเล่นซ้ำอยู่หลายรอบ
 
          "ละครมาบำบัดในเรือนจำไม่ใช่เรื่องใหม่ ยุโรป อเมริกาก็ทำ แต่เมื่อเราเริ่มแล้วทางกรมราชฑัณก็ตื่นตัว คือละครบำบัดให้เขามีจุดยืนในสังคม ให้เขาคิดว่าชีวิตมีค่า เห็นปมปัญหา ให้เขารู้สึกว่าวันพรุ่งนี้มีความหมาย โดยเพิ่มความคิดเห็นว่าศิลปะ ไม่เกี่ยงว่าจะติดคุกหรือไม่ หากว่ามีหิริโอปตัปปะ แต่ถึงแม้เราจะกระบวนการในการจัดการแล้ว แต่กระบวนการทางสังคมภายนอกอาจยังไม่ยอมรับทั้งหมด เราก็ต้องให้เขามั่นใจในการประกอบอาชีพต่อไป ให้เขามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น" ครูช่างให้ความเห็น
 
          และเพื่อเป็นการสืบสานกิจกรรมสร้างสรรค์ในลักษณะนี้ คณะละครมรดกใหม่และโครงการกำลังใจ จึงได้จัดเวที นำเสนอกระบวนการร่วม การสรุปองค์ความรู้ และผลสำเร็จ โดยได้จัดในรูปแบบสัมมนาเชิงวิพากษ์วิจารณ์ควบคู่กับการชมละครขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม ที่เรือนจำหญิง จังหวัดลำพูน และวันที่ 20 มีนาคม ที่เรือนจำหญิง จังหวัดราชบุรี  
 
          "ละครเวที" ที่รุกเข้าเรือนจำ นอกจากมอบความบันเทิงแล้ว ยังช่วยขัดเกลาและสร้างทักษะการใช้ชีวิตของผู้ต้องขังได้อย่างแยบยลทีเดียว   
 
.......................................
(หมายเหตุ โครงการพระดำริองค์ภา และคณะมรดกใหม่ ร่วมฟื้นฟูศักยภาพ "ผู้ต้องขังหญิง" ด้วย "ละครเวที" : คอลัมน์ เปิดม่านมายา โดย.. by [email protected] )
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ