บันเทิง

เป็นคุ้งเป็นแคว:'มหกรรมคอนเสิร์ตลูกทุ่ง'

เป็นคุ้งเป็นแคว:'มหกรรมคอนเสิร์ตลูกทุ่ง'

06 ก.พ. 2557

'มหกรรมคอนเสิร์ตลูกทุ่ง' : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... แคน สองแคว

 
 
 
 
          ถ้าจะเอ่ยถึงมหกรรมคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ระดับที่เรียกกันว่า วู้ดสต็อค ลูกทุ่งเมืองไทย เราต้องนึกถึง “มหกรรมลูกทุ่งไทย” ที่ราบ 11 (ลานอเนกประสงค์  กรมทหารราบ 11  รักษาพระองค์  บางเขน กรุงเทพฯ) ซึ่งคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีคนแรก คือ เสี่ยแหบ วิทยา ศุภพรโอภาส  อดีตผู้บริหารคลื่นวิทยุลูกทุ่งเอฟเอ็มนั่นเอง  
                      
          งานในลักษณะนี้เสี่ยแหบได้จัดมาครั้งแรกที่ท้องสนามหลวงในปี 2540 ยิ่งใหญ่จนคนกล่าวขวัญถึงกลายเป็นตำนานที่ต้องบันทึกไว้  มีการถ่ายทอดโทรทัศน์ฟรีทีวีด้วย จึงทำให้นักร้องหลายคนนอนอยู่กับบ้านไม่ไหว ต้องบึ่งรถมาขอขึ้นเวทีด้วย ไม่งั้นตกขบวนรถลูกทุ่ง รู้ไปถึงไหนอายไปถึงนั่น
            
          มหกรรมคอนเสิร์ตลูกทุ่งแบบเที่ยงวันยันเที่ยงคืนครั้งต่อๆ มา  ถูกย้ายมาจัดที่กองพันทหารราบที่ 11 บางเขน ซึ่งมีลานขนาดใหญ่ ติดถนนพหลโยธิน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จงานยิ่งใหญ่คนหลั่งไหลกันมาดั่งสายน้ำ นักร้องทุกค่ายพร้อมใจกันมาขึ้นเวที แบบที่หาดูที่ไหนไม่ได้ โดยเสี่ยแหบใช้คำขวัญของงานว่า “หลับตานึกถึงใคร (นักร้อง) ก็ได้เห็นคนนั้นบนเวที”
            
          หลายครั้งของการจัดงาน เราจะได้รู้จักกับนักร้องรุ่นใหม่ๆ นักร้องเพิ่งเกิดในวงการจนถึงวันนี้กลายเป็นระดับลูกทุ่งแถวหน้า บางปีนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์มาประชันกัน งานถ้าไม่มีบารมีพอ ไม่สามรถจัดทำได้ โดยมีหมกรรมครั้งที่น่าจดจำและกล่าวขวัญถึง คือ ปีที่เจ้าชายลูกทุ่งก๊อท จักรพันธ์ ประชันกับขุนพลเพลงใต้ เอกชัย ศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่ฮือฮาที่สุด และยังมีอาภาพร นครสวรรค์ ที่เป็นเจ้าแม่งานโชว์ในยุคนั้น นำชุดอลังการงานสร้างแบบจัดเต็มมาโชว์ประชันกัน
            
          เสน่ห์ของงานมหกรรมเพลงลูกทุ่งฯของเสี่ยแหบวิทยา คือ จะเน้นการขับร้องและบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสดๆ  หลังเวทีมีเครื่องถ่ายเอกสาร ถ่ายโน้ตเพลงเป็นล่ำเป็นสัน นักร้องจะต้องมีโน้ตเพลงมาซักซ้อมกันก่อน ซึ่งทำให้เป็นคอนเสิร์ตที่ดูและฟังแล้วน่าประทับใจยิ่งนัก
            
          แต่ปีหลังๆ เริ่มมีการใช้ดนตรีแบบแบ็กกิ้งแทรกผสมมาบ้าง เนื่องจากแนวเพลงที่เปลี่ยนไป หรือบางค่ายไม่ไว้ใจนักดนตรีว่าจะบรรเลงเพลงของเขาได้เหมือนต้นฉบับ จุดนี้เป็นเรื่องที่ค้างคาใจกันมาก เหมือนเป็นการดูถูกเหยียดหยามกันเลยทีเดียว
             
          ค่ายเพลงเองคงไม่รู้หรอกว่า เสน่ห์ของการแสดงสดบนเวที ต้องมีสีสันที่แตกต่างจากเพลงที่เปิดจากแผ่นบ้าง หรือในบางอารมณ์คนดนตรีกับนักร้องอาจจะมีอารมณ์ที่ต้องเล่นกันสดๆ ที่เรียกกันว่า อิมโพรไวส์ กันบนเวที ถ้าจะเล่นให้เหมือนแผ่นเป๊ะเลย คนดูบางคนบอกว่า เปิดแผ่นฟังที่บ้านดีกว่า ค่ายเพลงเองบางครั้งห่วงการขายของเกินไป ทำให้ลืมนึกถึงเสน่ห์ของการแสดงสดไป
            
          นักร้องใหม่ๆ บางคนก็ขี้ขลาด ตาขาว กลัวดนตรีสดๆ ประเภทร้องกับแผ่นแบ็กกิ้งแทร็กจนเคยตัว เจอการบรรเลงสดๆ ถึงกับเข้าท่อนไม่ถูกก็มี จริงๆ แล้วนักร้องที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ต้องกล้าและสามารถร้องกับดนตรีสดๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวงแบนด์ใหญ่ๆ กีตาร์ตัวเดียว หรือเครื่องประกอบจังหวะไม่กี่ชิ้น เขาสามารถร้องร่วมได้ ถ้ามีความกล้า เราจะได้ฟังเพลงที่เป็นเวอร์ชั่นหรือต้นฉบับใหม่ๆ น่าประทับใจ น่าจดจำ  
             
          ในเวลาต่อมา สนามราบ 11 จึงกลายเป็นสถานที่ที่คนลูกทุ่งใช้เป็นที่จัดงานใหญ่ๆ กันทุกปี คลื่นวิทยุต่างๆ จับจองพื้นที่กันล่วงหน้า ทั้งสถานีวิทยุ  ค่ายเพลงก็จัดได้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน แต่บางงานก็ไม่ประสบความสำเร็จด้วยการวางแผนงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ
             
            ผมชอบแวะเวียนไปสังเกตการณ์ดูงานเหล่านี้ ทั้งด้านหน้าและหลังเวที พบว่า ปัญหาของมหกรรมลูกทุ่งเกือบทุกครั้งที่พบเห็นมา คือ ในบางงานไม่มีการซักซ้อมก่อนการแสดง มาถึงก็ส่งแผ่นซีดี แบ็กกิงแทร็ก (ปัจจุบันนักร้องบางคนบันทึกดนตรีในมือถือหรือคอมพิวเตอร์พกพามาเสียบกับสายแจ็กเครื่องมิกเซอร์ ) แล้วก็ร้องๆ กันไป ขาดชีวิตชีวา ไร้มิติ ไม่สมกับเครื่องเสียงที่เขาจ้างกันมาแพงๆ บางงานนักดนตรีนั่งอ้าปากหาวอยู่หลังนักร้อง เพราะถูกบังคับให้นั่งเป็นไม้ประดับ เวลาถ่ายทำโทรทัศน์ ภาพจะได้สวยงามเหมือนเล่นสด (คงคิดว่า คนดูโง่ละสิ)
            
          อันที่จริง ผู้จัดงานก็เข้าใจค่ายเพลงในเรื่องของการลงทุนในเรื่องวงแบคอัพหรือนักดนตรีที่ต้องขนกันมา (ในกรณีที่ผู้จัดงาน ไม่มีนักดนตรีเตรียมไว้) แต่ทางออกก็ยังมี โดยการบันทึกแบ็กกิงแทร็กแบบไม่เต็มไลน์ หมายถึงว่า อาจจะไม่ต้องใส่เครื่องเป่าหรือเครื่องสายบางอย่างลงไป แล้วมาเล่นทับพร้อมๆ กัน ก็จะได้อารมณ์กึ่งเล่นสด กึ่งแบ็กกิงแทร็กพอที่จะทดแทนกันได้ ดีกว่าเสียงแห้งๆ แบนๆ ไม่มีรสชาติ
              
          ปัญหาของมหกรรมเพลงลูกทุ่งอีกประการที่สำคัญคือ คิวของนักร้องมักจะปั่นป่วนกันหลังเวที ประเภทมาถึงเวทีสายแต่ขอแทรกขึ้นเวทีก่อน (เพราะฉันดังกว่า) หรือประเภทมาเป็นแพ็ก เวลากลับต้องขึ้นรถตู้คันเดียวกลับ ดังนั้นต้องขึ้นเวทีแบบขอยกทั้งค่ายเลย เพลงก็ออกมาลีลาเหมือนๆ กัน จนไม่รู้ว่าเปลี่ยนคนร้องไปแล้ว
            
          ตั้งแต่ดูงานมหกรรมลูกทุ่งมากครั้งที่สุด แทบจะไม่เคยเห็นเวทีไหนตรงเวลาเลย มักปล่อยให้นักร้องหัวหงอกต้องมานั่งรอ ปล่อยให้หัวดำขึ้นคิวแซงไป ยิ่งถ้าเวทีไหนมีถ่ายทอดออกโทรทัศน์ พวกรู้งาน เอาเปรียบคนอื่นจะแทร็กคิวในช่วงถ่ายทอด ปล่อยให้คนมาก่อนนั่งรอ ผู้จัดงานก็เป็นใจ เอาใจคนดังเกินไป ไม่ให้เกียรติคนมาก่อน  
            
          นักร้องหรือพิธีกรเองบางคนรู้ว่า หลังเวที มีนักร้องรออยู่เป็นเข่ง (ศัพท์คำนี้ ดูเหมือนว่า จะมาจากมหกรรมลูกทุ่งไทย เพราะนักร้องมากันมากมายทุกปี จนมีคนกล่าวว่า กองเหมือนผักปลาในเข่ง ฟังดูขำดีแต่ขมขื่น) ก็ขึ้นเวทีเพ้อพร่ำพรรณา มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก พูดจาวกวน หารู้ไม่ว่า ในอารมณ์นี้ คนดูเขาอยากดูนักร้องคนต่อไป ไม่ใช่อยากฟังคนบ้าน้ำลายบนเวที
            
           ล่าสุดงานใหญ่ระดับมหกรรม ที่จัด ณ ราบ 11 คือ มหกรรมคนลูกทุ่งแห่งปี ไฮลักซ์ วีโก้แชมป์ สบายดีทีวี ลูกทุ่งเฟสติวัล ที่ค่ายอาร์สยาม จัดขึ้นเป็นปี 3  โดยสองปีแรกจัดที่แดนเนรมิต เก่า ถนนพหลโยธิน ชมฟรี แถมมีรถแจก คือ แจกรถกระบะไฮลักซ์ วีโก้แชมป์ ซึ่งได้รับขับกลับบ้านกันไปจริงๆ จัดว่าเป็นงานคนลูกทุ่งที่มีของแจกแฟนเพลงแพงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
            
          บรรยากาศของงาน ไม่ใช่แค่มีเวทีแสดงที่ยิ่งใหญ่อลังการเท่านั้น ยังมีขบวนคานิวัลจากวงโยธวาทิต และขบวนแดนเซอร์พร้อมกองทัพนักร้องอาร์สยาม ยกทั้งค่ายกว่าร้อยคน แบ่งเป็นแนวเพลงแต่ละวันไม่ซ้ำกัน  แถมยังมีบูธประกวดร้องเพลงหาดาวรุ่งและบูธที่บรรดานักร้องมาขายสินค้าหรือจัดกิจกรรมใกล้ชิดกับแฟนเพลงด้วย
            
          นับว่าเป็นงานมหกรรมคนลูกทุ่งที่เป็นต้นแบบที่สมบูรณ์ที่สุดของการจัดงานแนวนี้ ซึ่งใครที่พลาดไปได้ไปดู ทางอาร์สยามเขามีดีวีดี บันทึกการแสดงสดออกมาขายแล้ว เอาไว้ดูเหมือนได้ไปงานและเก็บไว้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์
             
          และล่าสุดหมาดๆ เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.) นักดนตรียอดฝีมือ สวัสดิ์ สารคาม ได้จัดมหกรรมคอนเสิร์ต ที่มหาสารคาม  ชื่องานว่า “สุดยอดงานอภิมหา มหกรรมคอนเสิร์ทการกุศล ตุ้มโฮมรวมพล ศิลปินรากหญ้า” เพื่อหาทุนสร้างพระอุโบสถ 2 หลัง วัดบ้านจาน วัดบ้านโนนสำราญ จัดกันที่สนามโรงเรียนบ้านวังจาน ต.นาข่า อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ตั้งแต่บ่าย 3 ยันเที่ยงคืน โดยมี อ.สลา คุณวุฒิ  กุ้ง-บ่าวข้าวเหนียว สาวบ้านเชียง และโต พิสิฐ อาร์สยาม ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อวงการลูกทุ่งอีสานรุ่นใหม่มาร่วมแรงร่วมใจกัน
            
          มหกรรมชื่อยาวเหมือนขบวนรถไฟความเร็วสูงนี้ จึงมีนักร้องทั้งค่ายแกรมมี่โกลด์  อาร์สยาม ท็อปไลน์  ชัวร์เอนเตอร์เทนเมนท์ ฯลฯ รวมพลกันอย่างยิ่งใหญ่ทราบมาว่า ปีหน้าและปีต่อๆ ไปจะจัดกันอีก ซึ่งทราบมาว่า เริ่มแรกขุนพลดนตรีแห่งที่ราบสูง อ.สวัสดิ์ สารคาม จะจัดงานแบบไม่รบกวนใครๆ มากจนเกินไป แต่พอข่าวออกไปแล้วพี่ๆน้องๆ ศิลปินและสื่อมวลชนทุกๆ แขนงร่วมมือร่วมใจกันดีมาก ทำให้ชาวบ้านสองตำบลยินดีและตื่นเต้นมาก  ซึ่งในอนาคต คาดว่า งานนี้ จะกลายเป็นงานดนตรีวู้ดสต็อคของนักร้องที่ราบสูงที่ใหญ่ที่สุด
            
          ทิ้งท้ายฝากไว้สำหรับทุกๆ มหกรรมคอนเสิร์ตลูกทุ่งทุกๆ งานที่จะมีต่อไปว่า อย่าลืมให้โอกาสกับศิลปินรุ่นครูบาอาจารย์กันบ้าง เพราะหลายคนยังร้องเพลงดีและสุขภาพแข็งแรง ท่านอยากมาขึ้นเวทีมาพบประแฟนเพลงและนักร้องรุ่นลูกหลานบ้าง อย่างน้อยก็แก้เหงาและย้ำเตือนว่า ท่านเหล่านี้ยังร้องเพลงทำมาหากินอยู่ บางคนก็เคอะเขินที่จะไปขอขึ้นเวทีกับเด็กๆ รุ่นใหม่
            
           อย่าปล่อยให้เวทีมหกรรมคอนเสิร์ตกลายเป็นเวทีฝากอัลบั้มชุดใหม่ของนักร้องแต่เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นกันหมดแล้ว มหกรรมลูกทุ่งก็จะขาดเสน่ห์และมนต์ขลังไป
 
.......................................
(หมายเหตุ 'มหกรรมคอนเสิร์ตลูกทุ่ง' : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... แคน สองแคว)