
เอกเขนกดูหนัง:'Her'
31 ม.ค. 2557
'Her' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
พล็อตเรื่องอาจฟังดูประหลาดล้ำแต่ถ้ามองจากองค์ประกอบโดยรวมแล้วหนังเดินไปในทางโรแมนติกจ๋า ตั้งแต่ฉาก เสื้อผ้า ที่แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยสีพาสเทสหวานแหวว งานกำกับภาพที่ให้แสงเงานุ่มนวลดูแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น โถมทับด้วยดนตรีประกอบที่ทั้งจังหวะ ท่วงทำนองและทุกสรรพเสียง ให้ทั้งความสดใส หวานหยด และล่องลอยคล้ายตกอยู่ในภวังค์ (เสียงดนตรีสังเคราะห์ในหลายๆ ฉากในหนังก็ให้สำเนียงประหลาดล้ำของโลกอนาคต ในเวลาเดียวกัน)
Her เป็นงานที่ดูจะ "เพี้ยน" น้อยที่สุดในบรรดาหนังทั้งหมดของผู้กำกับ สไปค์ จอนซ์ นับจาก Being John Malkovich กับการพาคนดูเข้าไปในหัวนักแสดงเจ้าบทบาท, Adaptation (เรื่องวุ่นของคนเขียนบทที่แยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง) จากนั้น "จอนซ์" หายหน้าหายตาไปร่วม 7 ปีและกลับมาอีกครั้งกับ Where the Wild Things Are หนังเด็กที่แสนหม่นเศร้า กับการผจญภัยอันโดดเดี่ยวของเด็กน้อยขี้เหงา ก่อนจะมาถึงงานที่เข้าถึงง่ายที่สุดของเขาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าพล็อตของ Her จะฟังดูเพี้ยนๆ เมื่อพูดถึงไอ้หนุ่มขี้เหงาตกหลุมรักระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นในรูปแบบของหญิงสาวชื่อ "ซาแมนธา" ผ่านการสนทนาสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ไฮเทคขนาดเล็กจิ๋ว
แม้หนังจะไม่ได้บ่งบอกยุคสมัยอย่างแน่ชัด แต่ภาพการออกแบบงานสร้างก็ทำให้รู้เป็นนัยว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในโลกอนาคตอันใกล้ เนื่องจากงานโปรดักชั่นดีไซน์ไม่ได้ล้ำสมัยจนหลุดโลกมากนัก โดยเฉพาะอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดกะทัดรัด และเหลือเพียงน้อยชิ้น ตลอดจนการใช้งานที่สะดวกสบายเพียงแค่สั่งและทำงานด้วยการใช้เสียงเท่านั้น
โลกอนาคตใน Her แทบจะไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบัน "จอนซ์" พยายามแสดงภาพให้เห็นว่า นับจากนี้มนุษย์ล้วนหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง และมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพต่อกันน้อยลง ทุกวันนี้หากสังเกตตามสถานที่สาธารณะ เรามักเห็นผู้คนก้มหน้าก้มตาง่วนอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือไม่ก็แท็บเล็ต ไม่เงยหน้ามาสบตาพูดคุยแม้จะมาด้วยกันก็ตาม
ใน Her เองเช่นกัน ทุกคน ทุกตัวละคร ต่างมีลักษณะดังกล่าว ตั้งแต่พนักงานในบริษัทที่ "ธีโอดอร์" ทำงานอยู่ แม้โต๊ะทำงานแต่ละไม่มีพาร์ทิชั่นกั้น แต่ก็แทบไม่มีเพื่อนร่วมงานคนใดสนทนากัน พวกเขาเอาแต่จ้องหน้าจอ และพ่นคำสั่งด้วยเสียงไปยังคอมพิวเตอร์โดยไม่มีใครสนใจใคร หรือในขณะที่ตัวละครกลับบ้าน เดินผ่านผู้คนในสถานีรถไฟใต้ดิน ล้วนพบว่าทุกคนต่างพูดกับตัวเองผ่านเครื่องพิวเตอร์พกพาทั้งสิ้น
เมื่อผู้คนต่างหมกมุ่นกับตนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงห่างเหิน "ธีโอดอร์" เลิกรากับภรรยาและพยายามสานสัมพันธ์กับสาวคนใหม่ โดยมีเพื่อนรักคู่สามีภรรยา เอมีและชาร์ลส์ลุ้นเอาใจช่วย วันหนึ่ง "โอดอร์" ติดตั้งระบบปฏิบัติการหรือโอเอส (Operating System) เวอร์ชั่นใหม่ในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ ซึ่งน้ำเสียงผู้ช่วยคนใหม่ของเขาเป็นหญิงสาวนามว่า "ซาแมนธา"
เมื่อความสัมพันธ์กับสาวคนใหม่ไปได้ไม่สวย การพูดคุยกับ "ซาแมนธา" ถูกคอกันมากกว่า "ธีโอดอร์" จึงตกหลุมรักเธออย่างจัง กลายเป็นความรักระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ที่ลึกซึ้งเกินมนุษย์ด้วยกัน และไม่ใช่แค่คู่ของ "ธีโอดอร์" และ "แคทเธอรีน" จะมีปัญหาจนต้องร้างลากันไป คู่ของเพื่อนรักเอมีและชาร์ลส์ ก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน ซึ่งก็ทำให้ทั้งธีโอดอร์และเอมีต่างก็เข้าใจในความสัมพันธ์ของคนและโอเอสหรือปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงพอล เพื่อนร่วมงานคนสนิทของเขา ที่มีแฟนสาวเป็นทนายความ
สไปค์ จอนซ์ สร้างโลกในหนังของเขา ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คนหลายชนชาติ แน่นอนว่า มันสร้างความแปลกแยกให้ตัวละคร ที่ทำให้ธีโอดอร์ต้องเปลี่ยวเหงามากขึ้น เพราะไม่เพียงผิวขาว ผิวสี หากแต่เราได้เห็นชาวผิวเหลืองชาติเอเชีย เดินพลุกพล่านปะปนอยู่เต็มไปหมด (แม้หนังจะถ่ายทำในลอสแองเจลิส เป็นส่วนใหญ่ แต่จอนซ์ก็บินไปถ่ายทำในเซี่ยงไฮ้ถึงสองสัปดาห์เต็ม) และโดยเฉพาะงานโปรดักชั่นดีไซน์ที่ออกแบบทุกอย่างในหนังได้อย่างเก๋ไก๋ ตั้งแต่ฉากห้องทำงาน ห้องนอนของธีโอดอร์ ที่ตกแต่งด้วยโทนสีพาสเทลสวยหวานให้ความรู้สึกอบอุ่น รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละครก็เป็นไปในโทนเดียวกัน องค์ประกอบฉากถูกจัดวางอย่างเรียบง่าย ไม่รกรุงรัง การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการจำลองคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปขนาดจิ๋วคล้ายสมุดบันทึก ผ่านหูฟังไร้สายแบบโมโนโฟน เพื่อให้ผู้ชมโฟกัสไปที่ตัวละคร รู้สึกร่วมไปกับพวกเขามากว่าจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจด้วยอุปกรณ์ประกอบฉากไฮเทคทั้งหลาย (โปรดักชั่นดีไซน์ของหนังคือเคเค บาร์เร็ต ที่ร่วมงานในหนังของจอนซ์มาแล้วทุกเรื่อง แถมยังเคยออกแบบงานสร้างใน Lost in Translation และ Marie Antoinette ของโซเฟีย คอปโปล่า อดีตภรรยาของจอนซ์ นั่นเอง) รวมงานกำกับภาพของ ฮอยต์ แวน ฮอยต์มา ผู้กำกับฝีมือดีชาวสวิสที่เคยร่วมงานในหนังดังอย่าง The Fighter ของ ผกก.เดวิด โอ รัสเซล ตอนนี้เขากำลังมือขึ้น ได้รับหน้าที่สำคัญนี้ในหนังของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ในหนังดังเรื่อง Interstella ที่จะเข้าฉายในอีกไม่กีเดือนข้างหน้านี้ด้วย และที่สำคัญดนตรีประกอบหนังที่ทั้งฟังแล้วสดใส โรแมนติกและเหงาเศร้าเคว้งคว้าง จากการประพันธ์ของโอเวน พาร์เล็ตต์ และวงร็อกฝีมือเยี่ยมจากแคนาดา Arcade Fire
แต่สิ่งที่ทำให้ Her สมบูรณ์ที่สุดก็คือการแสดงของวาคิม ฟีนิกซ์ และการให้เสียงพากษ์ของสการ์เล็ต โจแฮนสัน ที่ผสานรวมกับองค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดที่กล่าวมากลายเป็นหนังรักสุดล้ำประหลาดโลก ที่น่าสนใจรื่องหนึ่งเวลานี้
.......................................
(หมายเหตุ 'Her' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม )