บันเทิง

หนังโรงเล็ก:'all is lost หนึ่งในทัพ individual's film'

หนังโรงเล็ก:'all is lost หนึ่งในทัพ individual's film'

31 ม.ค. 2557

'all is lost หนึ่งในทัพ individual's film' : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก

 
 
 
 
          ถ้าเป็น 2 ปีที่แล้ว ใครบางคนคงตอบว่า life of pi และถ้าเป็นสัก 14 ปีที่ผ่านมา ใครหลายคนอาจบอกว่าเป็น cast away.... แต่ถ้าเป็นสัปดาห์หน้า คำตอบน่าจะเป็น all is lost ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด ซึ่งเจนจัดกับการทำหนังของคาแรกเตอร์ ที่ต้องต่อสู้กับอะไรบางอย่างในใจ
 
          อันที่จริง เรดฟอร์ด ไม่ได้มีลักษณะของ "คนนอก" เพราะการมี "ตาสีฟ้า" นั้นเข้าสเปกของอเมริกันนิยม เหมือนผมสีบลอนด์ของมาริลีน มอนโร อะไรแบบนั้น แต่ถึงมีตาสีฟ้า มีลักษณะของผู้ดี ทว่านักแสดงอายุอานามเลยแซยิดไปเกือบรอบแล้วคนนี้ ก็ยังเก่งในการรับเลือก และเล่นเรื่องที่น่าสนใจ และครั้งนี้ all is lost ก็คือ 1 ใน 7 ที่ time บอกว่าเป็น individual's film ที่ไม่ควรพลาด
 
          individual's film เรื่องนี้นำเสนอชีวิตของชายผู้หนึ่งที่ต้องต่อสู้กับสภาพดินฟ้าอากาศ หลังจากที่เรือใบของเขาได้รับความเสียหายกลางทะเล ระหว่างการเดินทางตามลำพังในมหาสมุทรอินเดีย เขาตื่นขึ้นมาและได้พบว่าเรือยอชท์ 39 ฟุตของเขาได้ล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทร หลังจากประสบอุบัติเหตุชนกับตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยความที่อุปกรณ์นำทางและวิทยุสื่อสารใช้การไม่ได้ เขาก็เลยแล่นเรือเข้าไปในเส้นทางพายุที่โหมกระหน่ำอย่างไม่รู้ตัว แม้ว่าเขาจะสามารถซ่อมแซมลำเรือที่มีรูรั่วและตัวเขาจะมีสัญชาตญาณแบบนักเดินเรือและพละกำลังที่เกินอายุก็ตาม แต่เขาก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอดจากพายุครั้งนั้น
 
          เขาใช้เพียงเครื่องวัดมุมและแผนที่เดินเรือในการคำนวณการเดินทางของเขา และเขาก็จำเป็นต้องอาศัยกระแสน้ำในมหาสมุทรพัดเขาล่องลอยเข้าสู่เส้นทางขนส่งสินค้า ด้วยความหวังที่จะได้อาศัยเรือที่ผ่านมา แต่ด้วยแสงแดดที่แผดเผา ปลาฉลามที่ว่ายเวียนวนและเสบียงที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ไม่นานนัก นักเดินเรือผู้มีความสามารถรอบด้านผู้นี้ก็เริ่มตระหนักถึงความตายที่รอเขาอยู่ตรงหน้า
 
          ผู้กำกับ เจ.ซี. แชนเดอร์ รู้ดีว่าเขาต้องการจะสร้างทริลเลอร์เกี่ยวกับมหาสมุทรกว้างใหญ่มานานก่อนที่ margin call ผลงานการกำกับและเขียนบทเรื่องแรกของเขา จะได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมเสียอีก แต่เขาต้องใช้เวลาเกือบหกปีกว่าจะเริ่มต้นไอเดียดั้งเดิมที่น่าตื่นตะลึงสำหรับ all is lost การผจญภัยทางทะเลสุดระทึก ที่เกิดขึ้นในทะเลทั้งหมด และมีตัวเอกเป็นตัวละครไร้ชื่อ และเกือบจะไร้บทพูด
 
          “มันเป็นเรื่องราวที่เรียบง่ายมากๆ เกี่ยวกับชายชราที่ออกไปแล่นเรือประมาณสี่หรือห้าเดือน” แชนเดอร์กล่าว “แล้วโชคชะตาก็เล่นตลก เรือนั้นเกิดอุบัติเหตุและเราก็ได้ร่วมผจญภัยนานแปดวันกับเขาในระหว่างที่เขาสู้เพื่อเอาชีวิตรอด”
 
          บทภาพยนตร์ของแชนเดอร์ไม่เหมือนกับบทภาพยนตร์ตามปกติซักเท่าไหร่ แทนที่จะยาว 120 หน้าตามมาตรฐาน มันกลับหนาเพียงแค่ประมาณ 30 หน้า และก็เต็มไปด้วยการบรรยาย โดยปราศจากบทพูด จริงๆ แล้ว ในตอนที่นีล ด็อดสัน ผู้อำนวยการสร้างจาก margin call ได้รับปึกกระดาษที่บางเฉียบนี้ เขาถามแชนเดอร์ด้วยซ้ำไปว่าเมื่อไหร่ที่เขาจะได้รับบทที่เหลือ
 
          “ตอนที่เจ.ซี.บอกว่านั่นเป็นบททั้งหมดแล้ว ผมก็ทั้งกลัวและตื่นเต้น” ด็อดสันเล่า “หนังเรื่องแรกที่เราได้ร่วมมือกันเต็มไปด้วยบทพูด และแน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทพูด ผมยอมรับว่าความคิดแรกของผมก็คือ "ผมไม่รู้ว่าจะหาทุนให้กับหนังเรื่องนี้ได้ยังไง" เพราะมันค่อนข้างจะท้าทายและบ้าบิ่นน่ะ”
 
          แอนนา เกิร์บ (margin call) เพื่อนผู้อำนวยการสร้างของเขา เล่าว่า เธอได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ระหว่างที่แชนเดอร์อยู่ด้วย และเธอก็อึ้งกับสัญชาตญาณในเรื่อง 
 
          “ฉันอ่านบทหนังเรื่องนี้ มองไปที่เจ.ซี.แล้วก็บอกว่า ‘ว้าว ฉันเมาคลื่นแล้วล่ะ’ เธอเล่า “ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ฉันชอบการมีอำนาจควบคุม การอยู่กลางมหาสมุทรบนเรือใบ และอยู่ในสถานการณ์ที่ฉันต้องหวังให้โชคชะตาปรานีเป็นเรื่องที่ฉันจินตนาการไม่ได้เลย” ในทางกลับกัน แชนเดอร์คุ้นเคยกับโลกของเรือใบเป็นอย่างดี
 
          “แม้ว่าผมจะไม่เคยแล่นเรือข้ามมหาสมุทรตามลำพัง แต่ผมก็โตมากับการแล่นเรือ” เขากล่าว “ผมก็เลยรู้พื้นฐานของสิ่งที่ผมทำงานด้วยอยู่บ้าง” แชนเดอร์กล่าวว่า ความเรียบง่ายของเรื่องราว และความท้าทายในการถ่ายทำ ทำให้เขาสนใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เรื่องราวนี้มีกลิ่นอายแบบนิยายเรื่อง the old man and the sea ของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และอย่างที่ด็อดสันอธิบายว่า “มันเป็นหนังแอ็กชั่นเกี่ยวกับการดำรงอยู่ ของชายคนหนึ่งที่หลงทางกลางทะเล และต้องต่อสู้กับดินฟ้าอากาศและตัวเอง”
 
          ย่างก้าวสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ในการเดินหน้าจากหน้ากระดาษสู่จอเงินคือการคัดเลือกโรเบิร์ต เรดฟอร์ด (the sting) นักแสดงเจ้าของสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ด นักแสดง ผู้กำกับและผู้ก่อตั้งสถาบันซันแดนซ์คนดังได้พบและประทับใจในตัวแชนเดอร์ในตอนที่ margin call เปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปี 2011
 
          “ผมชอบเจ.ซี. แชนเดอร์ครับ” เรดฟอร์ดเล่า “สำหรับผม เขาเป็นตัวแทนของคนประเภทที่เราอยากสนับสนุน เขามีวิสัยทัศน์ เขาเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่แห่งอนาคตและเขาก็บอกเล่าเรื่องราวของเขาในแบบที่พิเศษสุดมากๆ” ในตอนที่แชนเดอร์บอกด็อดสันว่าเขาอยากจะเลือกเรดฟอร์ดมารับบทตัวละครเพียงหนึ่งเดียวของเรื่อง ที่ถูกเรียกเพียงแค่ว่า “ตัวเอกของเรา” ในบท ผู้อำนวยการสร้างก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องยาก 
 
          “ผมบอกว่า ‘ฟังนะ เขาจะพูดหนึ่งในสองอย่างนี้แน่ๆ ตอนที่เขาได้รับบท 30 หน้าเรื่องนี้” ด็อดสันเล่า “ถ้าเขาไม่บอกว่า ‘แน่นอน มันฟังดูน่าทึ่งมาก’ หรือเขาจะบอกว่า ‘ทำไมผมต้องทำแบบนั้นด้วยล่ะ ผมไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว ทำไมผมต้องไปทรมานแบบนั้นด้วย’ และก็เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเราที่เขาตอบตกลง” ในส่วนของเขา เรดฟอร์ดสนใจความแปลกใหม่ของโปรเจกท์นี้ ซึ่งเขาพูดถึงว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายที่ “เดินทางแบบสุดๆ และทรมานแบบสุดๆ”
 
          “ผมชื่นชอบบทหนังเรื่องนี้เพราะมันแตกต่าง” เรดฟอร์ดกล่าว “มันบ้าบิ่น แปลกประหลาด และไม่มีบทพูด ผมรู้สึกว่าเจ.ซี. จะยึดมั่นกับวิสัยทัศน์นั้น แม้ว่ามันจะไม่ถูกอธิบายออกมาทั้งหมดก็ตาม แต่ผมก็เชื่อว่าเขารู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ และเขาก็มีภาพในหัวอยู่แล้ว ผมรู้ว่าผมจะสนับสนุนวิสัยทัศน์นั้นแม้ว่าจะไม่รู้ทุกอย่างก็ตาม และนั่นก็เป็นเรื่องดีและน่าสนใจสำหรับผม”
 
          บางที สิ่งที่น่าแปลกใจคือการที่เรดฟอร์ดกล่าวว่าเขาไม่ได้รับคำเชิญให้นำแสดงในภาพยนตร์จากผู้กำกับอินดีที่เขาสนับสนุนมากนัก และจริงๆ แล้ว มันก็ตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป
 
          “มันน่าขันตรงที่ว่า หลังจากที่ผมเริ่มก่อตั้งซันแดนซ์และเริ่มเทศกาลหนังซันแดนซ์ขึ้นมา ผู้กำกับที่ผมสนับสนุนไม่เคยจ้างผมเลย” เขากล่าว ก่อนจะกล่าวเสริมอย่างติดตลกว่า “พวกเขาไม่เคยเสนอบทให้ผมเลย จนกระทั่งเจ.ซี.นี่แหละ”
 
          ระยะหลังๆ หนังในกลุ่ม individual's film ดูท่าจะมาแรง เพราะออกฉายครั้งใด ต้องมีคำชื่นชมเสมอ ตั้งแต่ cast away มาถึง life of pi และเพิ่งจะผ่านไปกับ captain phillip
 
          หวังว่า all is lost จะเป็นอีกหนึ่งความสนุกทางความคิดด้วย
 
.......................................
(หมายเหตุ 'all is lost หนึ่งในทัพ individual's film' : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก)