
'blue is the warmest color'
'blue is the warmest color' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ก่อนลงมือเขียนคอลัมน์ฉบับนี้ ผมพยายามค้นหาความหมายของสีฟ้าและสีน้ำเงิน ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้ต่างก็ให้ความหมายว่าเป็นสีแห่งความสงบ สันติ สว่างไสว สุขุม เยือกเย็น และความมีอิสระเสรี แต่ไม่ว่าสีฟ้าหรือน้ำเงินจะมีความหมายอย่างไรก็ตาม แต่ทุกครั้งที่สีฟ้าหรือน้ำเงินปรากฏอยู่ในหนัง “blue is the warmest color” ล้วนแสดงความนัยที่เปลี่ยนไปตามบริบทซึ่งห้อมล้อมเรื่องราวในหนังตามแต่ละห้วงเวลาที่ขับเคลื่อนไปเสมอ
สีฟ้าแรกที่ปรากฏเริ่มตั้งแต่กางเกงยีนที่อะเดลสวมใส่วิ่งไล่ตามรถประจำทางในวันที่ไปโรงเรียนสาย ความมีอิสระในชีวิตเริ่มจากเธอแค่เรียนหนังสือโดยไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบใดใด (พ่อแม่เธอไม่เคยเคี่ยวเข็ญกับลูกด้วยซ้ำว่าต้องเรียนเก่งๆ หรือเจ้ากี้เจ้าการกำหนดอนาคตลูกแต่อย่างใด) ในชั้นเรียนเธออ่านวรรณกรรม ‘the life of marianne’ ที่เนื้อหาว่าด้วยการตั้งคำถามต่อเจตจำนงเสรีของชีวิตหรือว่ามันอาจถูกลิขิตเอาไว้แล้ว และในวันที่เธอประหน้าค่าตาเอมม่า ทอมบอยสาวผู้ย้อมผมสีฟ้าบนถนน ความรักอันสว่างไสวก็ถูกจุดขึ้นในใจอะเดลเป็นครั้งแรก จากนั้นไม่ว่าจะสีฟ้าหรือน้ำเงินปรากฏขึ้นมาครั้งใด มันล้วนเป็นการถักทอความหมายในชีวิตของอะเดลและเอมม่า ที่ทั้งงามงดหมดจด หดหู่และหม่นเศร้า สลับเรื่อยไปในตลอดทั้งเรื่อง
blue is the warmest color ไม่ใช่แค่หนังรักของสาวเลสเบี้ยนที่ทั้งจมจ่อมอยู่ในห้วงเวลาเปี่ยมสุข บ้างก็ทนทุกข์เพราะความไม่เข้าใจ หรือบ้างก็ลังเลสับสน เพราะในบางเวลา หนังก็พาเราเข้าไปป้วนเปี้ยนกับการเมือง (มีหลายฉากทีเดียว ที่หนังแสดงให้เห็นบรรยากาศทางการเมืองในฝรั่งเศสที่คนหนุ่มสาวออกมาประท้วงเรียกร้องความชอบธรรมในการบริหารประเทศของรัฐบาลบนท้องถนน) บางครั้งก็พาไปทำความรู้จักกับ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ นักปรัชญาคนสำคัญของฝรั่งเศสเจ้าของทฤษฎี existentialism ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแนวคิดสำคัญในหนังด้วย แน่นอนว่าอีกหนึ่งความหมายของสีน้ำเงินในหนังก็คือการเป็นหนึ่งในสีบนธงชาติฝรั่งเศสนั่นเอง เท่านั้นยังไม่พอ ทุกสิ่งอย่างในหนังยังข้องเกี่ยวกับงานศิลปะ ตั้งแต่สถานภาพนักศึกษาด้านวิจิตรศิลป์ของเอมม่า คนรักของอะเดล หรือ ‘ปิกัสโซ่’ จิตรกรเอกของโลกเพียงคนเดียวที่อะเดลรู้จัก (ผลงานช่วงแรกในชีวิตศิลปินของเขาเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1901-04 เรียกว่ายุค blue period ของปิกัสโซ่ ที่มักวาดภาพโดยสีน้ำเงิน เขียว ฟ้า เป็นหลัก หรือกระทั่งภาพเขียนของปิกัสโซ่ “nude, green, leaves and bust ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ก็ยังมีนัยของความรักต้องห้ามและแรงดึงดูดทางเพศ เหมือนคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังด้วยเช่นกัน)
อีกด้านหนึ่ง แม้หนังจะเป็นที่พูดถึงฮือฮาอย่างมากในเรื่องของฉากเลิฟซีนอันร้อนแรงความยาวร่วม 10 นาที จนหนังติดเรต nc-17 หรือเรต x ในหลายๆ ประเทศ (ฉ.20 ในบ้านเรา) ที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าชมโดยเด็ดขาด แต่หากมองในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของชาวรักร่วมเพศ หรือบริบททางสังคม การเมือง ที่คนทำจงใจใส่เข้ามาอย่างมีนัย ก็ทำให้ blue is the warmest color ก้าวพ้นจากหนังอีโรติกข้ามไปสู่หนังอาร์ตที่เต็มไปด้วยแง่มุมและรสนิยมทางศิลปะไปได้อย่างสวยสดงดงาม
สิ่งที่เห็นได้ชัดนอกเหนือไปจากความหมายของสีฟ้า-น้ำเงินตามหลักของศิลปะการใช้สีทั่วไป ความรักและเรื่องราวที่เกิดขึ้นรายรอบ อะเดลและเอมม่าใน blue is the warmest color ยังสามารถนำไปเทียบเคียงกับความเป็นชาติฝรั่งเศส ผ่านสีธงชาติ น้ำเงิน-ขาว-แดง คือ เสรีภาพ, เสมอภาค และภราดรภาพ รสนิยมทางเพศที่อะเดล และเอมม่า แสดงออกต่อกัน ล้วนคือเสรีภาพในการแสดงออกทางความรัก (แม้เธอจะหวั่นไหวต่อความรู้สึกของผู้คนรอบข้างในสังคมอยู่บ้าง) ความเสมอภาคของแต่ละชีวิตที่หนังพยายามบอกเราอยู่ในทีผ่านปูมหลังตัวละครอะเดลและเอมม่า ซึ่งเธอทั้งคู่จากมาและอยู่ร่วมในสังคมที่ดูเหมือนจะเป็นคนละชนชั้น แต่ความตั้งใจที่คนทำหนังบอกเราตั้งแต่แรกก็คือฉากที่อะเดล อธิบายถึงความหมายของชื่อเธอแก่เอมม่าให้ฟังว่าชื่อ ‘อะเดล’ หมายถึง ‘ความยุติธรรม’ ก็น่าจะไขประเด็นดังกล่าวให้กระจ่างแจ้ง หรือแม้แต่ความสัมพันธ์แวดล้อมตัวละครทั้งเอมม่า และอะเดล ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนผู้พิสมัยงานศิลปะเหมือนๆ กัน ทั้งที่เพิ่งรู้จัก และคบหากันยาวนาน ต่างก็เป็นปิยะมิตรที่รักใคร่กลมเกลียวประหนึ่งพี่น้อง แม้ต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ (มีหลายตัวละครเพื่อนสนิทของทั้งอะเดลและเอมม่าที่เป็นคนผิวสี) ล้วนสื่อถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ไม่นับรวมตัวละครเพื่อนชายของทั้งอะเดล และเอมม่า ที่หลายคนเป็นเกย์)
blue is the warmest color ไปไกลกว่าแค่สถานะหนังรักของชาวรักร่วมเพศ หากแต่ขยายความกินพื้นที่ไปถึงเรื่องของรัฐชาติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลยทีเดียว
.......................................
(หมายเหตุ 'blue is the warmest color' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม )