
'เคชิช'ผู้ชายที่ทำหนังเลสเบี้ยน
บันเทิงต่างประเทศ : 'เคชิช' ผู้ชายที่ทำหนังเลสเบี้ยน กับข่าวฉาวที่มีคำตอบ
อับเดลลาทิฟ เคชิช เป็นผู้กำกับเชื้อสายตูนิเซีย สัญชาติฝรั่งเศส ที่นักวิจารณ์และคนดูหนังต่างชื่นชมในฝีมือ แต่ผลงานชิ้นล่าสุดของเขา blue is the warmest color ที่คว้ารางวัลปาล์มทองจากเมืองคานส์ กลับมีแต่ข่าวอื้อฉาวทั้งเรื่องเนื้อหาของหนัง และข่าวคราวเรื่องตบตีกับนักแสดงหญิง หลากหลายคำถาม ที่เคชิชพร้อมที่จะตอบอย่างหมดเปลือกอีกครั้ง พร้อมทั้งการันตีว่าอยากให้ทุกคนไปพิสูจน์หนังเรื่องนี้ด้วยสายตาตัวเอง ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์
@ หลังจากหนังเรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศปาล์มทองจากเมืองคานส์ คุณก็ตกเป็นข่าวอื้อฉาวมาโดยตลอด ตกลงแล้วเรื่องมันเป็นอย่างไร
ผมขอแก้ความผิดพลาดก่อน ที่ผมบอกกับสื่อไปว่า ไม่อยากให้หนังเรื่องนี้ออกฉายนั้น เป็นสิ่งที่ผมพูดด้วยอารมณ์และขาดการไตร่ตรอง ในสภาวะที่มีหลายอย่างรุมเร้ามาก และผมพูดด้วยภาษาฝรั่งเศส แต่คนไปแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยน้ำเสียงที่ดุดันเกินจริง ผมขอสรุปสั้นๆ อีกครั้ง ว่าไม่เป็นความจริงเลย ผมอยากให้หนังเรื่องนี้ออกฉาย และผมอยากให้ทุกคนได้ดูมัน
@ แล้วปัญหาระหว่างคุณและสองนักแสดงนำล่ะ คุณไม่ญาติดีกับพวกเธอแล้วใช่ไหม
สำหรับ อเดล เอ็กซาร์โคปูโลส ผมโทรไปเคลียร์กับเธอแล้ว เธอบอกว่าเธอพูดไปตามความรู้สึก และอะไรหลายอย่างเมื่อถอดออกมาเป็นภาษาเขียนแล้ว น้ำเสียงมันดูรุนแรงเกินกว่าความตั้งใจของเธอ แต่กับ เลอา เซย์ดูซ์ อย่างที่ทุกคนทราบกันว่า ตอนที่เราไปเมืองคานส์ด้วยกัน เธอค่อนข้างแสดงออก ว่าเธอพึงพอใจกับการทำงานครั้งนี้มาก แต่หลังจากนั้น เธอกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผมคิดว่าเนื่องจากเธอเป็นเซเลบริตี้ที่โด่งดังมากในฝรั่งเศส คงมีใครหลายคนพยายามจะปั่นหัวเธอว่า สิ่งที่เธอทำในหนังนั้นมันผิดและเธอควรออกมาตำหนิผม ซึ่งผมไม่รู้จะจัดการอย่างไรเหมือนกันก็คงต้องปล่อยไป
@ ส่วนเรื่องการทำงานที่สร้างความลำบากให้กับทีมงานและนักแสดงนั้น คุณจะแก้ตัวว่าอย่างไร
ผมคิดว่าทีมงานส่วนใหญ่ทราบดีอยู่แล้วว่าผมเป็นอย่างไร และผมก็พยายามทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่า วิธีการทำงานของผมเป็นแบบนี้ ซึ่งอาจทำให้ใครหลายคนไม่พอใจ
@ จูลี มาโรห์ เจ้าของนิยายภาพ blue is the warmest color ออกมากล่าวหาว่าคุณทำลายงานของเธอด้วยการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสำคัญๆ ในเรื่อง
ทุกคนที่อ่านนิยายภาพเรื่องนั้นจะทราบดีว่า ผมเปลี่ยนตอนจบของเรื่องเท่านั้น ผมอาจจะมองโลกด้วยความหวังมาเกินไปก็ได้ แต่ผมคิดว่า ไม่ว่าเราจะเจ็บปวดกับรักแรกของเรามากแค่ไหน แต่เราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ เราเจ็บปวดเพื่อที่เราจะได้เดินหน้าต่อไปกับชีวิต
@ อเดล เอ็กซาร์โคปูโลส เล่าว่ามีฉากหลายฉากที่ถ่ายทำไว้แล้ว แต่คุณกลับตัดออกไป เพราะมันดู "เล่าเรื่อง" มากเกินไป ตรงนี้มีข้อเท็จจริงแค่ไหน
มีอยู่ฉากหนึ่ง ที่ผมยกออกไปเลย คือฉากที่อเดล สารภาพกับพ่อและแม่ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน ถ้าหนังเรื่องนี้เป็นหนังว่าด้วย homosexual มันก็จะมีความสำคัญมาก แต่ผมถือว่าผมไม่ได้ทำหนังเลสเบี้ยนนะ ผมทำหนังรัก เพราะฉะนั้นการ come out ไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะต้องไปให้ความสำคัญ สิ่งที่ผมสนใจคือเรื่องของคนสองคนรักกัน โดยผมไม่สนใจหรอกว่าพวกเขาจะเป็นเพศไหน
@ นับตั้งแต่ขั้นตอนเขียนบทไปจนถึงหนังเสร็จสิ้น มีอะไรที่คุณเปลี่ยนแปลงระหว่างนั้นไหม
ตอนแรกผมตั้งใจ จะเล่าเรื่องความทะเยอทะยานในทางศิลปะของเอมม่ามากกว่านี้ และเรื่องความสัมพันธ์ของเอมม่าและตัวละครอื่นๆ แต่ลงท้ายผมคิดว่า สิ่งที่ผมสนใจจริงๆ คือตัวอเดล ผมสนใจการค้นพบอิสระของความเป็นตัวเองของเธอ ในฐานะที่เธอเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นแรงงาน
@ ในหนังมีฉากที่ยาวมากๆ อยู่ 3 ฉาก คือฉากร่วมรัก ฉากบอกเลิก และฉากในร้านกาแฟ คุณมีเกณฑ์อะไรในการกำหนด ว่าฉากเหล่านี้ควรยาวเท่าไหร่ อย่างไร
ผมไม่ได้ตั้งใจทำหนังเลสเบี้ยน ตั้งแต่ครั้งแรก ที่ผมหยิบเรื่องนี้มาทำแล้ว ประเด็นเรื่องเพศไม่ได้อยู่ในความสนใจของผมเลย ผมสนใจแค่เรื่องของคนสองคนที่รักกัน และความรักนั้นทำให้เขาปลีกตัวออกห่างจากทุกสิ่งรายรอบ ผมไม่มีเกณฑ์อะไรเลย มันก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกและความต้องการของผมล้วนๆ อีกประการก็คือ ผมปล่อยให้นักแสดงเล่นตามที่พวกเขารู้สึก เมื่อพวกเขากลายเป็นตัวละครตัวนั้น เขาอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เขาจะจัดการกับมันอย่างไร ผมปล่อยเวลาให้พวกเขาอย่างเต็มที่
หนังเรื่องนี้เข้าฉายเมืองไทยรับเทศกาลคริสมาส 25 ธันวาคมนี้ เฉพาะที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอแห่งเดียวเท่านั้น