บันเทิง

'ตอน ปี พ.ศ. 2556 วงการเพลงไทยตายหรือยัง'

'ตอน ปี พ.ศ. 2556 วงการเพลงไทยตายหรือยัง'

19 ธ.ค. 2556

'ตอน ปี พ.ศ. 2556 วงการเพลงไทยตายหรือยัง' : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ [email protected]




          ช่วงใกล้สิ้นปี เรามาลองทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการเพลงกันหน่อย เพื่อให้ได้นึกย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เป็นเวลา สามร้อยกว่าวันที่ได้ยิน ได้ฟัง ผ่านหู ผ่านตามา ในมุมมองของผม

          คนทำดนตรียังไม่ตาย แต่ล้มหายไปจากวงการเยอะขึ้น อย่างน่าใจหาย
          ทุกครั้งที่ข่าวคราวการเสียชีวิต เรามักจะใช้คำอาลัยว่า บัดนี้เราได้สูญเสียบุคคลคุณภาพในวงการเพลงอีกครั้ง แต่มาถึงปัจจุบัน เราค่อยๆ เสียบุคคลผู้มีฝีมือไปเรื่อยๆ อย่างเงียบๆ เพราะเขาเหล่านั้นหลายคน ไม่สามารถจะหล่อเลี้ยงชีวิตได้จากการทำงานดนตรีอย่างเต็มตัวอีกต่อไป ผู้คนดนตรีเหล่านั้นจึงค่อยๆ หายไปจากวงการเพลงโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว

          วงการเพลงเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่คนในวงการเพลงจำนวนมากยังเปลี่ยนไม่ทัน ยังไม่เห็นทางออกที่เป็นแสงสว่างได้ชัดเจน จะมีก็แต่เพียงบางคน บางวง หรือ บางคน ที่โผล่ และสามารถดำเนินชีวิตได้ดี ขณะที่อีกจำนวนมาก ยังหืดขึ้นคอ

          Reality Show เข้ามา Share บทบาท และ โอกาส ไปไม่น้อย แผ่นผี ที่เคยอาละวาด ดูเหมือนความดุร้ายของมันเริ่มจางหาย แท้ที่จริงความร้ายกาจ กลับเข้าไปสิงสถิตอยู่ใน Server แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของผลงาน หรือบริษัท ต้นสังกัดเข้าถึงยากมากขึ้น

          การผลิตงาน ตามแนวทางดนตรีของศิลปินแต่ละคนนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องชัดเจน หากจะร็อกก็ต้องร็อก หากจะดูอินดี้ ก็ต้องเซอร์ๆ หากจะป๊อปหล่อสวยก็ว่าไป หรือจะ บอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป ก็ต้องชัดเจน ในขณะที่การร่วมร้อง หรือการมีส่วนร่วมในเพลง ( Featuring ) ก็ยังสามารถสร้างความแปลกใหม่ให้ผลงานใด้ และหลายคนทำสำเร็จ

          การออกผลงาน เน้นการปล่อยผลงานเป็นเพลงๆ ไม่เน้นทำเป็นอัลบั้มอย่างที่เป็นมา ทั้งเรื่องต้นทุน เวลา และต้นทุนในด้านงบประมาณ ศิลปินที่มากขึ้น แต่ยอดขาย CD กลับแทบไม่เห็น หากไม่รวมฮิต หรือรวบรวมเพลงเก่าๆ มาขายกันอีกรอบ ก็แทบไม่เห็นอัลบั้มใหม่ๆ วางจำหน่ายอีกแล้ว

          การทำตลาด Promoter หรือ Creative ยังคงต้องทำงานหนักต่อไปที่จะหาช่องทางนำเพลงของศิลปินไปสู่วงกว้างให้มากที่สุด ในขณะที่เครื่องมือที่วัดผลไดชัดเจนคือ Sicial Media และ Online

          การหารายได้ Online Marketing เป็นกลยุทธ์หลักในการ Promote เพลง แน่นอน Youtube เป็นช่องการการ Promote ที่ใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุดในโลก ขณะที่ iTunes Store เป็น ร้านขายเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่จะมีสักกี่คนที่ซื้อจาก iTunes ด้วยเหตุผลต่างๆ มากมายที่ผมคงไม่ต้องอธิบาย

          การแสดงคอนเสิร์ต การรียูเนี่ยนของวงในอดีตยังเป็นสีสันที่น่าสนใจในวงการเพลง เริ่มตั้งแต่วงรวมกันเฉพาะกิจ The Palace ที่มีทั้ง นักดนตรีรุ่นเก๋าอย่าง “ต้น” วงศกร รัศมิทัต (วงแมคอินทอช) กลอง / นักร้องนำ “จี๊ด” สุนทร สุจริตฉันท์ (รอยัลสไปรท์ส) นักร้องนำ พีรสันติ จวบสมัย (ดิ อินโนเซ้นท์) เปียโน คีย์บอร์ด สายชล ระดมกิจ (ดิ อินโนเซ้นท์) กีตาร์ / นักร้องนำ “จืด” มนตรี กิตติกัลป์ (ฟอร์เอฟเวอร์) เบส “อ๊อด” รณชัย ถมยาปริวัฒน์ (วงคีรีบูน) นักร้องนำ “เต้ย” รณภพ อรรคราช (วงอินคา) กีตาร์ และ “จี๊ป” วสุ แสงสิงแก้ว (วงพลอย) นักร้องนำ มาจับมือกันฟอร์มวงดนตรีใหม่กลิ่นอายยุค 80 นาม เดอะ พาเลซ (the palace) กับคอนเสิร์ต “เดอะ พา
เลซ เลเจนด์ ออฟ เรโทร”วง พี โอ พี กลับมาพร้อมคอนเสิร์ตใหญ่ในรอบ 10 ปี พร้อมแขกรับเชิญพิเศษอีกมากมาย

          ขณะที่ มิวสิกเฟสติวัล ยังมีให้ชมตลอดทั้งปี ล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปเมื่อต้นเดือน คือ Big Mountain Music Festival มันใหญ่มาก ครั้งที่ 5 ที่รวมศิลปินเกือบทั้งประเทศไปอยู่ที่เดียวกันคือ โบนันซ่า เขาใหญ่ และที่ขนาดย่อมลงมาหน่อยคือ เทศกาลดนตรีฤดูหนาว ที่เขาค้อเพชรบูรณ์ และ So in Art So in Love ที่สวนผึ้งที่จัดเป็นประจำทุกปี ยังคงมีสเน่ห์ของบรรยากาศธรรมชาติ และอากาศเย็นสบายเป็นตัวกระตุ้นการจัดสินใจของผู้ชม ทำให้ยังคึกคักได้ในปีที่ผ่านมา
เพลงแห่งปี

          กลางปี ค่าย RS ก็เปิดอกนำมาก่อนด้วยเพลง -รักต้องเปิด (แน่นอก)- 3.2.1 Kamikaze Feat. ใบเตย เพลงนี้ท่าเต้นที่ถูกพูดถึงกันมาก ขณะที่ชื่อเพลงจริงๆ คนจำไม่ค่อยได้ พอๆ กับชื่อวงแต่มักจะติดปากคำว่าแน่นอก และจำได้ว่าใบเตย ร้องนั่นแหละ เป็นที่รู้กัน นำมานิดหน่อยใน Youtube ถึงวันนี้ก็ประมาณ 78 ล้านวิว
ส่วน ด้าน Grammy Gold ไม่มีคนฟังเพลงไทยคนไหน ไม่รู้จัก ขอใจแลกเบอร์โทร - หญิงลี ศรีจุมพล เฉพาะยอดวิวใน Youtube 72 ล้านวิว ตามมาติดๆ
กระบวนการอยู่รอด ของธุรกิจดนตรี เปลี่ยนไปสู่การทำธุรอื่นๆ ต่อยอดในสิ่งที่เป็นสินทรัพย์ ทั้งตัวเพลง ตัวศิลปิน ของบริษัทมากขึ้น เช่น การเข้าไปสู่ธุรกิจสื่อ ทั้ง ทีวีดาวเทียม การเป็นเจ้าของ แพลตฟอร์ม ขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ผลิตคอนเสิร์ต สร้างสรรค์โครงการระดับเล็กกลางใหญ่ ควบคู่ไปกับสื่อที่ตัวเองมีและหาสปอนเซอร์สนับสนุน

          แม้ว่าตัวเพลงเองจะไม่สามารถคาดหวังที่ยอดขาย CD หรือยอด Download เพลง เป็นกอบเป็นกำเช่นแต่ก่อน ไม่อาจคาดหวังรายได้โดยตรงเพื่อหล่อเลี้ยงทีมผลิตและทีมงานทั้งหมดก็ตาม แต่การสร้างงานที่ดี ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตงานทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพื่อจะสร้างรายได้ทางอ้อม เช่น งานคอนเสิร์ต งานจ้าง การเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า ค่าลิขสิทธิ์เพลง หากเพลงได้รับความนิยมขึ้นมา

          คงต้องติดตามกันต่อไปว่าวงการเพลงไทยของเราจะเดินไปในทิศทางใด ในฐานะคนฟังเพลง ให้กำลังใจเสมอ

          ชาตินี้ ยังไงก็ฟังเพลงทั่วไป ได้ไม่หมด
          ขอเลือกเพลงโปรด ฟังก่อนตาย ดีกว่า

.......................................
(หมายเหตุ 'ตอน ปี พ.ศ. 2556 วงการเพลงไทยตายหรือยัง' : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ [email protected] )