บันเทิง

ขุดลึกเพลงเขาพระวิหาร'ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้'

ขุดลึกเพลงเขาพระวิหาร'ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้'

15 พ.ย. 2556

ขุดลึกเพลงเขาพระวิหาร'ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้' : ลูกทุ่ง



          เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 หน้าลูกทุ่ง บันเทิง “คมชัดลึก” ได้เคยนำเสนอเรื่องการรวมเพลงลูกทุ่งเกี่ยวกับเขาพระวิหารได้จำนวนมากพอสมควร ได้แก่ เพลง "เขาพระวิหารเป็นของไทยไ และ "เขาพระวิหารแห่งความหลัง" ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ ซึ่งครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้แต่งให้ทั้งสองเพลง เพลง "เขาพระวิหาร" แต่งและร้องโดย สุรพล สมบัติเจริญ และเพลง “เขาพระวิหาร” ชื่อเหมือนกันแต่ต่างเนื้อร้องกับครูสุรพล ขับร้องโดย โกมินทร์ นิลวงศ์
    
          ส่วนเพลง "เขาพระวิหารที่รัก” ขับร้องโดยศิลปินแห่งชาติ ชาย เมืองสิงห์ ร้องคู่กับ ชัย อนุชิต แต่งโดย พล พรภักดี และเพลง "เขาพระวิหารต้องเป็นของไทย” ร้องโดย ก้าน แก้วสุพรรณ ที่แต่งร่วมกับครู ป.ชื่นประโยชน์
    
          นอกจากนี้ ยังมีเพลงตกสำรวจอีกหนึ่งเพลง ที่เพิ่งค้นพบ ซึ่งประพันธ์โดย ศิลปินแห่งชาติ พยงค์ มุกดา ผู้ล่วงลับ และขับร้องโดย ศิลปินแห่งชาติ ชัยชนะ บุญนะโชติ คือ เพลง “ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้” ซึ่งขอนำมามาบันทึกไว้เพื่อนคนรุ่นหลังจะได้ทราบว่า ศิลปินรุ่นครูบาอาจารย์นั้น สะท้อนความรักชาติ หวงแหนแผ่นดินไทยกันอย่างไร
    
          ครูชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวถึงบทเพลง “ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้” ที่ขับร้องไว้ตั้งแต่ปี 2505 หลังคำตัดสินศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารและบันทึกเสียงเป็นเพลงแรกด้วย ครูชัยชนะย้อนที่มาของเพลงนี้ให้ฟังว่า
    
          “เกี่ยวกับเขาพระวิหารที่เป็นของเรา เราไม่ให้ใคร เพลง “เขาพระวิหารแห่งความหลัง” คำรณ เขาร้องไว้ดังมากด้วย ตอนนั้นคนไทยเขารวบรวมเงินคนละบาทให้ทนายไปว่าความ แต่เราแพ้เขา เฉพาะปราสาท จริงๆ ประวัติศาสตร์เขามีอยู่ว่า ตอนนั้นไทยเราได้หลายเมืองมาเป็นอาณานิคม เจ้าชายสุริยะวรมันที่ 2 เขารบแพ้ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ท่านสร้างมา พอแพ้ไทยก็มอบปราสาทเขาพระวิหารให้ ยุคสมัยขอมโน่น เมื่อก่อนยังไม่มีเขมร”
    
          เมื่อถามถึงความดังของเพลง "ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้" ในยุคนั้นเป็นอย่างไรเพราะเหตุใดเพลงจึงไม่ค่อยมีคนรู้จักศิลปินแห่งชาติบอกว่า
          “ครูพยงค์เขาเขียนเพลงนี้ขึ้นมาแล้วก็เอามาขายให้เตียง โอศิริ ผู้จัดการฝ่ายแผ่นเสียงของบริษัทเตียง เขาชอบเสียงผมเลยให้คนไปตามมาบันทึกแผ่นเสียง เพลงนี้ไม่ค่อยดัง เพราะสมัยนั้นเปิดไม่ได้ ครู พยงค์ มุกดา เขามีเรื่องกับเจ้านายเขา เลยถูกสั่งไม่ให้เปิดๆ ได้แต่ที่วิทยุ พล.1 ที่เดียวเท่านั้น เขาไม่ได้ทำขาย ตอนนั้นเราไม่เข้าใจเรื่องแผ่นเสียง การขาย เราอัดเป็นเพลงแรก ผมอายุ 16 ปีเท่านั้น เขาให้ร้องก็ร้อง พอเพลงออกมา ผมก็มีคนรู้จักบ้าง แต่คนจะไม่ค่อยรู้จักเพลงเท่าไหร่“
    
          ผู้สื่อถามว่าศาลโลกอ่านคำตัดสินเมื่อ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รู้สึกอย่างไร ชัยชนะ บุญนะโชติ เจ้าของฉายา “คำรณน้อย” บอกว่า
          “อย่างที่ศาลโลกเขาตัดสินเมื่อไม่กี่วันดีแล้วต่างคนช่วยกันดูแล หาประโยชน์ร่วมกัน บ้านใกล้เรือนเคียงอย่าทะเลาะกัน มันจะหาผลประโยชน์กันอย่างเดียวเลย บ้านเมืองเรามันวุ่นวายเพราะคนเห็นแก่ตัว ทะเลาะกันอยู่ไม่กี่คน นักท่องเที่ยวเขาไม่มา ถ้าดูแลร่วมกันประชาชนสองประเทศเขาก็ไม่เดือดร้อน ตอนนี้บ้านเรามีเรื่องมากมาย ฝ่ายโน่นจะเอายังงี้ฝ่ายนั้นจะเอาอย่างโน้น ไม่ได้คิดถึงประเทศเลยว่าจะเป็นอย่างไร คนอื่นก็เดือดร้อนฝากหน่อย คิดถึงประเทศ ประชาชนกันให้มากๆกว่านี้กันหน่อย”
........................................

เพลง “ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้”
คำร้อง พยงค์ มุกดา
ขับร้อง ชัยชนะ บุญนะโชติ
“ประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้นใครจะคิด
แผ่นดินขวานทองเล่มนิด กลืนชีวิตคนไว้เท่าไหร่
ทั้งเนื้อทั้งเลือด หลั่งรินแผ่นดินเสียไป
บรรพบุรุษพร้อมพลีชีพไว้ คงนามไทยให้ยืนยั้งอยู่
แม้นใครอยากเห็นอดีตกาล
อยุธยายังเป็นพยาน เลือดไทยกล้าหาญโลกรู้
อีกบางระจันสู้กันแค่ตายทุกผู้
หากไม่ดี ไม่มีชาติอยู่ ให้โลกรู้ พิศนามชาติไทย
แผ่นดินของเรา ก่อนเก่านั้นเคยใหญ่หลวง
ถูกแย่งยื้อไปเซ่นสรวง เราแหนหวงป้องกันมิได้
ถอยลงร่อนเร่ เกือบตกทะเลสูญไป
มาเหลือเพียงแหลมทองป้องไว้ เราคนไทยได้รวมเชื้อเผ่า
ครั้นพอ รศ.ร้อยสิบสอง
เสียมราช และพระตะบองถูกปองแย่งไปให้เขา
เชือดไทยทั้งชาติ เพื่ออำนาจศาลปืนเศร้า
อีกจังหวัดเนื้อเลือดของเรา เชือดให้เขาตามความต้องการ
ปัจจุบันนี้ อาจมีผองมวลอมิตร
กล้ำเกินของเราสักนิด เอาชีวิตแลกมันทุกด้าน
ทุกคนยืนหยัดว่า อัฐิเขาพระวิหาร
เป็นของไทย แม้นใครต้องการ
ยอมวายปราณ หากใครขืนปล้น
แถมยังสี่จังหวัดนั้นว่าไง
ของของเราหรือของของใคร เพื่อนไทยลองคิดลองค้น
ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้หายหล่น
แผ่นดินไทยของไทยทุกคน จะไม่ยอมให้จนนิ้วเดียว”