
เอกเขนกดูหนัง:'บอดี้สแลม นั่งเล่น'
'บอดี้สแลม นั่งเล่น' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)
บ้านเราเคยมีหนังคอนเสิร์ตหรือไม่ โดยเฉพาะหนังไทย? หนังคอนเสิร์ต ไม่ใช่หนังเพลง ไม่ใช่หนังที่แค่บันทึกแสดงบนเวทีของศิลปิน แม้เนื้อหามากกว่าครึ่งอาจจะเป็นการบันทึกภาพการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินก็ตาม
“บอดี้สแลม นั่งเล่น” ให้อารมณ์และเปิดมุมมองการรับชมที่มากกว่าดีวีดีบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตบนเวทีของวง ‘บอดี้สแลม’ เพราะจังหวะการตัดต่อ องค์ประกอบภาพ และเรื่องราวนอกเวทีคอนเสิร์ต ตั้งแต่ห้องซ้อม ห้องพักศิลปินหลังเวที หรือกระทั่งระเบียงนอกอาคารเอ็กซ์ซิบิชั่นฮอลล์ 1 ในอิมแพค เมืองทองธานี ก็ล้วนมีเรื่องราว บรรยากาศ และห้วงเวลาที่ข้องเกี่ยวที่หลอมรวมให้“บอดี้สแลม นั่งเล่น” เป็นหนังคอนเสิร์ตที่น่าจดจำอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะหนังไทยด้วยกันแล้ว หนังคอนเสิร์ตมีปรากฏให้เห็นน้อยมาก
“บอดี้สแลม นั่งเล่น” เปิดเรื่องด้วยเสียงกีต้าร์โปร่ง ที่ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูนบอดี้สแลม” ตีคอร์ดในระหว่างการซาวนด์เช็กระบบเสียงบนเวทีในฮอลล์ที่ว่างปล่าวปราศจากผู้ชม เสียงกีตาร์โปร่งกังวาลไปทั่วฮอลล์ตูนสับคอร์ดกีตาร์ไปเรื่อยๆ ภาพตัดกลับมาอีกครั้งเห็นไฟสว่างทั่วฮอลล์ เสียงปรบมือโห่ร้องของผู้ชมดังลั่น ต้อนรับเพลง ‘ชีวิตเป็นของเรา’ ที่บอดี้สแลมเลือกเป็นเพลงเปิดคอนเสิร์ตของพวกเขาในครั้งนี้
ความพิเศษของคอนเสิร์ตครั้งนี้ บอดี้สแลม ไม่ได้นำเพลงของพวกเขามาเรียบเรียงและบรรเลงใหม่ในรูปแบบดนตรีอะคูสติก แต่ยังมีวงเครื่องสาย เครื่องเป่าเข้ามาผสมผสานสร้างมิติใหม่ๆ ให้กับเสียงเพลง แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ภาพที่บันทึกไว้ตลอดการแสดงคอนเสิร์ตนั้น ได้สร้างมุมมองใหม่ๆ ตลอดการรับชม ตั้งแต่รายละเอียดบนเวทีของนักดนตรีทุกคน ผู้ชมด้านล่างเวทีกับอิริยาบทมากมายทั้งต่อเสียงเพลงและตัวศิลปิน บรรยากาศในห้องพักหลังเวที ที่เราได้เห็นธรรมชาติและตัวตนของศิลปินแต่ละคน หรือแม้แต่การรวมตัวกันที่ห้องซ้อม ผสมรวมกับการตัดต่อที่อาจจะไม่ได้เน้นภาพบนเวทีที่ต้องตัดสลับให้จังหวะของภาพการโซโล่เข้ากับเสียงดนตรี หากแต่เป็นเลือกใช้ชุดภาพที่ให้มุมมองแปลกใหม่ สอดรับกับอารมณ์ของเพลง การร้อยเรียงเหตุการณ์ต่อเนื่องกันซึ่งไม่ใช่แค่เรียงร้อยเพลงต่อกันเท่านั้น หากแต่แทรกด้วยเรื่องราวที่อยู่นอกเหนือไปจากคอนเสิร์ตเพื่อสื่ออารมณ์ของห้วงเวลา ณ ขณะนั้น เพื่ออธิบายและส่งสารไปสู่ความหมายบางอย่าง ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือในพาร์ทเพลง คิดฮอด ที่ผู้กำกับ ทรงยศ สุขมากอนันต์ นำภาพการพูดคุยระหว่าง ตูนบอดี้สแลม และศิริพร อำไพพงษ์ บนระเบียงด้านนอกฮอลล์ มาใส่ไว้เพื่อเน้นย้ำถึงสัญชาตญาณความเป็นศิลปินนักร้องของทั้งคู่
การบันทึกภาพผ่านกล้องถึง 12 ตัว จากมุมมองของช่างภาพ ที่มีตั้งแต่ผู้กำกับหนังมารับหน้าที่ถ่ายเอง ผู้กำกับหนังอิสระอย่าง ‘เต๋อ’ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จนถึงนักแสดงวัยรุ่น ‘เต้ย’ จรินพร จุนเกียรติ (ที่น่าจะแฝงตัวในกลุ่มผู้ชมคอยบันทึกอิริยาบทของแฟนเพลงบอดี้สแลมด้านล่างเวที) ที่สร้างมิติใหม่ๆ ให้กับตัวคอนเสิร์ต แม้ภาพหน้าตรงของนักร้องบนเวทีมีปรากฎให้เห็นไม่กี่ครั้ง แต่ขณะเดียวกันภาพโคลสอัพด้านข้างกลับให้อารมณ์มากกว่า (โดยเฉพาะช็อตที่ตูนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาระหว่างร้องเพลง “ทางกลับบ้าน" ) รวมถึงคนดูหลากหลายวัย ที่มีปฏิกิริยาตอบรับกับเสียงเพลงแตกต่างกันไป
ใช่ว่าดนตรีร็อกหนักๆ จะนำพาให้คนดูสนุกเมามันไปกับคอนเสิร์ตเสมอไป ดนตรีอะคูสติกใสๆ ฟังสบายๆ ก็สามารถปลุกเร้าความรู้สึกสนุกสนานเหล่านั้นได้ไม่ต่างกัน ‘ตูน’ ได้พิสูจน์ความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ของเขาในอีกระดับหนึ่ง นอกจากสามารถสะกดคนดูให้เคลิ้มคล้อยไปกับเสียงเพลงของบอดี้สแลมได้แล้ว ทัศนคติและความคิดอ่านบนรอยต่อระหว่างบทเพลงที่เขาเล่าให้ผู้ชมได้ฟัง ทำให้เรารู้สึกและเชื่อว่ามันอาจจะส่งอิทธิพลไปยังแฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ เกิดแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างได้
ตลอดการแสดงคอนเสิร์ต ‘ตูน’ เอ่ยกับผู้ชมอยู่บ่อยๆ ว่า เขาเป็นแค่เด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่รักในการร้องเพลง ร้องโดยไม่เคยสนใจว่าจะต้องเป็นศิลปินนักร้องในวันข้างหน้า เขาแค่มีความสุขและร้องมันอย่างตั้งใจทุกครั้งเท่านั้นเอง ‘ตูน’ บอกว่า ถ้าเราทำในสิ่งที่รักอย่างมุ่งมั่น วันหนึ่งมันจะพาเราไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน
.......................................
(หมายเหตุ 'บอดี้สแลม นั่งเล่น' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)