บันเทิง

'จาก September Blueถึง October Sky'

'จาก September Blueถึง October Sky'

08 ต.ค. 2556

'จาก September Blueถึง October Sky' : คอลัมน์ Eat play life โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร




          คืนหนึ่งของเดือนกันยายน ระหว่างขับรถมีเสียงเพลง September Blue ของ “คริส เรีย” ที่มีความหมายกับคนเดือนเก้า..และคงคล้ายๆ กัน เมื่อถึงเดือนที่สิบ เราบางคนอาจคิดถึงหนังเรื่อง October Sky ของผู้กำกับ “โจ จอห์นสตัน” ชื่อเพลงสวยเศร้าในเดือนกันยา ไม่น่าจะมีอะไรมาเกี่ยวกับชื่อหนังของเดือนตุลา แต่ความจริงก็คือทั้ง “เพลงและหนัง” ที่เอ่ยถึงนี้ มีรายละเอียดเกี่ยวกับการมีอยู่ในอวกาศ หนัง October Sky (จากหนังสือ Rocket Boys ของโฮเมอร์ เอช. ฮิคแคม) เล่าเรื่องในปี 1957 ที่รัสเซียส่งจรวดไปโคจรนอกโลก ท่ามกลางความสำเร็จที่น่าภูมิใจของประเทศประเทศหนึ่ง พวกเขาไม่รู้ว่าชาวโลกที่เหลือหวาดผวากับการมาถึงของ “สงครามเย็น”  ที่เล่นเกมทางจิตวิทยาจากการทดลองต่างๆ
    
          แต่ท่ามกลางความรู้สึกที่หวาดกลัวของชาวโลก ข่าวการโคจรของจรวด Sputink ในความรู้สึกของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ โฮเมอร์ มันคือบางอย่างที่ยิ่งใหญ่และเป็นแรงผลักดันให้เขาอยากสร้างพาหนะอวกาศ ถึงขนาดศึกษาข้อมูลของจรวดและทุ่มเททุกอย่าง การที่เด็กคนหนึ่งมีความฝันแบบนี้ เป็นเรื่องปกติที่เขาจะดู “ไม่ปกติ” ในสายตาของผู้ใหญ่ หัวใจของคนที่โตแล้วทางอายุหลายๆ ดวงก็เป็นแบบนี้ พอเห็นฟ้าไม่เป็นฟ้า มองดาวไม่เป็นดาว..ความหมายของอวกาศ ก็รู้สึกมาไม่ถึง
    
          ขณะที่ผู้ใหญ่บางคนใน October Sky มองเห็นว่าจินตนาการของเด็กคนหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ ขอบฟ้า ดวงดาว..ไร้สาระ ผู้ชายคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะกินอยู่และเป็นไปกับบทเพลง กลับเปรียบ “การมองเห็นดวงดาว” ได้อย่างน่าฟัง...
I’ll be alright..Though I may cry…
The tears that flow…They always dry…
It’s just that I would rather be…
With you now..And everytime I see that star
I will say a pray for you
Now and forever…September Blue
    
          ผมดูหนังบางช่วงของ October Sky แล้วก็เหมือนนั่งดื่มด่ำบทเพลง September Blue อันที่จริงยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับหนังอีกมาก และบทหนังก็เขียนออกมาได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะการให้น้ำหนักระหว่างดราม่ากับแอ็กชั่นของตัวละคร การเล่าเรื่องที่เชยไม่ใช่ข้อด้อยของหนัง แต่กลับตอกย้ำว่าเมื่อใครสักคนทำหนังอย่างจริงใจไม่แสร้ง…หนังจะเชยหรือทันสมัยล้วนน่าดู
    
          หนังที่จริงใจก็เหมือนสัมผัสที่คนฟังได้รับจากเพลง บางทีเพลง September Blue ไม่ได้เศร้าเพราะท่วงทำนองหรือคำว่า Blue แต่เราสัมผัสนั้นได้ จากสำเนียงและเนื้อเสียง และบางทีสาเหตุที่ไม่ชัดเจนในเพลงนี้ ก็เป็นปริศนาที่คนฟังไม่ควรหาความกระจ่าง “ความคลุมเครือ” ก็มีความหมายกับบางอย่างในโลกนี้ เหมือนความคลุมเครือของอวกาศที่รอให้มนุษย์ค้นหา...เหมือนความไม่ชัดเจนของเส้นทางดวงดาวจากการมองของโลก ผมเคยอยากรู้นั่นรู้นี่เวลามองสิ่งเหล่านี้ เหมือนฟังเพลง September Blue แล้วก็อยากรู้ว่า คนในเพลงถูกทำร้ายจากอะไร แต่บางที หนังบางเรื่อง-เพลงบางเพลง ก็ไม่ได้ต้องการให้เรากระจ่างกับมัน เหลือช่องว่างไว้ให้คิด มีทางให้ฝัน
    
          เดือนที่แล้ว…มีคนบางคนฟังเพลง September Blue เดือนนี้ คงมีคนบางคนดูหนังและอ่านหนังสือ October Sky แล้วเดือนหน้า ใครจะฟัง November Rain ของ guns & roses เพลงที่เหมือน “ลมหนาวและห่าฝน”

.......................................
(หมายเหตุ 'จาก September Blueถึง October Sky' : คอลัมน์ Eat play life โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)